ดูแบบคำตอบเดียว
  #64  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

GREENPEACE
13-05-2015

ใบเหลืองอียู แปรวิกฤตให้เป็นโอกาสก่อนทะเลไทยจะล่มสลาย



เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมาสหภาพยุโรป(อียู) ออกประกาศอย่างเป็นทางการ โดยขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีความล้มเหลวต่อเรื่องนี้ ใบเหลืองอียูยังสะท้อนวิกฤตห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมประมงไทยที่โยงกับนโยบายประมงโลก แม้จะเข้าใจกันดีว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อปลดใบเหลืองอียูภายใน 6 เดือนตามที่กำหนด แต่หากละเลยมิติความยั่งยืนในเรื่องการฟื้นฟูทะเลและทรัพยากรชายฝั่งให้ไปพ้นจากการประมงทำลายล้าง การมุ่งปลดใบเหลืองอียูโดยให้ความสำคัญกับผลประโยขน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมงนั้นจะเป็นผลชั่วครู่ชั่วยามบนซากปรักหักพลังของระบบนิเวศทะเลไทย


ใบเหลืองจากอียูสำคัญอย่างไรต่อการประมงไทย

ข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียูโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ระบุว่า ในปี 57 ไทยส่งออกสินค้าทะเลไปอียูปริมาณ 148,995 ตัน มูลค่า 26,292 ล้านบาท ในปี 56 ส่งออกปริมาณ 176,939 ตัน มูลค่า 31,072 ล้านบาท และปี 55 ส่งออกปริมาณ 189,904 ตัน มูลค่า 33,782 ล้านบาท นี่เป็นเพียงตัวเลขของการส่งออกที่เป็นยอดเงินที่ยังไม่คำนวนถึงมูลค่าความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่คิดเป็นเงินราว 659 พันล้านบาท
สาเหตุที่มาของสัญญาณเตือนใบเหลืองนี้ เนื่องมาจากตั้งแต่ปี 2554 อียูได้ตรวจสอบการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ในประเทศไทย และไม่มีการปรับปรุงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายการออกกฎหมาย และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ประเทศไทยจึงกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา หมายความว่า หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในเดือนตุลาคมนี้จะให้ใบแดง และระงับการสั่งซื้อสินค้าประมงจากประเทศไทยทันที เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศกัมพูชา กินี และศรีลังกา


ช่องโหว่ในมาตรการแก้ไขของรัฐบาลไทย

ชะตาการส่งออกสินค้าประมงของไทยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาลไทยในช่วง 6 เดือนนี้ โดยอาจเป็นได้สามแนวทาง คือ การออกใบเขียว-ยกเลิกการเตือนสินค้าประมง การออกใบแดง-ห้ามการนำเข้าสินค้าประมงไทย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หรือสุดท้ายคือยืดเวลาให้ไทยแก้ปัญหาต่อไปอีก
อย่างไรก็ตามแต่การออกมาตรการแก้ไขเร่งด่วนของรัฐหลายประการไม่ว่าจะเป็นการตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด การต้อนเรือประมงมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น มิได้รับประกันว่าจะนำไปสู่การปลดใบเหลืองอียู แต่กลับละเลยมิติของความยั่งยืนในการฟื้นฟูทะเลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการประมงเกินขนาด

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์ว่า 6 มาตรการการจัดของของภาครัฐยังมีช่องโหว่ที่ส่งเสริมให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลของไทย กล่าวคือ

1. การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง หรือการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน จะเป็นการเปิดโอกาสให้เครื่องมือประมงทำลายล้าง เช่น เรืออวนลากเข้ามาสู่ระบบ ทั้งที่เรืออวนลากเป็นการทำประมงที่ทำลายล้าง กวาดล้างปลา และพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทย รวมถึงทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพาระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก และส่งผลร้ายแรงต่ออนาคตของความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย

2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ยังต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) ยังขาดแผนการทำงานที่เป็นระบบ การตรวจสอบควรนำไปสู่การมีส่วนร่วมที่เป็นระบบ และน่าเชื่อถือ

4. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ แต่ปัจจุบันยังเป็นการตรวจสอบผ่านเอกสารเนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ

5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง มาตรการการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพได้เต็มที่จำเป็นต้องรอกฏหมายลูกอีกหลายฉบับมารองรับเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังขาดกฏหมายที่คุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีใครพูดถึง

6. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้า IUU แต่การจัดทำแผนระดับชาติในครั้งนี้มุ่งแต่การป้องป้องสินค้าส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมประมง แต่ไม่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรทางทะเลโดยรวม


ปลาในทะเลไทยกำลังหายไป

จุดมุ่งหมายสำคัญของกรรมธิการยุโรปในการกำหนดและสร้างข้อตกลงร่วมกันในสหภาพยุโรปในเรื่องการนำเข้าสินค้าประมงเข้ามาในสหภาพยุโรป คือ ต้องการให้นานาประเทศยกระดับการจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรและแหล่งอาหารไว้ให้คนรุ่นต่อไป ขณะนี้จากรายงานของ FAO ปี 2558 พบว่าผลผลิตการจับปลามวลรวมของประเทศไทยลดลงถึงร้ยละ 39 เมื่อเปรียบเทียบย้อนไป 10 ปี (2546-2555) โดยการลดลงของทรัพยากรทางทะเลบางส่วนมีสาเหตุจากการทำประมงเกินขนาด และปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในอ่าวไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของกรมประมงพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของการทำประมงอวนลากลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2504 มีอัตราอยู่ที่ 297.6 กก.ต่อชม. ในปี 2525 ลดลงเหลือ 49.2 กก.ต่อชม. ในปี 2549 อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียง 14.126 กก.ต่อชม.

การจัดการประมงอย่างยั่งยืน คือ การคืนชีวิตให้ทะเลไทย และนั่นคือทางออกสำหรับอนาคตการประมงของไทย ประเทศไทยมีทรัพยากรทางทะเลเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงชาวไทยและส่งออกไปภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้อย่างยั่งยืนหากเราตระหนักที่จะดูแลท้องทะเลร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาการพัฒนากิจการประมงของไทยเป็นไปในทางทำลายเพื่อกอบโกยเงินให้มากที่สุด หกเดือนต่อจากนี้คือการตัดสินสำคัญของอนาคตทะเลไทยที่ภาครัฐจะต้องปรับปรุงระบบการประมงทั้งระบบให้ถูกต้องและยั่งยืน เพราะหากภาครัฐไม่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและปกป้องรักษาท้องทะเลต้องแต่ตอนนี้ ทะเลไทยจะยิ่งเสื่อมโทรมและไม่อาจกลับคืนสภาพสมบูรณ์ได้อีกเลย

__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 21-07-2015 เมื่อ 15:41
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม