ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 08-03-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,331
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


นับวันไทยจะสูญเสียป่าพรุ รอไม่ได้แล้วต้องสร้าง "พื้นที่ชุ่มน้ำ" กลางเมือง


ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช สูญเสียพื้นที่ป่าทุกปีด้วยน้ำมือมนุษย์

รายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้ชัดว่า ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีต ที่น่าวิตกมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

ไทยสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำมาอย่างต่อเนื่อง รุนแรงมาก-น้อยต่างกันไปแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำที่น่าตกใจในไทย คือ ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช เกิดไฟไหม้ป่าไม่ว่างเว้น ปีละหลายครั้ง แต่ละครั้งสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่ เหตุของการเผา เพราะต้องการจับจองพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ ก่อนเข้าปลูกปาล์มและยางพารา

ยังไม่พูดถึงแม่น้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง ตลอดจนพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งน้ำเค็ม ทั้งปากแม่น้ำ หาดทราย ป่าชายเลน แนวปะการังและแนวหญ้าทะเลในประเทศไทย ที่เผชิญภัยคุกคามต่างกันไป

ในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกปี 2564 นี้ สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ รณรงค์ให้ทั่วโลกหยุดการทำลายและร่วมกันรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ ภายใต้ธีม พื้นที่ชุ่มน้ำและน้ำ (Wetlands and Water) เน้นย้ำความเชื่อมโยงของน้ำและระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งน้ำเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยและพึ่งพาน้ำในการดำรงชีวิต สัตว์น้ำใช้น้ำเป็นแหล่งอาศัย เพาะขยายพันธุ์ สัตว์บกหรือพืชพรรณต่างๆ อาศัยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เมื่อมีน้ำมาหล่อเลี้ยง

อีกด้านหนึ่งน้ำอาศัยระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งควบคุมรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งมีพรรณพืชนานาชนิดช่วยบำบัดคุณภาพน้ำ ดังนั้น การสร้างความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้พื้นที่ชุ่มน้ำไม่ถูกทำลายและเกื้อกูลสิ่งมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทางด้านไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดกิจกรรมเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำ ประจำปี 2564 เรื่อง Wetlands and Water ผ่านทางสื่อออนไลน์ Facebook: Biodiversity CHM Thailand เพื่อปลุกสำนึกให้ทุกภาคส่วนเกิดความรักและหวงแหนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์และความรู้การดูแลแรมซาร์ไซต์ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไปที่ยังเผชิญภัยคุกคาม

นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการ สผ.กล่าวว่า ไทยร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ สิ่งที่ต้องทำคือ ปลุกให้ประชาชนเห็นคุณค่า และช่วยจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำและน้ำให้ดีขึ้น หยุดทำลาย รวมถึงยกระดับพื้นที่ชุ่มน้ำไทยขึ้นสู่แรมซาร์ไซต์ที่สำคัญระหว่างประเทศ ล่าสุด ขึ้นทะเบียนลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเป็นแรมซาร์ไซต์แห่งใหม่ ลำดับที่ 15 ของไทย มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด

"ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยมี 7.5% ของพื้นที่ประเทศ มีระดับท้องถิ่น ชาติ และระดับนานาชาติ แต่ปัจจัยคุกคามหลักๆ คือ ขาดการดูแลรักษาของคนในพื้นที่ การบุกรุกทำลายเพื่อใช้ประโยชน์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ขณะนี้เตรียมปรับปรุงมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำให้สอดรับกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง" รองเลขาธิการ สผ.กล่าว


ทะเลสาบสงขลา พื้นที่ชุ่มน้ำที่เผชิญภัยคุกคาม

ด้าน นายพิพัฒน์ เรืองนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและประสานมวลชน กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2564 หากแผนผ่านการพิจารณาจะนำมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา มีกระบวนการในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วม โดยกรมจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เสนอแนะต่อแผนปฏิบัติการนี้ อย่างไรก็ตาม ฝากถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำจะต้องไม่ละเลยเรื่องการฟื้นฟู การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ไม่สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

วิกฤติไฟไหม้ป่าพรุทางภาคใต้ของไทยทั้งพรุโต๊ะแดงนราธิวาส พรุควนเคร็งเมืองคอน ถูกหยิบยกมาสะท้อนการสูญเสียในโอกาสวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ป่าพรุองค์ประกอบคล้ายป่าดงดิบเพียงแต่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี รวงถึงมีพรรณไม้หลายชนิด เช่น ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส เขตพื้นที่กว่า 123,000 ไร่ ป่าพรุโต๊ะแดงถือเป็นป่าพรุดั้งเดิมที่คงสภาพธรรมชาติ เป็นแห่งเดียวในไทย ที่เหลือเป็นป่าพรุที่ถูกรบกวนแล้วฟื้นคืนสภาพขึ้นมา ป่าพรุเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ พรุโต๊ะแดงพบความหลากชนิดของสัตว์ป่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 60 ชนิด นกป่า 217 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 52 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 19 ชนิด ปลาน้ำจืด 62 ชนิด ผีเสื้อกลางวัน 106 ชนิด รวมแล้วมีสัตว์ป่าถึง 516 ชนิด

"เวลานี้ป่าพรุโต๊ะแดงพื้นที่แสนกว่าไร่ มีเพียง 40% ที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ที่เหลือป่ามีสภาพเปลี่ยนแปลง ปัจจัยรบกวนมาจากพื้นที่รายรอบมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำสวนปาล์มและสวนยางพารา การบุกรุกในป่าพรุโต๊ะแดง มีผลให้ป่าพรุโต๊ะแดงบางส่วนเสื่อมโทรม รวมถึงเรื่องไฟป่าด้วย สาเหตุไฟไหม้เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น เผาเพื่อต้องการที่ทำกิน เผาเก็บหาของป่า เผาไล่ยุง สูบใบจาก มีสถิติปี 59 ไฟไหม้ถึง 13 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,285 ไร่ ปีก่อนหน้านี้ ไหม้ 16 ครั้ง เสียหาย 829 เก่า" นักวิชาการ มก.แสดงความกังวล

อีกพื้นที่ตัวอย่างพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช ความหลากหลายทางชีวภาพไม่น้อยหน้าพรุโต๊ะแดง พบชนิดพันธุ์สัตว์ป่าเกือบ 150 ชนิด นักวนศาสตร์บอกว่าป่าพรุควนเคร็งมีแต่ไม้เสม็ด มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ก่อนปี 2505 พื้นที่นี้เป็นป่าพรุดั้งเดิม แต่เจอพายุใต้ฝุ่นแฮเรียตที่แหลมตะลุมพุก พัดทำลาย เกิดปรากฏการณ์ป่าล้ม ไม้เสม็ด ซึ่งเป็นไม้เบิกนำเข้ายึดครองพื้นที่ ประกอบกับช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศป่าพรุถูกรบกวน มีการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบายน้ำออกจากพรุ มีการจุดไฟเผาเปลี่ยนสภาพป่าให้มาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม้เสม็ดยังอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง กลายเป็นป่าเสม็ดขาวผืนใหญ่เนื้อที่กว่าแสนไร่ในทุกวันนี้

"กรณีพรุควนเคร็งมีการเข้าไปอยู่ของคนในพื้นที่ โดยมีวิถีความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับป่าพรุมานาน ปัญหาสำคัญมีไฟป่าเกิดขึ้น คนรู้จักป่าพรุมากขึ้นจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ปี 55 วิกฤติไฟป่า ปี 62 ไฟไหม้รุนแรง ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับป่าพรุควนเคร็งมากขึ้น ที่นี่ก็ยังพบการบุกรุกเพื่อทำเกษตรเช่นเดียวกับป่าพรุที่อื่นๆ วิธีการง่ายสุดถางแล้วก็เผา เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ปีที่เกิดเอลนีโญ แห้งแล้งผิดปกติ ป่าพรุควนเคร็งจะเกิดไฟไหม้สูงมาก" ผศ.ดร.กอบศักดิ์เผยวิกฤติ

สำหรับสถานการณ์ในป่าพรุประเทศไทย รวมทั้งในเขตร้อนทั่วโลก คณบดีวนศาสตร์ มก. ยืนยันว่า ตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะมีการทำไม้ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทั้งปาล์มน้ำมัน ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ที่อยู่อาศัย มีการระบายน้ำออกจากพรุก็เป็นตัวแปรสำคัญ ปีที่แห้งแล้งอยู่แล้ว มีการดึงน้ำออกจากพรุเพื่อใช้ทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบพรุ ทั้งยังเป็นตัวเร่งทำให้เกิดไฟไหม้ป่ามากขึ้น ความแห้งแล้งจากสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงการเผาป่าพรุเพื่อทำให้ป่าเสื่อมโทรม ส่งผลให้ผืนป่าถูกแบ่งออกเป็นหย่อม ป่าเสื่อมโทรม สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และคาร์บอนถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศ

?มีรายงานระบุ ป่าพรุกว่าจะมีความหนาประมาณ 8 เซนติเมตรใช้เวลาถึง 100 ปี แล้วป่าพรุที่มีความหนา 1-2 เมตร จะใช้เวลาสะสมยาวนานแค่ไหน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งธาตุอาหาร คาร์บอนที่ปลดปล่อยออกมา หรือแม้แต่ความมั่นคงทางอาหารถูกกระทบกระเทือนทั้งสิ้น สาเหตุไฟไหม้ป่า ไฟไหม้พรุควนเคร็งปี 53 เสียหาย 1.9 หมื่นไร่ ปี 55 อีก 1.2 หมื่นไร่ มาหนักอีกครั้งปี 59 ไฟไหม้ 1.1 หมื่นไร่ ส่วนปี 62 เสียหายกว่า 1.6 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ฉะนั้น หากปีใดมีการคาดการณ์จะเกิดเอลนีโญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ต้องวางแผนป้องกันและพร้อมรับมือบรรเทาความเสียหาย" ผศ.ดร.กอบศักดิ์ระบุ


พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

เหตุผลสำคัญที่ต้องลดปัจจัยเสี่ยงและอนุรักษ์ป่าพรุ มีคำตอบชัดเจน โดยนักวิชาการ มก. สะท้อนภาพผ่านผู้คนรายรอบป่าพรุควนเคร็งว่า ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า เปรียบเสมือนตู้กับข้าว อยากได้อะไรก็เข้าไปเก็บ ใช้ประโยชน์ อย่างกระจูด ใช้ทำผลิตภัณฑ์จักสาน สร้างรายได้ หลุมพี นำมาทำน้ำหลุมพี ไวน์หลุมพี หลุมพีดองเค็ม หวาน บ๊วย สาคู ทำแป้ง สามร้อยยอดเก็บขายกิโลกรัมละ 20 บาท กะพ้อแดงใช้ห่อขนม หลาวชะโอน ไม้ใช้ในครัวเรือน

ส่วนหมากแดง กระบุย เสม็ดชุน ใช้เป็นไม้ประดับ ต้นหนใบใหญ่ สะเตียว เป็นไม้เนื้อแข็งราคาสูง เสม็ด ลำหวาย ทำเฟอร์นิเจอร์ หม้อข้าวหม้อแกง ทำกระบะใส่ข้าวเหนียว แล้วยังเป็นไม้ประดับ ปลาสารพัดชนิดในป่าพรุควนเคร็ง ทั้งปลาดุกลำพัน ปลาหมอ ปลากระสง ปลาชะโด กุ้ง ปู รวมถึงผึ้ง ตัวต่อ ชาวบ้านใช้บริโภค และจำหน่าย

นอกจากนี้ ชายขอบพรุชุมชนปลูกไม้ตะเคียนทอง นำมาใช้ประโยชน์ ป่าพรุหลายพื้นที่มีศักยภาพในการส่งเสริมปลูกต้นไม้มีค่า ตอนนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งการปลูกไม้หลังครัว ริมรั้ว รอบแดน ช่วยลดการตัดไม้ในพื้นที่ป่าพรุได้ด้วย รวมถึงการท่องเที่ยวในป่าพรุ ถือเป็น unseen มีนกหลากชนิด พันธุ์พืชน่าสนใจ เป็นโอกาสในอนาคตชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำอื่น จัดการท่องเที่ยวธรรมชาติ

"พรุควนเคร็งกำลังมีการทำโมเดลชูบทบาทชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าพรุ ปัจจุบันมีการกำหนดแผนใช้ที่ดินร่วมกัน รวมถึงแผนจัดการน้ำ แผนจัดการทุ่งกระจูด แผนการท่องเที่ยว แผนวิสาหกิจชุมชน แผนจัดการไฟป่า และแผนการปลูกฟื้นฟูป่า" ผศ.ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ส่วน ดร.วิเทศ ศรีเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศและการมีส่วนร่วม เผยว่า หัวใจสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำไทยให้สำเร็จ คือ เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม เพราะไม่สามารถดูแลได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ ปัจจุบันมีคู่มือกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วม ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการได้ด้วยกระบวนการที่ดี สร้างคณะทำงานหมู่บ้าน คณะทำงานชุมชน สำรวจ ศึกษาข้อมูลร่วมกันเพื่อให้รู้พื้นที่ชุ่มน้ำและสายน้ำในพื้นที่มีชนิดสัตว์ พืช และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ชุ่มน้ำ สร้างความเป็นเจ้าของ ทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำให้อาหาร ที่อยู่อาศัย และผูกพันกับชีวิต การมีผู้นำที่เข้มแข็งก็สำคัญ รวมถึงมีคณะทำงาน เครือข่ายทำงาน วางแผนร่วมกัน มีการติดตามประเมินผล


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม