ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 23-03-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


บทบรรณาธิการ: ปัญหาน้ำในวันที่โลกเผชิญวิกฤต COVID-19


ในเวลาที่ทั้งไทยและโลกกำลังจับตาไปยังสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กำลังลุกลาม คุกคามชีวิตและสุขภาพของประชากรทั่วโลก ปัญหาหนึ่งที่นับเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งไทยและโลก ที่มีความร้ายแรงและสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนทั้งโลกไม่แพ้กัน นั่นก็คือปัญหาเรื่องน้ำ

แน่นอนเมื่อเรากำลังเผชิญภัยที่เราไม่คาดคิดมาก่อนอย่าง COVID-19 ก็ไม่แปลกนักที่สังคมจะให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากกว่า อย่างไรก็ดี เนื่องในวันน้ำโลก 22 มีนาคม นี้ เป็นโอกาสอันดีที่ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม จะขอมาให้ข้อมูลถึงปัญหาเรื่องน้ำ และความเร่งด่วนที่เราจะต้องหันมาสนใจปัญหานี้เช่นกัน เพราะคนเราจะมีสุขภาพดี มีชีวิตยืนยาวไม่ได้เลย หากปราศจากการเข้าถึงน้ำสะอาด

ปีนี้นับเป็นปีที่คนไทยเรากำลังเผชิญวิกฤตแล้งหนักสุดในรอบหลายสิบปี จากข้อมูลของกรมชลประทาน รายงานว่า ขณะนี้ 22 มีนาคม ได้มีการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (4,000 ล้าน ลบ.ม.) ไปแล้ว 3,589 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผน ซึ่งน้ำที่เหลือจะต้องเก็บไว้ใช้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน หรืออีก 40 วันข้างหน้า

เมื่อคำนึงถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก็พบว่าเรามีปริมาณน้ำเหลือน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้แก่

- เขื่อนภูมิพล ปีนี้เหลือน้ำอยู่ 4,872 ล้าน ลบ.ม. (36% ของความจุอ่างฯ) เมื่อเทียบกับปีก่อน มีน้ำอยู่ 7,270 ล้าน ลบ.ม. (54% ของความจุอ่างฯ)

- เขื่อนสิริกิติ์ ปีนี้เหลือน้ำอยู่ 4,089 ล้าน ลบ.ม. (43% ของความจุอ่างฯ) เมื่อเทียบกับปีก่อน มีน้ำอยู่ 5,548 ล้าน ลบ.ม. (58% ของความจุอ่างฯ)

- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปีนี้เหลือน้ำอยู่ 341 ล้าน ลบ.ม. (36% ของความจุอ่างฯ) เมื่อเทียบกับปีก่อน มีน้ำอยู่ 405 ล้าน ลบ.ม. (43% ของความจุอ่างฯ)

- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปีนี้เหลือน้ำอยู่ 169 ล้าน ลบ.ม. (18% ของความจุอ่างฯ) เมื่อเทียบกับปีก่อน มีน้ำอยู่ 285 ล้าน ลบ.ม. (30% ของความจุอ่างฯ)

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาค่อนข้างที่จะน่ากังวล แต่ก็ไม่เท่ากับหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย ที่ประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งสาหัสกว่าหลายเท่า เช่นที่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนถึงระดับติดลบ โดยในขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ของเขื่อนอยู่ที่ -195 ล้านลบ.ม. (-8% ของความจุอ่างฯ) ซึ่งหมายถึงคนขอนแก่นกำลังต้องใช้น้ำจากก้นอ่าง (dead storage) มาใช้ในการอุปโภคบริโภคกันแล้ว

จนถึงวันนี้ ปัญหาน้ำแล้งได้แผ่ขยายส่งผลกระทบต่อพื้นที่รวมทั้งสิ้น 23 จังหวัด (เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี) 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน จากข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำในการทำเกษตร ผู้คนในบางพื้นที่ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้

นี่ยังไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดที่เราพบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะในบางพื้นที่ที่มีน้ำก็ยังประสบปัญหาเรื่องน้ำเช่นกัน พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่ที่เห็นผลกระทบจากสภาวะภัยแล้งชัดเจน แม้ว่าเราจะยังคงเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเต็มฝั่ง แต่ถ้าเราลองตักน้ำขึ้นมาชิมจะพบว่าน้ำที่เราเห็นมันเป็นน้ำกร่อยเค็ม ไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ค่าความเค็มของน้ำในน้ำประปาระยะนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับโซเดียมเข้าร่างกายมากกว่าปกติ

อย่างไรก็ดี คงไม่มีใครกล้าตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ขึ้นมาชิมกันจริงๆ เพราะนอกจากน้ำเจ้าพระยาจะเค็มเพราะไม่มีน้ำจืดมากพอไปดันน้ำทะเลแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยา ? แม่น้ำท่าจีนตอนล่างยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำย่ำแย่ที่สุดจากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ เพราะน้ำเสียและขยะที่เราปล่อยลงแม่น้ำจากทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม สร้างความเสื่อมโทรมให้กับระบบนิเวศแม่น้ำ ซึ่งอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพของเราผ่านปลาที่เรากิน อาหารทะเลที่เราชื่นชอบ

ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นปัญหาเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกจากเรื่องสุขภาพของเรา

เนื่องในโอกาสวันน้ำโลกประจำปี พ.ศ.2563 นี้ ซึ่งตรงกับวาระที่ไวรัส COVID-19 ระบาดทั่วโลก และสังคมกำลังให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงสุขภาพจากการติดโรคระบาด สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมเห็นด้วย และอยากจะให้กำลังใจทุกๆฝ่ายในการผนึกกำลังกันต่อต้านการระบาดของไวรัส COVID-19

อย่างไรก็ดีเราก็อยากย้ำเตือนทุกคนในสังคมว่า COVID-19 ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เรากำลังเผชิญ เรายังไม่ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง ที่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตแอละสุขภาพของประชาชนส่วนมากเช่นกัน ดังนั้นหน่วยงานรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องจึงยังควรทำหน้าที่ของตนอย่างรอบคอบในการจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อประชาชน โดยคำนึงถึงความต้องการ และสิทธิของประชาฃนที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก และทุกๆคนยังคงต้องตระหนักถึงปัญหาเรื่องน้ำ ใช้น้ำทุกหยดอย่างมีค่า ประหนึ่งที่เรากำลังใช้หน้ากากอนามัย

เราเชื่อว่าด้วยการดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบในทุกๆด้าน และการประสานความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน เราจะสามารถผ่านทั้งวิกฤต COVID-19 และปัญหาภัยแล้งได้อย่างราบรื่น และประเทศไทยจะชนะอย่างแท้จริง


https://greennews.agency/?p=20472

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม