ชื่อกระทู้: โลกร้อน (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #53  
เก่า 25-10-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default



ยืนยันอีกครั้ง “โลก” กำลังร้อนขึ้น





แม้จะยอมรับกันทั่วไปว่าโลกร้อนขึ้นจริงๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้วจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ยืนยันและพิสูจน์ได้ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าโลกกำลังร้อนขึ้น ซึ่งการศึกษาล่าสุดของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้ใช้วิธีศึกษาใหม่แต่ให้ข้อมูลใหม่ที่ย้ำว่าพื้นผิวโลกกำลังร้อนขึ้นจริงเหมือนการศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้

โครงการวิจัยเดอะเบิร์กเลย์เอิร์ธ (The Berkeley Earth Project) การศึกษาอุณหภูมิพื้นผิวโลกได้พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1950 มาถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส โดยไซน์เดลีรายงานว่าทีมวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกจากแหล่งข้อมูล 15 แหล่ง

การศึกษานี้มุ่งตรงไปยังประเด็นที่ส่งผลให้คนเคลือบแคลงต่อปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยครอบคลุมประเด็นผลกระทบจาก “เกาะความร้อนในเมือง” (urban heat island ) คุณภาพของสถานีตรวจวัดอุณหภูมิ และอคติในการเลือกข้อมูล

ทีมวิจัยที่นำโดย ศ.ริชาร์ด เอ.มูลเลอร์ (Prof. Richard A. Muller) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธ พบว่า การศึกษาล่าสุดของพวกเขานั้นได้ผลที่ใกล้เคียงกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของทีมวิจัยสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลขอบเขตความร้อนของพื้นผิวดินอันแม่นยำ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการศึกษาก่อนหน้านั้นทำอย่างรอบคอบและอคติตามที่กลุ่มผู้ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนระบุนั้นไม่ได้ส่งผลใหญ่หลวงต่อการศึกษา

สำหรับการศึกษาก่อนหน้าที่กล่าวถึงนั้นเป็นงานวิจัยขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (NOAA) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และศูนย์แฮดเลย์ (Hadley Center) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและคาดการณ์ภูมิอากาศในสหราชอาณาจักร โดยต่างพบว่านับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 มานั้น อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส และผลจากเกาะความร้อนในเมือง รวมถึงสถานีวัดอุณหภูมิที่มีคุณภาพต่ำนั้นไม่ส่งผลที่บิดเบือนต่อการศึกษา

หากแต่การค้นพบจากการศึกษาก่อนหน้านี้ถูกวิจารณ์จากกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งกังวลว่างานวิจัยนั้นอาศัยเทคนิคที่ให้ข้อมูลที่ไม่สามารถทำการทดลองตรวจสอบซ้ำได้ แต่ โรเบิร์ต รอห์ด (Robert Rohde) นักวิทยาศาสตร์ผู้นำในโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธกล่าวว่า การวิเคราะห์ของทีมพวกเขานั้นเป็นการศึกษาแรกที่แก้ประเด็นในเรื่องการเลือกข้อมูลอย่างอคติ โดยพวกเขาได้รวบรวมข้อมูลมากเท่าที่จะเป็นไปได้ในปริมาณที่มากกว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ 5 เท่า

อลิซาเบธ มูลเลอร์ (Elizabeth Muller) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของโครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธนี้ กล่าวว่าเธอคาดหวังว่าการศึกษาของกลุ่มวิจัยในโครงการนี้ จะช่วยลดอุณหภูมิการโต้เถียงในเรื่องภาวะโลกร้อน ด้วยการคลายข้อสงสัยและเคลือบแคลงต่อความเชื่อเรื่องโลกร้อนด้วยวิธีที่ชัดเจนและแม่นยำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเดินหน้าสู่รการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 17 (COP 17) ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ในปลายปีนี้ ซึ่งผู้ร่วมประชุมจะถกกันถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรอบเวลาที่กำหนด และรวมถึงประเด็นเรื่องเงินทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและปฏิบัติการทำงานร่วมกัน

ทีมวิจัยของเบิร์กเลย์เอิร์ธนี้มีทั้งนักฟิสิกส์ นักภูมิอากาศวิทยาและนักสถิติ ทั้งจากแคลิฟอร์เนีย โอเรกอนและจอร์เจีย ในสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้มี ซอล เพิร์ลมุลเลอร์ (Saul Perlmutter) ผู้ได้รับล่าวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2011 จากผลงานทางด้านจักรวาลวิทยา รวมอยู่ด้วย โดยไซน์เดลีระบุว่า ในงานวิจัยครั้งนี้พวกเขาได้นำวิธีทางสถิติใหม่ในการรวมชุดข้อมูลมาใช้ แต่ทางกลุ่มวิจัยไม่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในมหาสมุทร

ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ระบุนั้น อุณหภูมิในมหาสมุทรไม่ได้ร้อนมากเท่ากับบนพื้นดิน และเมื่อนำข้ออุณหภูมิในมหาสมุทรมาคำนวณด้วยทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 2 ใน 3 ของอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส




อย่างไรก็ดี สิ่งที่โครงการเบิร์กเลย์เอิร์ธยังไม่ได้ทำคือการประเมินว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์เท่าไร และขั้นต่อไปในงานวิจัยของพวกเขาคือการศึกษาอุณหภูมิมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเป้าหมายที่จะหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งหมดอย่างแม่นยำมากขึ้น

ข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการศึกษาของกลุ่มเบิร์กเลย์เอิร์ธ ได้แก่

- เกาะความร้อนในเมืองนั้นมีผลจริงในระดับท้องถิ่น แต่ไม่มีส่งผลสำคัญต่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นเพราะพื้นที่ในเมืองทั่วโลกนั้นคิดเป็นเพียง 1% ของพื้นดินทั้งหมด

- 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วโลกมีอุณหภูมิที่เย็นลงในรอบ 70 ปี ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในสหรัฐฯ และตอนเหนือของยุโรป แต่พื้นที่ 2 ใน 3 ทั่วโลกแสดงแนวโน้มว่าร้อนขึ้น ซึ่งการรายงานข้อมูลอุณหภูมิย้อนหลังของพื้นใดเพียงหนึ่งเดียวนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกรบกวนสูงและไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งจำเป็นต้องเปรียบเทียบและรวมการบันทึกข้อมูลหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เข้าใจในลักษณะของภาวะโลกร้อนที่แท้จริง



- การพบว่าหลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงนั้นอาจช่วยอธิบายถึงการไม่ยอมรับในเรื่องโลกร้อนได้ โดยรอห์ดให้ความเห็นว่า โลกร้อนนั้นเกิดขึ้นช้าๆ ในความรู้สึกของมนุษย์ และหากนักอุตุนิยมวิทยุท้องถิ่นบอกว่าอุณหภูมิเท่าเดิมหรือเย็นกว่าที่เคยเป็นเมื่อ 100 ปีก่อน เราก็พร้อมจะเชื่อได้อย่างง่ายดาย และในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะวัดสภาพอากาศเมื่อหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษที่ผ่านมาได้อย่างต่อเนื่อง และรายงานบางที่มีอุณหภูมิต่ำลงนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการถูกรบกวนจากตัวแปรระดับท้องถิ่น

การประเมินที่ดีในเรื่องการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นโลกนั้นไม่ทำได้โดยอาศัยการวัดอุณหภูมิจากเพียงไม่กี่สถานี จำเป็นต้องศึกษาอุณหภูมิจากสถานีตรวจวัดให้ได้หลายร้อยหรือหลายพันสถานียิ่งดี เพื่อตรวจและวัดความร้อนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่อยู่ใกล้ๆ จำนวนมากให้ผลการวัดในรูปแบบเดียวกัน จะทำให้รู้ได้ว่าการวัดของเรานั้นเชื่อถือได้

- การสำรวจอุณหภูมิผิวโลกจากสถานีตรวจวัด “คุณภาพต่ำ” มีรูปแบบไปในทางเดียวกันกับการสำรวจอุณหภูมิผิวโลกจากสถานีตรวจวัดที่มี “คุณภาพใช้ได้” และอุณหภูมิสัมบูรณ์จากสถานีตรวจวัดคุณภาพต่ำนั้นอาจให้ข้อมูลที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าข้อมูลที่แม่นยำกว่า แต่เมื่อดูภาพรวมทั้งหมดแล้วให้แนวโน้มไปในทางเดียวกัน ซึ่งทางกลุ่มเบิร์กเลย์เอิร์ธก็สรุปว่าข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพต่ำนั้นไม่ส่งผลที่บิดเบือนเกินจริง






ขอบคุณข้อมูลจาก...
http://www.manager.co.th/Science/Vie...=9540000135076
__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 25-10-2011 เมื่อ 12:15
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม