ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 24-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


เย้ยก.ม.! ร้านอาหาร-คาเฟ่ อ.แม่ริม รุกล้ำแม่น้ำเพียบ จนท.รัฐตรวจสอบด่วน

ชาวบ้านร้องเรียน ร้านอาหาร-คาเฟ่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ รุกล้ำลำน้ำแม่สาจำนวนมาก จี้ จนท.รัฐตรวจสอบ จัดระเบียบใหม่ รื้อถอนสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะ และแม่น้ำดังกล่าวเป็นเส้นเลือดหลักที่ชาวแม่ริมใช้ดื่มกิน



ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย กับ MGR Travel ว่า มีชาวบ้านมาร้องเรียนว่ามีร้านอาหารและร้านกาแฟแนวแช่เท้า ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หลายร้าน ทำการรุกล้ำลำน้ำแม่สาซึ่งเป็นแม่น้ำสาธารณะจำนวนมาก

โดยมีทั้งการสร้างซุ้ม เรือนไม้ การตั้งเป็นโต๊ะ-เก้าอี้ แคร่ แพ ขวางแม่น้ำ และรุกล้ำลำน้ำกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบางร้านสร้างสิ่งก่อสร้างโครงเหล็กรุกเข้าไปในแม่น้ำอย่างน่าเกลียด

สำหรับลำน้ำแม่สา เป็นแม่น้ำสาธารณะ ถือเป็นเส้นเลือดหลักของชาวแม่ริม ที่ใช้ทำประปา อุปโภค บริโภค การสร้างสิ่งแก่สร้างรุกล้ำแม่น้ำ หรือการยึดพื้นที่แม่น้ำมาเป็นพื้นที่ส่วนตัวจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

นอกจากนี้การนำโต๊ะ เก้าอี้ แคร่ ไปวางในลำน้ำแล้วเปิดให้มีการดื่ม-กิน อาหาร ย่อมสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และต่อสายน้ำที่เป็นเส้นเลือดหลักของชาวแม่ริม เนื่องจากอาจมีขยะสิ่งปฏิกูลถูกทิ้งลงในลำน้ำแม่สา ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านในพื้นที่ละแวกนั้น จึงร้องเรียนมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ จัดระเบียบร้านอาหารประเภทแช่เท้า ไม่ให้รุกล้ำลำน้ำ และดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบมาตรการด้านสาธารณสุขเรื่องป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย เนื่องจากมีบางร้าน ยังคงละเลย และหละหลวมต่อมาตรการดังกล่าว



สำหรับอำเภอแม่ริม บนถนนเส้น อ.แม่ริม ? อ.สะเมิง วันนี้ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างทางมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลากหลาย รวมถึงทุ่ง-แปลงดอกไม้ที่กำลังมาแรง

ด้วยเหตุนี้จึงมีร้านอาหาร ร้านกาแฟจำนวนมาก เปิดร้านแนวแช่เท้า รุกล้ำพื้นที่แม่น้ำสาธารณะเพื่อเป็นจุดดึงดูดลูกค้า สร้างประโยชน์ทางธุรกิจให้กับตัวเอง ซึ่งหลายร้านมีการทำรุกล้ำ ทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน

โดยเหตุการณ์ร้านอาหารรุกล้ำลำน้ำแม่สา ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปลายปี 2560 จนทางจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมาย และจัดระเบียบร้านอาหารริมน้ำแม่สา อ.แม่ริม ใหม่ ซึ่งวันนี้สถานการณ์การทำผิดกฎหมายแบบเดิมก็ได้หวนคืนมาอีกครั้งหนึ่ง


https://mgronline.com/travel/detail/9630000064674


*********************************************************************************************************************************************************


ปริศนาคลาย...ฟอสซิลในแอนตาร์กติกาคือไข่เปลือกนิ่มอายุ 68 ล้านปี


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในชิลีโชว์ฟอสซิลไข่เปลือกนิ่มที่พบในแอนตาร์กติกา ซึ่งมีอายุ 68 ล้านปี (Handout / CHILEAN NATIONAL MUSEUM OF NATURAL HISTORY / AFP)

"เดอะธิง" ชื่อเล่นที่พิพิธภัณฑ์ในชิลีตั้งให้แก่ฟอสซิลปริศนาที่พบในแอนตาร์กติกา หลังจากรอคอยการไขปริศนาในที่สุดก็ได้รู้ว่า ฟอสซิลดังกล่าวคือฟอสซิลเปลือกไข่เปลือกนิ่มขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ และมีอายุประมาณ 68 ล้านปี คาดว่าอาจจะเป็นไข่ของงูทะเลหรือกิ้งก่าทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

รายงานเอเอฟพีระบุว่า การค้นพบดังกล่าวไปปิดฉากการคาดเดาที่ยาวนานเกือบสิบปี และยังอาจเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลในยุคนั้น ซึ่งเป็นความเห็นของ ลูคัส เลเกนเดร (Lucas Legendre) หัวหน้าทีมวิจัยผู้ไขปริศนาฟอสซิลดังกล่าว ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน (University of Texas at Austin) สหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบดังกล่าวในวารสารเนเจอร์ (Nature)

"ไข่ใบใหญ่นี้มีขนาดกว่าไข่ใบใหญ่ที่สุดที่เคยพบก่อนหน้านี้อย่างมาก เราไม่รู้มาก่อนว่า ใบแบบนี้สามารถใหญ่ได้ขนาดนั้น และเนื่องจากเราตั้งข้อสันนิษฐานว่า ไข่ถูกวางโดยสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลขนาดใหญ่ จึงอาจเป็นเบาะแสเจาะจงให้เราได้เห็นถึงกลวิธีในการขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้" ลูคัสกล่าว

สำหรับฟอสซิลไข่ใบนี้ถูกพบตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 โดยนักวิทยาศาสตร์ชิลีที่ทำงานอยู่ที่ทวีปแอนตาร์กติกา ลักษณะภายนอกเหมือนมันฝรั่งอบที่ยับยู่ยี่ วัดขนาดได้ 11 x 7 นิ้ว หรือ 28 x 18 เซ็นติเมตร และใช้เวลาหลายปีที่มีนักวิทยาศาสตร์เวียนมาศึกษาฟอสซิลดังกล่าวแต่ก็เปล่าประโยชน์ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2018 นักบรรพชีวินวิทยาชี้นำว่า ฟอสซิลนี้น่าจะเป็นไข่

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ใช่ข้อสันนิษฐานที่เข้าใจได้ง่ายนัก เพราะทั้งขนาดและรูปลักษณ์ที่ปรากฏไม่บ่งชี้เช่นนั้น อีกทั้งยังไม่มีโครงกระดูกในไข่เพื่อยืนยันด้วย ทว่าจากการวิเคราะห์ตัดชิ้นส่วนของฟอสซิล เผยให้เห็นโครงสร้างที่คล้ายเนื้อเยื่ออ่อน และชั้นนอกที่เป็นของแข็งแต่บางกว่ามาก บ่งชี้ว่าเป็นไข่เปลือกนิ่ม

การวิเคราะห์ทางเคมียังแสดงว่า เปลือกไข่นี้แตกต่างจากตะกอนที่อยู่รอบๆ อย่างชัดเจน และมีกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต แต่ก็ยังมีปริศนาอื่นๆ ที่ยังรอการไขคำตอบ ทั้งปริศนาว่าสัตว์ชนิดใดที่ที่วางไข่ขนาดใหญ่มหึมานี้ ซึ่งไขขนาดใหญ่ที่เคยพบก่อนหน้านั้น คือไขจากนกยักษ์ในมาดากัสการ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

ทีมวิจัยเชื่อว่าไข่ใบนี้ไม่ได้มาจากไดโนเสาร์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกาในยุคนั้นส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่วางไข่ขนาดมหึมานี้ได้ และถ้ามีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่วางไข่ใบเท่านี้ได้ก็พบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ออกไข่เป็นรูปวงกลม มากกว่าออกไข่เป็นรูปวงรีเช่นนี้ ในทางหนึ่งพวกเขาเชื่อว่า เป็นไข่ที่มาจากสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า "โมซาซอร์" (Mosasaurs) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบได้มากที่แอนตาร์กติกายุคนั้น


ไข่เปลือกนิ่มที่พบในแอนตาร์กติกา ซึ่งมีอายุ 68 ล้านปี (Handout / CHILEAN NATIONAL MUSEUM OF NATURAL HISTORY / AFP)

ยังมีงานวิจัยคู่ขนานกับงานวิจัยนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์เช่นกัน โดยวานงิจัยดังกล่าวแย้งว่า ฟอสซิลไข่ใบนี้ไม่น่าจะเป็นของสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ แต่น่าจะเป็นไข่เปลือกนิ่มของไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ไดโนเสาร์จะวางไข่เปลือกแข็งเท่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหมดที่พวกเขาได้ค้นพบ

ทว่า มาร์ก นอเรลล์ (Mark Norell) ภัณฑรักษ์ทางด้านบรรพชีวินวิทยาที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History) กล่าวว่า การค้นพบฟอสซฺลตัวอ่อนของกลุ่มไดโนเสาร์โปรโตเซอราทอปส์ (Protoceratops) ในมองโกลเลีย ทำให้เขาต้องกลับมาทบทวนสมมติฐาน

"ทำไมเราจึงค้นพบแต่ไข่ไดโนเสาร์ในช่วงปลายยุคมีโซโซอิก (Mesozoic) และทำไมจึงมีแค่ 2-3 กลุ่มไดโนเสาร์" นอเรลล์ตั้งคำถามต่อตัวเอง และคำตอบที่เขาให้คือนั่นเป็นเพราะไดโนเสาร์ในยุคตั้นวางไข่เปลือกนิ่ม ซึ่งถูกสลายและไม่กลายเป็นฟอสซิล

เพื่อทดสอบทฤษฎีดังกล่าว นอเรลล์และทีมวิจัยได้วิเคราะห์วัตถุที่อยู่รอบโครงกระดูกโปรโตเซอราทอปส์ ซึ่งเป็นฟอสซิลที่พบในมองโกลเลีย และฟอสซิลของมัสซอรัส (Mussaurus) ที่น่าจะอยู่ในระยะแรกเกิด และพวกเขาก้?ด้พบสัญญาณทางเคมีที่บ่งบอกว่า ไดโนเสาร์ดังกล่าวถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกนุ่มๆ เหมือนหนัง

"ไข่ไดโนเสาร์ใบแรกเป็นไข่เปลือกนิ่ม" คือข้อสรุปของนอเรลล์และทีมวิจัยที่สรุปลงรายงานทางวิชาการ

การค้นพบของนอเรลล์อาจจะมีความเกี่ยวพันกับฟอสซิลแอนตาร์กติกาที่เรียกว่า "เดอะธิง" ซึ่งตอนนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "แอนตาร์กติโกโอลิธัส" (Antarcticoolithus) ตามชื่อที่นักวิจัยระบุในวารสารเนเจอร์

ขณะที่ โจฮัน ลินด์เกรน (Johan Lindgren) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) สวีเดน และ เบนจามิน เกียร์ (Benjamin Kear) จากมหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University) กล่าวว่า การค้นพบนั้นอาจจะเกี่ยวกับลักษณะของไดโนเสาร์ในฐานะพ่อแม่ที่มีความภูมิใจในลูก ซึ่งพวกเขาคาดว่าจะมีการค้นพบฟอสซิลไข่ที่ลักษณะเฉพาะแบบเดียวกันนี้ในอนาคต ซึ่งเป็นไข่ที่ยึดติดกับตัวอ่อน ซึ่งจะช่วยไขปริศนาที่กระตุกข้อสงสัยนี้ได้


https://mgronline.com/science/detail/9630000064790

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม