ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 01-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


โลกร้อนทำอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้น มนุษย์จะเดือดร้อนหนัก



นักวิทย์เผยโลกร้อนจะทำให้คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุรุนแรงขึ้น และเรามาถึงจุดที่ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาโลกของเราเผชิญกับภัยธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนในแคนาดา ไฟไหม้ในแคลิฟอร์เนีย น้ำท่วมในเยอรมนี น้ำท่วมในจีน ภัยแล้งในภาคกลางของบราซิล หรือล่าสุดคือเฮอร์ริเคนไอดาที่ถล่มตอนใต้ของสหรัฐ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก

เฮอร์ริเคนไอดาขึ้นฝั่งที่รัฐลุยเซียนาของสหรัฐด้วยความเร็วลม 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 16 ปีที่เฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่มสหรัฐ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทำให้พายุเฮอร์ริเคน หรือไซโคลน หรือไต้ฝุ่นที่เรียกในพื้นที่อื่น มีความรุนแรงขึ้น ทำให้ฝนตกมากขึ้น เคลื่อนที่ช้าลงหลังจากพัดขึ้นฝั่งแล้ว และยังก่อให้เกิด storm surges หรือคลืนพายุซัดฝั่ง รุนแรงขึ้น

เฮอร์ริเคนไอดาซึ่งสะสมความรุนแรงจากน้ำในอ่าวเม็กซิโกที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติคือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ และนักวิทยาศาสตร์ยังบอกว่าพายุแบบนี้จะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากโลกร้อนขึ้น

พายุเฮอร์ริเคน ไซโคลน หรือไต้ฝุ่นจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้น ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่ามหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกที่ถูกก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมากักไว้ไม่ให้สะท้อนกลับออกไปนอกชั้นบรรยากาศของโลกไว้ถึง 90% และงานวิจัยล่าสุดยังพบว่าโลกเรากักความร้อนไว้มากกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วราว 2 เท่า


และเมื่อโลกร้อนขึ้น พายุก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ รายงานว่าด้วยสภาพอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า พายุไซโคลนระดับ 3-5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดเกิดถี่ขึ้นกว่าช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลให้เกิดพายุไซโคลนรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงขึ้นอีก 7%

ก่อนจะพัดขึ้นฝั่งเฮอร์ริเคนไอดามีความเร็วลมสูงสุดเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนน่าตกใจคือ ภายในเวลา 24 ชั่วโมงความเร็วลมก็เพิ่มขึ้นถึง 104.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์นิยามคำว่า "การทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็ว" ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ไว้ที่การเพิ่มขึ้น 56.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับว่าความเร็วลมสูงสุดของเฮอร์ริเคนไอดาสูงกว่าที่กำหนดไว้เกือบ 2 เท่า

การที่พายุจะทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วจะเกิดได้นั้น อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจะต้องเกิดขึ้นในระดับลึกกว่าพื้นผิวหลายร้อยฟุต เพื่อให้เฮอร์ริเคนสะสมพลังได้มากขึ้น สิ่งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้พายุมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น


พายุก่อฝนมากขึ้น เคลื่อนที่ช้าลง

พายุยังทำให้ฝนตกมากขึ้นด้วย โดยทุกๆ 1 องศาที่โลกร้อนขึ้นชั้นบรรยากาศจะกักเก็บไอน้ำที่จะตกลงมาเป็นฝนเพิ่มขึ้น 7% และหลังจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีทำให้น้ำท่วมเมืองฮุสตัน รัฐเทกซัสของสหรัฐเมื่อปี 2017 นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากน้ำมือมนุษย์ทำให้ฝนจากพายุเพิ่มขึ้น 15%

ภาพถ่ายดาวเทียมยังเผยให้เห็นว่า หลังจากพายุพัดขึ้นฝั่งแล้วจะเคลื่อนตัวช้าลงและลูกใหญ่ขึ้น ซึ่งหมายความว่าพายุนี้จะครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างขึ้นและปล่อยน้ำฝนลงมามากขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังเคลื่อนตัว

สอดคล้องกับผลการศึกษาเมื่อปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ที่พบว่า พายุทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนตัวอยู่บนฝั่งมากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน และเนื่องจากเฮอร์ริเคนสะสมพลังงานจากน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น เมื่อขึ้นฝั่งก็มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลง ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพายุแผลงฤทธิ์นานขึ้นหลังจากพัดขึ้นฝั่ง

งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่า อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้พายุสลายตัวช้าลงด้วยการเพิ่มปริมาณความชื้นที่พายุเฮอร์ริเคนสะสมไว้


ฝนตกครั้งแรกที่กรีนแลนด์

นอกจากนี้ วันที่ 14-16 ส.ค. เกิดฝนตกบนยอดพืดน้ำแข็ง (ice cap) ที่สูงที่สุดของกรีนแลนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 71 ปี และมีปริมาณฝนมากที่สุดถึง 7,000 ตัน ช่วง 3 วันที่ฝนตกตรงกับช่วงที่อุณหภูมิของกรีนแลนด์สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยถึง 18 องศาเซลเซียส ส่งผลให้น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายกินพื้นที่ใหญ่กว่าอังกฤษ 4 เท่า หรือ 7 เท่าของค่าเฉลี่ยรายวันของปีนี้

ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา น้ำแข็งของกรีนแลนด์ยังเกิดการละลายเป็นวงกว้างคือ สูญเสียน้ำแข็งพื้นผิวไปถึง 8,500 ตันภายในวันเดียว (เพียงพอที่จะทำให้ฟลอริดาน้ำท่วมสูง 5 เซนติเมตร) ส่งผลให้ปี 2021 เป็นหนึ่งใน 4 ปีในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาที่นำแข็งละลายเป็นวงกว้างต่อจากปี 2019, 2012 และ 1995

น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเมื่อเดือน ก.ค.และ ส.ค. เกิดจากสาเหตุเดียวกันคือ อากาศอบอุ่นถูกผลักดันขึ้นมาลอยอยู่เหนือกรีนแลนด์และค้างอยู่อย่างนั้น แม้กระแสลมนี้จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่ามันมีความรุนแรงขึ้น

หากมีเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้นน้ำแข็งกรีนแลนด์ก็ละลายอยู่แล้ว แต่ฝนที่ตกลงมายิ่งเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ให้เกิดเร็วขึ้นอีก คือ เมื่อฝนตก ความอุ่นของฝนจะทำให้หิมะละลาย ทำให้น้ำแข็งที่อยู่ด้านล่างโผล่ขึ้นมาดูดซับความร้อนมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของหิมะสูงขึ้น นำมาสู่การละลายเพิ่มขึ้น และวนเป็นลูกโซ่อยู่เช่นนี้

ที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งบางลง ก็จะมีน้ำแข็งแตกออกมาแล้วไหลลงทะเลเพิ่มขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้ธารน้ำแข็งไหลลงทะเลเร็วขึ้น และยังส่งผลให้พื้นผิวน้ำแข็งบางลงจนสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้มากขึ้น สุดท้ายน้ำแข็งเหล่านี้จะละลายเพิ่มขึ้นอีก

น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวมนุษย์ใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายเร็วที่สุดในช่วง 12,000 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2019 อัตราการละลายของน้ำแข็งอยู่ที่นาทีละ 1 ล้านตัน

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 20 เซนติเมตร และภายในปี 2100 อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 28-100 เซนติเมตร หรืออาจจะ 200 เซนติเมตร

และหากน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายทั้งหมด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี น้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 6 เมตร แต่ขณะนี้น้ำแข็งกรีนแลนด์ที่หายไปนับล้านล้านตันตั้งแต่ปี 1994 ก็ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นและกำลังคุกคามเมืองตามชายฝั่งทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

หลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย Deltares ของเนเธอร์แลนด์ พบว่า ประเทศในแถบพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพื้นดินมีแนวโน้มที่จะจมเนื่องจากการทรุดตัว อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทีมวิจัยประเมินว่า ขณะนี้ประชากร 157 ล้านคนในเขตร้อนของเอเชียอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงต่ำกว่า 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระดับที่มีการทำนายว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และตัวเลขนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้

ภายใต้สมมติฐานว่าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2100 ชาวไทย 23 ล้านคน, ชาวเวียดนาม 38 ล้านคน และชาวอินโดนีเซีย 28 ล้านคนจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะท่วมชายฝั่งบ่อยขึ้น หรือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขขณะนี้ถึง 21%

ผลกระทบอาจร้ายแรงในเมืองใหญ่ๆ ชุมชนชายฝั่ง และพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ขนาดใหญ่อาจไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกหรือสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปเลย

ขณะที่รายงานของ Greenpeace ซึ่งใช้ข้อมูลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Climate Central เพื่อคำนวณความเสียหายทางเศรษฐกิจของ 7 เมืองใหญ่ที่สุดของเอเชียอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2030 ประเมินว่า อาจเกิดความเสียหาย (เฉพาะในชุมชนเมือง) ราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐในกรุงเทพฯ จาการ์ตา มะนิลา ไทเป โซล โตเกียว และฮ่องกง

ข่าวร้ายก็คือ IPCC บอกว่า ผลกระทบบางอย่างจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว อย่างเช่นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก แม้ว่ามนุษย์จะพยายามควบคุมคาร์บอนไปนับร้อยหรือพันปีก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้


https://www.posttoday.com/world/661962

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม