ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 04-02-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


โลกร้อนขึ้น โรคร้ายขึ้น? ................... โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

อุณหภูมิของเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศอันแปรปรวนและวิกฤตต่าง ๆ ที่ตามมา รวมถึงโรคร้ายต่าง ๆ ที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลมากที่สุด ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ และโรคระบาดซ้ำที่เคยหายไปแล้วแต่กลับมาให้ได้เห็นใหม่ รวมถึงการเพิ่มจำนวนง่ายขึ้นของพาหะนำโรค


เนื้อหาโดยสรุป

- ไวรัสและแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของมนุษย์มาเนิ่นนานหากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อย ๆ ละลายจนกระทั่งปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียในยุคหลายพันปีก่อน นั่นหมายถึงมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีที่เคยสงบนิ่งใต้น้ำแข็ง

- สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย

- ในอดีตโรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่ลองจินตนาการว่าหากโรคนี้เกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้น จะเป็นอย่างไร
โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน


เครื่องบินกำลัง Take off การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปมากทีเดียว ? Marten van Dijl / Greenpeace

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโรคอุบัติใหม่จากไวรัสที่เห็นชัดที่สุดในขณะนี้ เราคงต้องรออีกสักนิดให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาถึงไวรัสนี้มากพอจึงจะชี้เฉพาะถึงที่มาและสาเหตุ แต่ประเด็นหลัก ๆ ที่น่าคิดคือ ภูมิคุ้มกัน อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการ(กลับ)มาของเชื้อโรค

ไวรัสและแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของมนุษย์มาเนิ่นนาน สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปบนโลกของเรา ตั้งแต่ในก้อนหินเล็ก ๆ หนึ่งก้อน ยุงหนึ่งตัว ไปจนถึงลำไส้ของเรา ซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลอีกหลาย ๆ จักรวาลที่มนุษย์ยังอาจไม่ทราบทั้งหมด ก้อนหินที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งและเกิดการทับถมของดินมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละปี และถูกแช่แข็งไว้ผ่านเวลาหลายพันปี มนุษย์เพิ่งค้นพบยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียราว 70 ปีเท่านั้น และวัคซีนป้องกันไวรัสจะผลิตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เผชิญกับโรคนั้นเสียก่อน แต่หากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อย ๆ ละลายจนกระทั่งปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียที่จำศีลหลับไหลตั้งแต่ในยุคหลายพันปีก่อน ก่อนที่มนุษย์จะมีข้อมูลสิ่งเหล่านี้ล่ะ? ซึ่งนั่นหมายถึงมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีที่เคยสงบนิ่งใต้น้ำแข็ง คำถามคือเราจะรับมือได้อย่างไร


น้ำแข็งในธารน้ำแข็งอัลไพน์หายไปกว่าร้อยละ 50 ในระยะเวลาเพียงแค่ 100 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ? Mitja Kobal / Greenpeace

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องสมมติที่ไกลความจริง เมื่อสิงหาคมปี 2559 ที่ภูมิภาคอาร์กติก เด็กชายวัย 12 ได้เสียชีวิต เพราะเชื้อแอนแทร็กซ์ และมีคนในพื้นที่อีก 20 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะโรคเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าสาเหตุเกิดจากคลื่นความร้อนในปีนั้นทำให้ชั้นดินเยือกแข็งซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสอยู่ตลอดปีละลายตัว จนเผยซากกวางเรนเดียร์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์เมื่อ 75 ปีใต้ดินขึ้นมาสัมผัสกับน้ำและอากาศ เชื้อบางชนิด เช่นเชื้อแอนแทร็กซ์ สามารถสร้างสปอร์ห่อหุ้มตัวเพื่อดำรงชีวิตรอดในน้ำแข็งได้ หรือไวรัสบางชนิดเองก็มีดีเอ็นเอที่แข็งแกร่งกว่าไวรัสทั่วไปในปัจจุบัน

การวิจัยชิ้นหนึ่งของนาซ่าเมื่อปี 2548 เผยว่าได้ทดลองนำน้ำจากทะเลสาบของอลาสก้าที่ถูกแช่แข็งมากว่า 32,000 ปี ตั้งแต่ยุคที่มีแมมมอธยังคงอยู่ และน้ำมาละลายน้ำแข็ง ก็พบว่าแบคทีเรียที่อยู่ในนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง สองปีถัดมาจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ลองละลายน้ำแข็งอายุ 8 ล้านปีอีกครั้งจากแอนตาร์กติกา แบคทีเรียก็กลับมามีชีวิตได้อีกเช่นกัน แต่แบคทีเรียไม่ใช่ผู้ร้ายทุกชนิดเสมอไป ตามปกติแล้วมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและร่างกายเรา เพียงแค่ยีนดื้อยาสามารถส่งต่อถึงกันได้ ไวรัสเองก็สามารถอยู่รอดภายใต้น้ำแข็งได้เช่นกัน จากที่นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองละลายน้ำแข็งอายุ 30,000 ปี และพบว่าไวรัสฟื้นกลับมาใหม่ได้ (แต่ไวรัสชนิดนั้นเป็นอันตรายต่ออมีบาเพียงเท่านั้น)

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย ภาวะโลกร้อนไม่ได้เพียงแค่ทำให้น้ำแข็งละลายเท่านั้น แต่การเดินทางที่เข้าถึงพื้นที่หลากหลายง่ายขึ้น รวมถึงการที่พื้นที่อย่างไซบีเรียเข้าถึงได้จากการรุกล้ำของอุตสาหกรรมประมงและขุดเจาะพลังงาน ก็เป็นอีกหนทางที่เชื้อโรคสามารถเดินทางออกจากไซบีเรียไปยังที่ห่างไกลอื่นได้ และเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคจากใต้ดินปนเปื้อนออกสู่ดินชั้นบน แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหารได้

ในอดีตโรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น เช่น กาฬโรคที่เกิดขึ้นในยุโรปและจีนเมื่อช่วงยุคพศ.1890 การเดินทางหลักที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้คือทางเรือ แม้จะคร่าชีวิตคนจำนวนมหาศาลในยุโรป แต่ลองจินตนาการว่าหากโรคนี้เกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้น จะเป็นอย่างไร

พรมแดนประเทศมิได้เลือนลางเพราะการเดินทางที่สะดวกเท่านั้น แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เดิมจากที่เรารู้ว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเสี่ยงติดโรคใดบ้างจากสัตว์ที่เป็นพาหะในพื้นที่นั้น ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

เราคงทราบกัน หรือเคยได้รับคำเตือนให้ฉีดวัคซีนป้องกันอะไรก่อนเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เช่น ไข้เหลืองที่เกิดขึ้นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อยในอินเดียและเนปาล หรืออาจจะแค่ง่าย ๆ ว่าเวลาไปเข้าป่าระวังไข้มาลาเรีย ทว่าโลกที่ร้อนขึ้น ป่าไม้ที่ถูกทำลาย การรุกคืบของเมือง สัตว์ท้องถิ่นในพื้นที่ป่านั้นก็อาจต้องหาทางมีชีวิตรอดในสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน วงจรชีวิตและการเจริญเติบโตของยุงนั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ กล่าวคือ ยุงและแมลงชอบอากาศที่อบอุ่นจนถึงร้อน สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น เติบโตเร็วขึ้น นอกจากนี้วงจรของปรสิตในยุงยังพัฒนาไปเร็วขึ้นด้วยจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจซ้ำความร้ายแรงด้วยปรสิตมาลาเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2562 ที่ผ่านมา

ไข้หวัดนกเองก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและเชื้อไวรัส เดิมทีหวัดนกนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติในสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็ดหรือนกป่า ซึ่งตามปกติความหลากหลายของสายพันธุ์และความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่และอาหารจะทำให้พวกมันมีภูมิต้านทาน แต่สภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ส่งผลต่อจำนวนประชากรของนก ประกอบกับฤดูที่เปลี่ยนแปลงไปได้เปลี่ยนแปลงวงจรและเส้นทางการบินอพยพ ทำให้ไวรัสที่เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัว เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไปหรือการเติบโตขึ้นของเมืองก็มีโอกาสที่นกป่าจะใกล้ชิดกับปศุสัตว์และมนุษย์มากขึ้น


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม