ดูแบบคำตอบเดียว
  #11  
เก่า 25-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


จับตาประเทศไทย...กับวิกฤติการณ์ภัยน้ำทะเลสูงขึ้น


อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งเร้าให้ธารน้ำแข็งจากขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แผ่นดินที่อยู่ริมทะเลหายไปในทะเล ประชาชนที่อยู่ริมทะเลนานาประเทศประสบปัญหาเดียวกัน ประเทศไทยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งปรากฏภาพให้เห็นชัดในพื้นที่บ้านขุนสมุทร จีน จ.สมุทรปราการ ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน ที่ปรากฏภาพของหลักเขตกรุงเทพจมอยู่กลางทะเล นอกจากนี้ยังมีปัญหากัดเซาะบริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จากผลการศึกษา 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียแผ่นดินไปกว่า 1 แสนไร่ จุดวิกฤติคือในบริเวณชายฝั่งทะเลสมุทรปราการ และชายทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองแห่งมีอัตรากัดเซาะ เฉลี่ย 20-25 เมตรต่อปี

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนคือบริเวณอ่าวไทยตอน บน ที่มีแนวชายทะเลและอยู่ในเขตที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร

ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเวทีเสวนา “จับตาประเทศไทยกับวิกฤติการณ์ ภัยน้ำทะเลสูงขึ้น” ที่จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นทั่วทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายพื้นที่ สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้คนชายฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยพื้นที่อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงจังหวัดเพชรบุรี มีชายฝั่งยาวกว่า 120 กม. กำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ดินชายฝั่งทะเลหายไปกว่า 18,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น การกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่กัดเซาะลึกลงไปในพื้นที่ท้องทะเลด้วย ทำให้สูญเสียหาดโคลนทุกวินาที

จากการศึกษาวิจัยพบว่าแผ่นดินใต้ทะเลที่เป็นหาดโคลนหายไปประมาณ 180,000 ไร่ นอกจากนั้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยตลอด 2,600 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 600 กิโลเมตรถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และจากการสำรวจติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าพื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีต 40 ปีที่แล้วเมื่อระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมีหาดโคลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลได้โผล่พ้นน้ำกว้างกว่า 5 กิโลเมตรจากแผ่นดิน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 1 กม. ขณะที่พื้นที่ในเขตมหาชัย จ.สมุทรสาคร เคยมีหาดโคลน 1.5 กม. แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น

เหล่านี้คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งไม่เพียงแต่กัดเซาะชายฝั่งแต่ยังกัดเซาะไปถึงท้องทะเลด้วย ล่าสุดงานวิจัยด้านการกัดเซาะชายฝั่งของอาจารย์ธนวัฒน์ ที่เก็บข้อมูลมายาวนาน 20 ปี ฉายภาพของปัญหากัดเซาะให้ชัดขึ้นอีกว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเรื่องการสร้างเขื่อนที่ทำให้ตะกอนดินหายไปไม่ก่อให้เกิดการงอกของแผ่นดิน สาเหตุเกิดจากการสร้างเขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล หลัง 40 ปีที่ผ่านมาพบการงอกของแผ่นดินปลายแม่น้ำเหลือ 4.5 เมตรต่อปี จากเดิมที่มีการงอก 60 เมตรต่อปี (สภาพพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และท่าจีน) นอกจากนี้ยังมีปัญหาแผ่นดินทรุด มีสาเหตุมาจากการใช้น้ำบาดาล เป็นผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าแผ่นดิน ที่เรียกว่าระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ เป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ อาจยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองชายฝั่งในประเทศไทย แต่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตา ที่อยู่ติดริมทะเล มีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากแผ่นดินทรุดและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เมืองใหญ่แห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนสูง มีน้ำทะเลเข้าท่วมถึงระดับหน้าอก ชาวบ้านในพื้นที่ก็พยายามปรับตัวไม่ทิ้งพื้นที่

ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี แต่จาการ์ตา 8 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ประเทศไทยระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตรต่อปี นับได้ว่าเป็นอัตราที่มากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ปรากฏน้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้จะเห็นบ่อยขึ้นในบ้านเรา ขณะนี้แถบสมุทรปราการเจอปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา ซึ่งชุมชนริมชายฝั่งอย่าง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ที่จะเผชิญปัญหาสภาพนี้ จะเตรียมรับมืออย่างไร”

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการป้องกันน้ำทะเลท่วมนั้นควรมีการสร้างเขื่อนแต่ไม่ใช่เขื่อนป้องกันน้ำทะเล แบบเดียวกับในประเทศเนเธอร์แลนด์แต่เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และต้องสร้างป่าชายเลนเทียมในทะเลป้องกันอีกชั้นหนึ่ง สร้างหาดเทียมขนาด 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้สร้างหาดเทียม ทดลองในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ได้เห็นปรากฏการณ์การกัดเซาะลดลงจากเดิมเกิดการกัดเซาะ 30 ซม.ใน 1 ปีแต่หลังจากสร้างเขื่อนการกัดเซาะไม่มี

นอกจากนี้ยังมีตะกอนเพิ่มขึ้น 20-30 เซนติ เมตร ซึ่งกำลังติดตามงานวิจัยต่อไปว่าตะกอนที่เพิ่มขึ้นหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ตะกอนจะเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใด ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยไทยจะเป็นประเทศแรกๆในโลกที่จะสร้างป่าชายเลนเทียมขึ้นมาเพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลขึ้นมาบนชายฝั่ง

อีกข้อเสนอแนะของการป้องกันปัญหา นักวิชาการแนะด้วยว่า 4 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรหยุดใช้น้ำบาดาลตั้งแต่บัดนี้ ภาครัฐต้องหันมาหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคของคนในพื้นที่ดังกล่าวใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเร่งให้แผ่นดินทรุดกระทบต่อเนื่องก่อให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินหายและน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลดังกล่าวในอนาคต... ประเทศไทยจะเสียผืนแผ่นดินที่ไม่ได้เกิดจากการสู้รบอย่างจริงๆ.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม