ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 04-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


รู้จัก 'เก้งเผือกพระราชทาน' แห่งสวนสัตว์สงขลา

รู้จัก 'เก้งเผือกพระราชทาน' แห่งสวนสัตว์สงขลา จากสัตว์หาชมยาก สู่คดี "ลูกเก้งเผือก" หายปริศนา และปมเสียชีวิตของ "สุริยา แสงพงค์" ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์



จากกรณี การเสียชีวิตของ นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลาใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิต วันที่ 3 ต.ค.63 ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณี ลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัว ซึ่งสวนสัตว์สงขลาประสบความสำเร็จเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จากเก้งที่ได้รับพระราชทานจากสมด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้หายไปจากสวนสัตว์อย่างไร้ร่องรอยในช่วงเดือนก.พ.2563

ขณะเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กำลังเร่งสืบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริงเบื้องหลังการฆาตรกรรมครั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะขอพาไปทำความรู้จัก "ลูกเก้งเผือกพระราชทาน" ซึ่งหายไปจากสวนสัตว์สงขลา

โดยลูกเก้งตัวดังกล่าว เป็นสมาชิกล่าสุดของครอบครัวเก้งเผือก ที่เพิ่งเกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 โดยนับตั้งแต่สวนสัตว์สงขลาได้รับพระราชทานเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานมา สามารถเพาะพันธุ์ตัวนี้เป็นรุ่นที่สามแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา ในขณะนั้น ก็ได้แจ้งข่าวดีของการถือกำเนิดของ ลูกเก้งเผือก รุ่นแรกของสวนสัตว์สงขลา ที่คลอดออกมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 โดยมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ลำตัวเป็นสีเผือกอมชมพูทั้งตัว ดูสวยงาม มีพ่อ แม่ กับฝูงเก้งคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ภายในส่วนแสดงเก้ง ณ สวนสัตว์สงขลา

สำหรับเก้งเผือกตัวที่เกิดเมื่อปี 2556 เป็นลูกจากพ่อชื่อเทียน แม่ชื่อศรี โดย "คุณเทียน" (เสียชีวิตแล้ว) เป็นทายาทของ "คุณเพชร" เป็นเก้งเผือกพระราชทานที่สมด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานให้กับสวนสัตว์ดุสิตนำไปเลี้ยง และได้แพร่ขยายพันธุ์ไปสู่สวนสัตว์แห่งต่างๆ

โดยที่สวนสัตว์สงขลานี้ จากข้อมูลขององค์การสวนสัตว์ได้ระบุจำนวน ครอบครัวเก้งเผือกพระราชทาน ซึ่งอยู่ที่สวนสัตว์สงขลา ทั้งสิ้น 5 ตัว (นับรวมตัวที่หายไป) โดย เนชั่นทีวี ได้รายงานรายละเอียดถึงครอบครัวเก้งเผือกพระราชทาน ณ สวนสัตว์ จังหวัดสงขลา ว่า มี 3 รุ่น ตัวแรก คือ คุณเทียน (ลูกคุณเพชร) ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งคุณเทียนเสียชีวิตก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนรุ่นที่ 2 คือ คุณมูมู่ เป็นเพศผู้ และรุ่นที่ 3 คือ คุณภูมิ และ คุณภาค

ปัจจุบันสวนสัตว์สงขลา เหลือเพียงคุณมูมู่เพียงตัวเดียว ส่วนคุณภูมิหายไปจากส่วนจัดแสดงเมื่อเดือน ก.พ. ขณะที่คุณภาค หายไปเมื่อเดือน ก.ย. แต่มีหลักฐานชัดเจนว่า ถูกงูเหลือมกิน

สำหรับความพิเศษของ "เก้งเผือก" นั้นจะแตกต่างจากเก้งทั่วไปที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ ศรีลังกา อินเดีย

ขณะที่เก้งทั่วไป จะพบเจอได้ง่าย แต่ "เก้งเผือก" จะชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว หากินตอนเย็นถึงเช้าตรู่ นิสัยปราดเปรียว กลางวันหลบซ่อนตามพุ่มไม้ เวลาตกใจจะส่งเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัยหอน

ทั้งนี้ เก้งเผือกจะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ตั้งท้องนาน 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว อายุยืนได้ราว 15 ปื และกินหญ้า ใบไม้ ผลไม้เป็นอาหาร




รู้จัก "เก้งเผือก" /Albino Barking Deer (Muntiacus muntjak)

ข้อมูลสัตว์ชื่อภาษาไทย / เก้งเผือกชื่อภาษาอังกฤษ / Albino Barking Deerชื่อทางวิทยาศาสตร์ / Muntiacus muntjak

สิ่งที่น่าสนใจ : เหมือนเก้งธรรมดาแต่มีสีขาวปลอดทั้งตัว

ถิ่นอาศัย : พบในอินโดจีน อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ ศรีลังกา อินเดีย

อาหาร : เก้งเผือกกินหญ้า ใบไม้ และผลไม้

พฤติกรรม : ปกติชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว หากินตอนเย็นถึงเช้าตรู่ กลางวันหลบนอนตามพุ่มไม้ ปราดเปรียว เวลาตกใจจะส่งเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า

สถานภาพปัจจุบัน : สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์

อายุเฉลี่ย : อายุยืนราว 15 ปี

วัยเจริญพันธุ์ : เก้งเผือกเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูหนาว ตั้งท้องนาน 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว


ปัจจุบัน สามารถเข้าชมเก้งเผือก ได้ในสวนสัตว์ 4 แห่งได้แก่

- สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
- สวนสัตว์เชียงใหม่
- สวนสัตว์ขอนแก่น
- สวนสัตว์สงขลา


https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/900724


*********************************************************************************************************************************************************


อย่าให้ 'สิ่งแวดล้อม' ตกเป็นเหยื่อการพัฒนา ..................... โดย เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คอลัมน์ หน้าต่างความคิด



ทุกการพัฒนามักส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทางเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ซัพพลอตว่าการพัฒนาเมืองดำเนินไปจนทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นไปจุดสูงสุดของโดม จากนั้นเมื่อประเทศพัฒนาแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมจะลดลงเรื่อยๆ เอง หากเป็นเช่นนั้นเราจะทนรับได้แค่ไหน?

ช่วงนี้มีข่าวปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก "การพัฒนา" ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ ปัญหาควันไฟที่ภาคเหนือ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม หากมองย้อนกลับไปในช่วงสิบปีมานี้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็เป็นข่าวเล็ก บางครั้งก็เป็นข่าวใหญ่ หรือไม่เคยได้เป็นข่าวเลยก็มี

ราวสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปกำลังเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมในประเทศเหล่านี้เสื่อมโทรมถึงขีดสุด ในบางพื้นที่ควันจากถ่านหินบดบังท้องฟ้าจนแทบไม่มีแสงแดดส่องลงมา ประชาชนต้องหายใจเอาอากาศเสียเข้าไปทุกวัน แม่น้ำหลายสายปนเปื้อนไปด้วยมลพิษ จนแทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนอยู่ได้เลย

ตอนนี้ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้กลายเป็นประเทศแนวหน้าทางเศรษฐกิจของโลก บ้านเมืองมีการพัฒนา สภาพแวดล้อมดีน่าอยู่อาศัย ดูไปแล้วประหนึ่งว่าการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การตกระกำลำบากของหลายในรุ่นก่อนๆ ก็คือต้นทุนในการพัฒนาประเทศให้มาถึงจุดที่อยู่ ณ วันนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดที่เรียกว่า "เส้นโค้งคุซเน็ทซ์" (Kuznets curve) แนวคิดนี้เสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเป็นกราฟเส้นโค้งรูปโดม โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่เปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม ช่วงนี้เป็นการไต่ขึ้นไปบนยอดโดม ความสูงของโดมคือระดับปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศ เวลาที่ใช้ในการปีนขึ้นไปให้ถึงยอด คือเวลาที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ เมื่อเวลาผ่านไปประเทศพัฒนามากขึ้นรายได้ต่อหัวโดยจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

ช่วงต้นของการพัฒนา ประเทศยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักร คนในประเทศมีคุณภาพไม่สูง ขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี และประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ การจะพัฒนาประเทศจึงต้องเริ่มจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ มีการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ ขุดเอาแร่ธาตุทรัพยากรในดินไปขาย เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในการสะสมทุน โดยการซื้อเครื่องจักรเครื่องมือ ลงทุนในการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้เองช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจจึงมักเกิดขึ้นควบคู่กับปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเลยตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศมีการพัฒนาถึงระดับหนึ่ง ปัญหาสภาพแวดล้อมก็จะค่อยๆ ลดลงไปเอง เนื่องจากเมื่อประชากรมีความกินดีอยู่ดี มีการศึกษา พวกเขาจะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิต เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมน้อยลง จะส่งผลให้ปัญหาสภาพแวดล้อมลดลงตามไปด้วย ช่วงนี้จึงเป็นการไต่ลงจากโดม

ลองสมมติกันว่ามีผู้นำประเทศประเทศหนึ่งบอกว่า "ตอนนี้ประเทศพัฒนามาแล้วประมาณหกสิบกว่าปี เราก็น่าจะเกือบถึงจุดยอดของเส้นโค้งคุซเน็ทซ์แล้ว แค่ยอม "อดทน" กับปัญหาสิ่งแวดล้อมไปอีกสักสิบยี่สิบปี เดี๋ยวสภาพแวดล้อมในบ้านเมืองเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ถ้าตอนนี้ท่านอายุสักสามสิบปลายๆ พอเกษียณ ท่านก็จะได้อยู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว รถไม่ติด หายใจหายคอได้คล่อง ปลูกผักทำสวนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่า เพราะถึงตอนนั้นประเทศจะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล"

ท่านจะยอมอดทนขนาดนั้นหรือไม่? คงมีไม่กี่คนที่จะใจเย็นได้นานขนาดนั้น ในความเป็นจริง ระบบนิเวศมีขีดจำกัดในการรับมือกับปัญหาสภาพแวดล้อม เมื่อใดที่ปัญหานี้เกินกว่าขีดจำกัดของระบบ ระบบจะล้มเหลวไม่สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก จนบัดนี้ยังไม่มีเครื่องมืออะไรมาวัดได้อย่างแม่นยำว่า ระบบนิเวศแต่ละแห่งมีขีดจำกัดอยู่ระดับไหน พอวัดไม่ได้ก็เลยไม่ใส่ใจเท่าที่ควร แกล้งปิดตาทำเป็นมองไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม

ปัญหานี้จะหวังพึ่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมากกว่าการออกกฎระเบียบข้อบังคับ สิ่งที่ต้องสร้างอย่างเร่งด่วนคือจิตสำนึกร่วมกันด้านการรักษาสภาพแวดล้อม เปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน เพื่อให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดและฝ่ายการเมืองให้ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังในที่สุด

ที่ผ่านมา ทิศทางการพัฒนาของบ้านเรากำลังวิ่งไปตามครึ่งแรกของเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ แต่ระบุได้ยากว่าเราอยู่ในช่วงไหนของเส้นโค้งแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าอีกนานแค่ไหนจะถึงจุดยอดของเส้นโค้ง อย่าลืมว่ายิ่งไต่ขึ้น สภาพแวดล้อมก็เสื่อมโทรมมากขึ้น

ใครจะไปรู้ว่าเราจะถึงยอดโดมแล้วไต่ลงมาได้ก่อนหรือสภาพแวดล้อมจะถึงกาลวิบัติก่อน หากเป็นกรณีหลัง ถึงแม้วันนั้นเรามีเงินเต็มห้องทองเต็มบ้าน แต่ต้องนั่งป่วยกระเสาะกระแสะเพราะสารพัดโรค ลูกหลานเกิดมาพิกลพิการ จะออกจากบ้านสวมหน้ากากกรองอากาศ มันจะคุ้มกันหรือไม่?


https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/900780

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 04-10-2020 เมื่อ 04:20
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม