ดูแบบคำตอบเดียว
  #40  
เก่า 17-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default


“รถยนต์ประสบอุทกภัย” บริษัทประกันชดเชยอย่างไร?!



สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2554 นี้นับเป็นครั้งที่รุนแรงและหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนจนทำให้หลายคนเครียดจัด แต่สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายได้นั่นก็คือ การประกันภัยที่ได้ทำไว้ให้กับทรัพย์สินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รถยนต์” ซึ่งหากต้องได้รับความเสียหายจากวิกฤติอุทกภัย ความครอบคลุมของประกันภัยจะชดเชยได้มากน้อยแค่ไหน...?!?

จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ความรู้ว่า สำนักงาน คปภ.มีความห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง จึงเร่งให้บริษัทประกันภัยสำรวจความเสียหายเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยได้ทันทีหลังน้ำลด โดยสถิติความสูญเสียทรัพย์สินด้านการประกันภัยจากความเสียหายสถานการณ์น้ำท่วมเบื้องต้นแบ่งเป็นความเสียหายต่อรถยนต์มีจำนวน 818 คัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 53,199,744.30 บาท จ่ายเต็มจำนวนเงินที่เอาประกันภัยแล้ว 1,878,388.60 บาท ซ่อมแซมรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าเงินที่เอาประกันภัย 5,826,981.08 บาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย บริษัทประกันจึงไม่สามารถเข้าไปประเมินความเสียหายได้ทั้งหมด ต้องรอสรุปตัวเลขหลังน้ำลดต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัย แบ่งเป็นประเภท การประกันภัยเกี่ยวกับบุคคล คือ
1. การประกันชีวิต คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี (รวมถึงการเสียชีวิตจากภัยน้ำท่วม)
2. การประกันภัยอุบัติเหตุ ส่วนบุคคล คุ้มครองกรณีเสียชีวิตเนื่องจากการจมน้ำหรือถูกน้ำซัดจมหายไป
3. การประกันสุขภาพ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยจากเหตุการณ์น้ำท่วม

สำหรับ การประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน (บ้าน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ) คือ
1. การประกันภัย คุ้มครองผู้ที่ได้ทำประกันอัคคีภัย และ ’ต้องซื้อภัยคุ้มครองภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมไว้“
2. การประกันความเสี่ยงทรัพย์สิน คุ้มครองผู้ที่ได้ทำประกันภัยความเสียหายทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันอันเกิดจากภัยต่างๆ รวมถึงน้ำท่วมด้วย
3. การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คุ้มครองกรณีผู้ประกอบการต้องการปิดกิจการและขาดรายได้จากภัยน้ำท่วมด้วย

ส่วนการประกันภัยรถยนต์ คือ
1. การประกันรถยนต์ คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นหากเสียหายบางส่วนจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย หากรถยนต์เสียหายจนไม่สามารถซ่อมได้หรือความเสียหายที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ร้อยละ 70 ของมูลค่ารถยนต์ บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้
2. การประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่น (นอกจากประเภท 1) คุ้มครองสำหรับรถที่ประกันภัยภาคสมัครใจและได้มีการซื้อประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ด้วยก็จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มในส่วนนี้ตามจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้
3. การประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) คุ้มครองในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บขณะที่ได้รับบาดเจ็บขณะที่ขับขี่หรือโดยสารในรถนั้นเบื้องต้นจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยตาม พ.ร.บ.เป็นค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท กรณีเสียชีวิตได้รับ 35,000 บาท

ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้คำแนะนำแก่ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของรถยนต์ที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ข้อควรปฏิบัติกรณีที่รถยนต์ได้รับความเสียหาย คือหลังจากน้ำลดผู้เป็นเจ้าของรถควรแจ้งความเสียหายต่อบริษัทประกันทราบโดยเร็ว แสดงรายละเอียดของเอกสาร หลักฐาน ที่สำคัญ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แก่บริษัทประกันภัยเพื่อดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (ในกรณีที่เอกสารทำการประกันภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยสูญหายขณะน้ำท่วม สามารถประสานสำนักงาน คปภ.จังหวัดได้ทันที) และนำรถเข้าศูนย์โดยรถยกให้เร็วที่สุด

ที่สำคัญข้อห้ามสำหรับเจ้าของรถเพื่อไม่ให้รถได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น คือ อย่าสตาร์ตรถยนต์ในทันที ควรเปิดฝากระโปรงรถเพื่อสำรวจให้มั่นใจว่าไม่มีเศษอะไรมาติดอยู่ในตัวเครื่อง รวมถึงตรวจเช็กชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆในตัวถัง พร้อมทั้งสายไฟในบริเวณต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ หากไม่มั่นใจให้นำรถเข้าศูนย์โดยรถยกให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่ไม่คาดคิด และอย่าพ่วงไฟควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีระบบไฟฟ้าลัดวงจรที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

นอกจากนี้ทางสำนักงาน คปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัยให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยให้บริการรับแจ้งเหตุและให้คำปรึกษาด้านการประกันภัยรวมถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเจ้าของรถที่ได้รับความเสียหายในการให้บริการรถลาก ซ่อมรถยนต์และการตรวจสภาพรถที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมฟรี ดังนั้นผู้ประสบภัยที่เป็นเจ้าของรถสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัย ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186

ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งโดยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถบรรเทาความเสียหายและความเดือดร้อนทางด้านการเงินได้ด้วยการทำประกันภัย แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือก่อนซื้อประกันภัยควรพิจารณาเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของตัวเอง รวมทั้งตรวจสอบใบอนุญาตตัวแทนหรือนายหน้าจากนายทะเบียนเท่านั้น ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบเอกสารการชำระเบี้ยประกันภัยทุกครั้งเพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งประโยชน์ของตัวเอง.

.............................



วิธีดูแลรถหลังประสบภัยน้ำท่วม

อาจารย์รักชาติ แสงวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์และหัวหน้าศูนย์บริการยานยนต์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความรู้ในการดูแลรักษารถยนต์ที่ผ่านการจมน้ำว่า การสำรวจรถยนต์ที่ผ่านการจมน้ำต้องตรวจดูสภาพโดยรวมว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน จากนั้น ควรเปิดฝากระโปรงรถเพื่อปลดขั้วแบตเตอรี่ออกเพื่อตัดระบบการจ่ายไฟ ที่สำคัญไม่ควรสตาร์ตรถ เพื่อลองเครื่องยนต์เนื่องจากระบบกลไกในรถยนต์รุ่นปัจจุบันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสมองกล ซึ่งระบบเหล่านี้จมน้ำเพียง 5 นาทีก็เกิดความเสียหายได้ ทั้งนี้หากจมน้ำ 1-2 วัน ระบบดังกล่าวอาจเป็นสนิมทำให้ระบบการทำงานเสียหายมาก และที่สำคัญต้องตรวจดูว่าเครื่องยนต์เสียหายมากน้อยแค่ไหน จากนั้น ให้ทำการเป่าหรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้น เพราะในจังหวะที่เราดับเครื่อง กระบอกสูบบางกระบอกยังทำงานอยู่อาจทำให้น้ำเข้าได้ และควรถ่ายน้ำมันทุกชนิดที่อยู่ในรถออกทันที เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ ฯลฯ เพราะน้ำที่ปนกับน้ำมันจะทำให้เกิดสนิม

สำหรับรถยนต์ที่ผ่านการจมน้ำมาควรซ่อมแซมหรือขายทิ้ง อาจารย์รักชาติ แนะนำว่าต้องเอารถไปประเมินสภาพก่อนว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ที่จะนำไปใช้ต่อ โดยปกติค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายจากการจมน้ำมีมูลค่าต่อคันอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท เพราะทุกอย่างเสียหายหมดเหลือแต่โครงรถกับเครื่องยนต์ ซึ่งต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ส่วนเครื่องยนต์ก็ต้องผ่าดูอีกว่ามีน้ำขังอยู่ข้างในหรือเปล่า ถึงแม้จะเสียเงินซ่อมแล้ว สภาพก็ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม เพราะมีอุปกรณ์บางตัวที่ติดอยู่กับรถซึ่งไม่สามารถถอดออกมาเปลี่ยนได้ หากต้องการส่งซ่อมควรใช้บริการศูนย์ของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ หรือส่งซ่อมที่อู่รถที่ได้มาตรฐาน มีผู้เชี่ยวชาญดูแล สำหรับรถยนต์ที่มีประกันชั้นหนึ่ง บริษัทประกันจะรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด โดยบริษัทจะสำรวจว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทประกันด้วย

ส่วนข้อควรระวังในการซื้อรถยนต์มือสองหลังเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อป้องกันการหลอกขายรถยนต์ที่เคยจมน้ำมา คือก่อนตัดสินใจซื้อรถต้องสำรวจดูสภาพโดยรวมก่อน เช่น รถที่ผ่านการจมน้ำเมื่อเปิดประตูเข้าไปจะได้กลิ่นอับ แม้จะซ่อมดีแค่ไหนแต่กลิ่นก็ไม่หาย เพราะน้ำท่วมไม่ใช่น้ำสะอาดต้องใช้เวลานานในการดับกลิ่น และผู้ซื้อควรตรวจสอบระบบจ่ายไฟว่ามีความขัดข้องหรือไม่ แม้จะซ่อมดีแค่ไหน หากรถยนต์ผ่านการจมน้ำมาระบบจะมีข้อบกพร่อง และจุดเด่นที่ต้องสังเกตคือ นอต ที่ใช้ขันเครื่องยนต์ ควรสำรวจดูว่ามีร่องรอยการรื้อหรือเป็นสนิมเพราะผ่านการจมน้ำมาหรือไม่




จาก ..................... เดลินิวส์ วันที่ 17 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม