ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 12-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เผาอ้อยทำ 'หิมะดำ' ตกโปรยปราย ซ้ำเติมภัยฝุ่นพิษ PM2.5 พื้นที่กลาง-อีสาน

หลายชุมชนในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยกำลังประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยที่ถูกลมพัดลอยไปตกทั่วบริเวณ ดูคล้ายกับหิมะสีดำปกคลุมไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในท้องที่ ซ้ำเติมความเสี่ยงต่อสุขอนามัยจากมลพิษทางอากาศ ภายหลังเกษตรกรไร่อ้อยจำนวนมากยังคงใช้วิธีการเผาไร่อ้อยในการเก็บเกี่ยว แม้ว่าภาครัฐได้ออกหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ดร.พิมพ์พร ภูครองเพชร อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการเผาอ้อยขนานใหญ่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันภายในทันฤดูปิดหีบอ้อยนี้ ทำให้หลายชุมชน รวมถึงชุมชนบ้านเกิดของเธอใน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากเศษขี้เถ้าสีดำจำนวนมหาศาลจากการเผาอ้อยขนานใหญ่ในพื้นที่ ที่ปลิวลงมาปกคลุมบ้านเรือน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก


เศษขี้เถ้าจากการเผาอ้อย //ขอบคุณภาพจาก: Bernetty Aek

"นับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลหีบอ้อย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ราวเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนมีนาคม ชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยเป็นอย่างมาก เพราะลมจะพัดเศษขี้เถ้าปกคลุมบ้านเรือน สร้างความสกปรกไปทั่ว ฝุ่นขี้เถ้าที่ฟุ้งกระจายตามลมยังปนเปื้อนอาหารและน้ำดื่มของชาวบ้าน จนทำให้ตอนนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านไม่สามารถใช้โอ่งน้ำฝนในการอุปโภคบริโภคได้อีกต่อไปเพราะฝุ่นขี้เถ้าปนเปื้อน" ดร.พิมพ์พร กล่าว

"ฝุ่นขี้เถ้ายิ่งซ้ำเติมปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันการเผาอ้อย ทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่เลวร้ายลง ทวีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนป่วยและคนชรา"

เธอให้ข้อมูลว่า ชุมชนที่เธออาศัยเพิ่งเริ่มได้รับผลกระทบจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยในช่วง 2 ? 3 ปีมานี้เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้พื้นที่บ้านเกิดของเธอยังมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอุตสาหกรรมไม่มากนัก และเกษตรกรไร่อ้อยในพื้นที่ใช้วิธีเก็บเกี่ยวอ้อยสดด้วยแรงงาน

"อย่างไรก็ดีจากนโยบายส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อยสดในพื้นที่เพาะปลูกที่ขยายตัวขึ้นมากได้อีกต่อไป อีกทั้งเกษตรกรยังต้องเร่งเก็บเกี่ยวแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันระยะเวลาปิดหีบอ้อย เป็นสาเหตุให้เกษตรกรไร่อ้อยส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังคงเลือกที่จะใช้วิธีการเผาอ้อยในการเก็บเกี่ยว แม้ว่าอ้อยไฟไหม้ หรืออ้อยที่เก็บเกี่ยวเกี่ยวด้วยวิธีการเผา จะขายได้ราคาต่ำกว่าอ้อยสดก็ตาม" ดร.พิมพ์พร อธิบาย


ควันไฟลอยหนาจากการเผาไร่อ้อยแห่งนี้ที่ จ.สระบุรี เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ไม่เพียงแต่ประชาชนใน อ.ห้วยเม็ก เท่านั้นที่กำลังเดือดร้อนจากปรากฎการณ์ 'หิมะสีดำ' ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคกลางและภาคอีสาน ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ก็กำลังประสบกับปัญหาจากขี้เถ้าจากการเผาอ้อยเช่นกัน เพราะเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการเผาอ้อยในการเก็บเกี่ยว

"อ.ด่านช้าง สุพรรณบุรี ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เผาอ้อยหนักมาก เผามาตลอดเป็นเดือนแล้ว ชาวบ้าน เด็กนักเรียนเดือดร้อนหนัก การเผาอ้อยนอกจากทำให้เกิดอากาศพิษ ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ไฟจากเผาอ้อยยังไหม้บ้านของชาวบ้านด้วย ขณะที่โรงเรียน หิมะดำตกเกลื่อน" ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

เขาชี้ว่า การส่งเสริมเพาะปลูกอ้อยขนานใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างเป็นระบบ เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพราะแม้ว่ารัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเคยบอกว่าจะลดการเผาอ้อยด้วยการไม่ซื้ออ้อยที่เผา แต่ความจริงคือการเผาอ้อยยังคงมีต่อไปไม่หยุด

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกนโยบายตั้งเป้าเลิกการเผาอ้อยภายในปี พ.ศ.2565 เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ได้แก่

1. กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทยอยลดสัดส่วนโควต้ารับซื้ออ้อยไฟไหม้ลงทีละน้อย จนกระทั่งลดโควต้าการรับซื้ออ้อยไฟไหม้จนหมดภายในปี พ.ศ.2565
2. ขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยเป็นจำนวนรวม 6,000 ล้านบาท
3. ขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย เพื่อลดละเลิกการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยการเผา

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และยังไม่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

ดร.ศิวัช ให้เหตุผลว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่เรากำลังประสบอยู่นี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีสาเหตุหลักมาจากการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จนละเลยการปกป้องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง ด้วยเหตุนี้หลายๆนโยบายของรัฐบาลจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์ของประเทศอีกครั้ง

"นโยบายการส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในขณะนี้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตรเสียใหม่ โดยส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชในที่ที่เหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รัฐบาลควรที่จะออกนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตให้มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น" ดร.ศิวัช เสนอ

อนึ่ง จากข้อมูลในรายงานของ ThaiNGO เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ออกแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2557คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 116/2557 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) อันมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ และโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จาก 20 โรงงาน เป็น 30 โรงงาน หรือมากกว่านั้น ภายในปี พ.ศ.2569 จนทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในเขตเหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่ 48 จังหวัดทั่วประเทศ (ภาคเหนือ 11 จังหวัด, ภาคอีสาน 20 จังหวัด, ภาคกลาง 11 จังหวัด, และภาคตะวันออก 6 จังหวัด) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอุตสาหกรรมทั้งหมด 3.78 ล้านไร่ ในปีพ.ศ.2556 ขยายเป็น 4.4 ล้านไร่ ในปี พ.ศ.2558


https://greennews.agency/?p=20064

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม