ดูแบบคำตอบเดียว
  #9  
เก่า 08-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


พฤติกรรมกินพี่น้องร่วมท้องของตัวอ่อน อาจทำให้ฉลามยักษ์ "เม็กกาโลดอน" มีขนาดมหึมา


เม็กกาโลดอนซึ่งเรียกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์แห่งเผ่าพันธุ์ฉลาม เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 3-23 ล้านปีก่อน ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ สันนิษฐานว่า การที่ฉลามยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์ "เม็กกาโลดอน" มีขนาดมหึมาจนกลายเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเลนั้น อาจเป็นผลมาจากการที่ตัวอ่อนซึ่งกำลังเติบโตอยู่ในมดลูกของแม่ปลามีพฤติกรรมกินไข่ใบอื่น ๆ ที่ยังไม่ฟักในท้องแม่

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Historical Biology โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดอโปล ในนครชิคาโก ของสหรัฐฯ ค้นพบเรื่องนี้ระหว่างการศึกษาเรื่องขนาดที่แท้จริงของฉลามเม็กกาโลดอน โดยใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบขนาดและรูปทรงฟันของฉลามเม็กกาโลดอน ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว กับฉลามที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันในกลุ่มเดียวกันที่เรียกว่า "อันดับปลาฉลามขาว" (lamniform sharks) อาทิ ฉลามขาว (Carcharodon carcharias), ฉลามบาสกิน (Cetorhinus maximus), ฉลามเมกาเมาท์ (Megachasma pelagios) และฉลามมาโก (Isurus spp.) เป็นต้น

ศาสตราจารย์เคนชู ชิมาดะ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดอโปล หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นชัดเจนว่าฉลามเม็กกาโลดอนมีขนาดใหญ่โตเพียงใด

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนขนาดและรูปร่างของฉลามเม็กกาโลดอนโดยประเมินจากฟอสซิลฟันที่พบ ว่าน่าจะมีลำตัวยาวประมาณ 16-18 เมตร เท่ากับรถเมล์สองชั้นจำนวนสองคันต่อกัน และอาจมีน้ำหนักได้ถึง 100 ตัน



การที่โครงกระดูกของฉลามส่วนใหญ่เป็นกระดูกอ่อน ทำให้แทบไม่หลงเหลืออวัยวะที่แข็งพอจนสามารถกลายเป็นฟอสซิลหลงเหลือมาให้เราศึกษาได้ ด้วยเหตุนี้การคาดคะเนว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างอย่างไรแน่จึงทำได้ยาก

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ชิมาดะ และคณะยังตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเชื่อมโยงด้านปัจจัยทางชีวภาพของเม็กกาโลดอน ที่จัดอยู่ในกลุ่มของ "อันดับปลาฉลามขาว" กับพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตัวอ่อนฉลามชนิดนี้ที่เติบโตในมดลูกแม่ปลา

ทีมนักวิจัยชี้ว่า ปลาขนาดใหญ่ในอันดับปลาฉลามขาวมักมีระบบเผาผลาญพลังงานที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นกว่าปลาทั่วไป ทำให้พวกมันว่ายน้ำได้ว่องไวกว่า และสามารถล่าเหยื่อที่ตัวใหญ่และให้พลังงานได้มากกว่า



ฟันขนาดใหญ่ที่สุด 3 ซี่เป็นของเม็กกาโลดอน ส่วนที่เหลือเป็นของฉลามในยุคปัจจุบัน ที่มาของภาพ,SCIENCE PHOTO LIBRARY

นอกจากนี้ การที่ฉลามกลุ่มนี้มีระบบสืบพันธุ์แบบออกลูกเป็นตัวที่เรียกว่า ovoviviparity ซึ่งตัวอ่อนจะพัฒนาขึ้นภายในไข่ที่ยังคงอยู่ในร่างกายของแม่จนกว่าจะพร้อมฟักออกจากไข่แล้วจึงคลอดออกมาเป็นตัว แต่ในกรณีของปลาฉลามกลุ่มนี้มักพบว่าลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวแรกมักมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันเองภายในมดลูก (intrauterine cannibalism) โดยจะกินไข่ใบอื่นที่ยังไม่ฟัก หรือแม้แต่ตัวอ่อนที่ฟักออกมาในภายหลัง

ทีมนักวิจัยระบุว่า พฤติกรรมกินพวกเดียวกันทำให้ลูกปลาดังกล่าวมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ยังไม่คลอดออกจากท้องแม่ และผลักดันให้แม่ปลาต้องกินอาหารเพิ่มขึ้นสำหรับลูกในท้องที่หิวโหย ส่งผลให้แม่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่ลูกปลาคลอดออกมาก็จะมีขนาดใหญ่จนสามารถปกป้องตัวเองจากสัตว์นักล่าชนิดอื่นได้

นักวิจัยบอกว่า พฤติกรรมดังกล่าวบวกกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น การอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสม และความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปลาในอันดับปลาฉลามขาว เช่น เม็กกาโลดอน มีขนาดมหึมาได้


https://www.bbc.com/thai/features-54426447
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม