ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 12-09-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ต่อโควตา 5 ปี นำเข้า "เศษพลาสติก" ดันไทยสู่ดินแดน "ถังขยะโลก"??



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทำไม "รัฐบาลไทย" ขยายเวลาการนำเข้า "เศษพลาสติก" อีก 5 ปี ทั้งๆ ที่การนำเข้าขยะควรสิ้นสุดตั้งแต่ปี 63 ตามมติฯ เดิม ปี 61 ซึ่งประกาศชัด "ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกโดยเด็ดขาด ภายใน 2 ปี" ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หรือ "รัฐบาลลุง" เห็นไทยเป็น "ถังขยะโลก" จึงเปิดช่องผ่อนผันให้กลุ่มทุนต่อโควตานำเข้าเศษพลาสติกไปอีก

จริงเท็จเพียงใดที่ประเทศไทยกำลังกลายเป็นถังขยะโลก คงต้องกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ในอดีต ย้อนกลับช่วงปี 2555 - 2559 ประเทศไทย มีการนำเข้าเศษพลาสติก เฉลี่ยราว 5 หมื่นตันต่อปี ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลจีนห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลเศษพลาสติกในจีน ย้ายฐานผลิตมายัง กลุ่มประเทศอาเซียนปักหมุดประเทศไทย ปี 2561 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณนำเข้าเศษพลาสติกถูกแฝงด้วยขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 5 แสนกว่าตัน ทั้งที่มีการตรวจสอบจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าลักษณะการสำแดงเท็จหลายราย

การทะลักของขยะพลาสติกเข้าประเทศไทยในครั้งนั้น ทำให้ภาครัฐมีการปราบปรามการนำเข้าขยะพลาสติกอย่างเข้มงวด และในปี 2561 รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี หรือปี 2563

สาระสำคัญระบุให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี ) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ ปีที่ 1 กำหนดโควตานำเข้าไม่เกิน 70,000 ตัน (PET 50,000 ตัน และอื่น ๆ 20,000 ตัน) โดยมีเงื่อนไขให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ปีที่ 2 นำเข้าไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และปีที่ 3 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ครบกำหนด 2 ปี ตั้งแต่ช่วง เดือน ก.ย. 2563 โดยองค์กรภาคประชาสังคมมีการเคลื่อนไหวทวงถามคำมั่นของคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯ ที่ประกาศให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกเด็ดขาดตามมติเดิม และไม่คัดค้านต่อโควตาการนำเข้าเศษพลาสติก

ขณะเดียวที่ แรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมกลุ่มโรงงานเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีการเปิดการนำเข้า เศษพลาสติก โดยอ้างว่าขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ ระบุความต้องการนำเข้าเศษพลาสติกถึง 685,190 ตันต่อปี ทำให้คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ประกาศมาตรการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกโดยเด็ดขาดตามมติเดิมปี 2561 โดยมีการประชุมเมื่อ วันที่ 25 ม.ค.2564 กำหนดแผนควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติก โดยผ่อนผันห้ามนำเข้าในอีก 5 ปี หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ซึ่งระหว่างนี้ให้นำเข้าได้แต่ต้องลดสัดส่วนลงทุกปี ปี 2564 นี้ ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 250,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวย้อนแย้งนโยบายเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิดในปี 2562 ลดใช้พลาสติก 7 ชนิด ทั้งหลอดดูด กล่องโฟม ในปี 2565 แต่กลับปล่อยให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกมารีไซเคิลในประเทศ

และประเด็นที่ต้องจับตา แม้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อ้างว่าไม่ได้ให้ใบอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกแล้ว แต่พบการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่องประมาณ 100,000 ตันเศษต่อปี แต่กลับพบการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการนำเข้าของโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี (Free zone) ซึ่งมีกฎหมายควบคุมแยกต่างหาก

กลายเป็นคำถามว่า เขตปลอดอากรจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานการรีไซเคิลรองรับการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศใช่หรือไม่ เพราะมีกฎหมายควบคุมแยกต่างหากชัดเจน แสดงให้เห็นถึงช่องว่างทางกฎหมายสนองตอบกลุ่มโรงงานที่เรียกร้องขอให้อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกได้อย่างต่อเนื่อง

และจากการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดอข่ายภาคประชาสังคม ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ถึงปัจจุบัน พบการนำเข้าเศษพลาสติกแล้ว 7 หมื่นกว่าตันจาก 46 ประเทศ ในประเทศส่งเข้ามามากสุด คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน

อย่างไรก็ตาม หากยังคงเปิดให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกจะส่งผลต่อรับซื้อเศษพลาสติกในประเทศ และกระทบต่อรายได้ของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า รวมถึงสวนทางกับนโยบายการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้นโยบาย BCG (Bio- economy, Circular Economy, Green Economy) ของประเทศโดยตรง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชี้แจงว่ามติเดิมที่มีการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นเศษพลาสติกชนิด PET แต่ในการประชุมเมื่อมกราคม 2564 ได้พิจารณาครอบคลุมเศษพลาสติกทุกชนิด ซึ่งพบว่า มีเศษพลาสติกบางชนิดที่ไม่เพียงพอในประเทศ จึงเป็นที่มาในการกำหนดให้นำเข้าเศษพลาสติก แต่ให้นำเข้าเพียง 50% ของกำลังการผลิต หรือไม่เกิน 250,000 ตัน ในปี 2564 และจะลดลงปีละ 20% โดยในปี 2565 นำเข้าไม่เกิน 200,00 ตัน ปี 2566 ไม่เกิน 150,00 ตัน ปี 2567 ไม่เกิน 100,000 ตันปี 2568 ไม่เกิน 50,000 ตัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก โดยให้มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศ 100%

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นถังขยะโลกในการรองรับเศษซากขยะจากประเทศอื่นกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเป็นเงื่อนไขในการออกประกาศอนุญาตผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าทุกราย สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าเศษพลาสติกประมาณ 70,000 ตัน ในระยะเวลาอันใกล้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนักนำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศออกแถลงการณ์ในนามองค์กรภาคประชาชน จำนวน 107 องค์กร ทวงถามถึงมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติก จี้ให้รัฐทบทวนและยกเลิกการต่อเวลานำเข้าขยะพลาสติกในอีก 5 ปี ดังนี้

1. ยกเลิกมติ 25 ม.ค. 2564 และรีบจัดเวทีผู้ซื้อผู้ขายในประเทศ ขอให้ทบทวนและยกเลิกมติ "มาตรการกำกับการนำเข้าพลาสติก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564" ประกาศนโยบายที่จะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในสิ้นปี 2564 โดยเร็ว พร้อมกันนี้ขอให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเวทีการพบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเศษพลาสติก

2. แก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรี ให้มีการแก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรีและกฎหมายเขตปลอดอากรโดยห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ให้มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน

3.ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยให้กรมการค้าต่างประเทศออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2565

4.ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า โดยให้กรมศุลกากรต้องทำพิกัดย่อยของพิกัด 39.15 สำหรับใช้กำกับการตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกและพลาสติกอื่นๆ เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ และเพิ่มบทลงโทษผู้นำเข้าและผู้แทน (ชิปปิ้ง) ที่สำแดงเท็จ และเมื่อพ้นช่วงผ่อนผันแล้วต้องห้ามนำเข้าเศษพลาสติกพิกัดศุลกากร39.15 ทั้งหมด

5.นำเข้าเฉพาะ "เม็ดพลาสติก" สำเร็จรูป ในระหว่างที่ยังเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ ให้นำเข้าได้เฉพาะที่เป็น "เม็ดพลาสติก" สำเร็จรูป พร้อมนำไปผลิตเป็นชิ้นงานเท่านั้น

6.ห้ามให้ไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุ กระทรวงการคลังต้องไม่มีนโยบายรับการลงทุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นการแปรรูปเศษวัสดุจากต่างประเทศแล้วส่งออก และ

7.ให้ประชาชนร่วมทำงานและตรวจสอบ ขอให้คณะอนุกรรมการฯ เพิ่มผู้แทนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าและองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการหรือคณะทำงานด้วย เพื่อสร้างความสมดุลของนโยบาย รวมทั้งให้ผู้แทนภาคประชาสังคมร่วมในการติดตามตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงนัยสำคัญการประกาศจัดตั้งเขตปลอดอากร เปิดช่องทางออกให้สามารถนำเศษพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามารีไซเคิลแบบไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขเวลาอีกต่อไป เสมือนเป็นการทลายกำแพงการห้ามนำเข้าทิ้งโดยสิ้นเชิง แม้ในปี 2569 ผ่านไปแล้วก็ยังสามารถนำเข้ามาในเขตปลอดอากรได้ดังเดิม ซ้ำเติมปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแฝงเร้นด้วยอันตราย

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวคัดค้านของภาคประชาสังคม เนื่องจากโรงงานรีไซเคิลเศษพลาสติกเป็นกิจการที่มีมลพิษสูงมาก การคัดแยกมีสารก่อมะเร็ง และเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 ประเด็นสำคัญคือการหยุดยั้งธุรกิจค้าของเสียต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ และยิ่งประเทศพัฒนาควรจัดการของเสียทุกชนิดของตัวเอง ไม่ใช่รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการผลักขยะและภาระการจัดการให้ประเทศอื่น

พร้อมเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษตรวจสอบนำเข้าขยะ เนื่องจากหน่วยงานตำรวจสากลเคยทำรายงานออกมาเมื่อเดือน ส.ค. 2563 ว่า การนำเข้าขยะข้ามแดนเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมและอาชญกรรมข้ามชาติ และหากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในปี 2570 ต้องรีไซเคิลพลาสติกในไทย 100 % ต้องมีหน่วยงานเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อติดตามจับกุม สอบสวนดำเนินคดีผู้นำเข้าพลาสติกที่ผิดสำแดง ผิดกฎหมาย หรือบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเศษพลาสติกกระทบกลไกราคาระบบการรับซื้อขายขยะขาดทุน เป็นการทำลายอาชีพซาเล้ง ทำร้ายคนจนที่มีอาชีพเก็บขยะประทังชีวิตโดยตรง

นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวแสดงจุดยืน 3 ข้อ 1.คัดค้านการอนุมัติการนำเข้าเศษพลาสติกที่กำลังพิจารณาในขณะนี้ 2. สมาคมขอคัดค้านอนุญาตให้การนำเข้าเศษพลาสติกในเขตฟรีโซน ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้า โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายคนละฉบับ และ 3. การนำเข้าตามพิกัดศุลกากร 3915 ซึ่งเป็นพิกัดการรวมทุกชนิดของขยะพลาสติกเป็นการเปิดช่องให้นำเข้ามาได้

"3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปี 61 - 63 จากข้อมูลกรมศุลกากร พบนำเข้าขยะกว่า 1 ล้านตัน โดยรีไซเคิลเสร็จและส่งออกไปต่างประเทศจำนวน 4 แสนตัน และเหลือคงค้าง 6 แสนตัน และอ้างว่าเป็นขยะที่สะอาดและราคาถูก ซึ่งขยะที่คงค้างกว่า 6 แสนตันควรนำไปใช้ให้หมดก่อนจึงจะนำเข้าอีกครั้ง"

สำหรับความกังวลของผู้ประกอบการรีไซเคิลบางราย หากห้ามนำเข้าแล้วขยะในประเทศจะไม่เพียงพอ ในมุมของ **ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด ระบุว่าอ้างอิงข้อมูลสนับสนุนว่าขณะนี้ไทยผลิตขวดน้ำพลาสติกประมาณ 386,000 ตันต่อปี โรงงานรีไซเคิลรับซื้อไปได้เพียง 260,000 ตันต่อปี ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับซื้อทั้งหมด ดังนั้นเพียงพอต่อกระบวนการรีไซเคิลอย่างแน่นอน

ท้ายที่สุดยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด สำหรับทิศทางประเทศไทยกับการจัดการขยะพลาสติกจะมีบทสรุปอย่างไร


https://mgronline.com/daily/detail/9640000089991

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม