ดูแบบคำตอบเดียว
  #10  
เก่า 08-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ขยะพลาสติก: เกิดอะไรขึ้นเมื่อไทยยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ
........... โดย สมิตานัน หยงสตาร์ ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย


ที่มาของภาพ,REUTERS

เมื่อสองปีก่อน รัฐบาลจีนได้ออกประกาศด่วนเรื่องห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศหลังจากพบว่าขยะกำลังล้นประเทศ เมื่อจีนห้ามนำเข้า บรรดาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลก็ย้ายเส้นทางมาสู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การนำเข้าขยะพลาสติกของไทยในปี 2561 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจาก 69,500 ตันในปีก่อนที่จีนจะห้ามนำเข้าขยะ เป็นกว่า 552,912 ตัน และยังพบการลักลอบนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก

การทะลักเข้ามาของขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ประกอบกับปัญหาขยะที่มีอยู่เดิมในประเทศ ทำให้รัฐบาลประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2561 พร้อมกับกำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป

ก่อนวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นเส้นตายการห้ามนำเข้าขยะจะมาถึง เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการรีไซเคิลที่นำเข้าขยะว่าให้ขยายเวลาออกไป โดยให้เหตุผลว่าขยะภายในประเทศนั้นมีไม่เพียงพอและไม่ตรงตามความต้องการในการรีไซเคิล

ความเคลื่อนไหวจากฝั่งผู้ประกอบการทำให้ประชาชนและนักสิ่งแวดล้อมรณรงค์ในโลกออนไลน์โดยใช้แฮชแท็ก #แบนขยะพลาสติก กดดันให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกตามกำหนดเดิม ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ

กรมโรงงานอุตสาหกรรมยืนยันกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ใบอนุญาตนำเข้าขยะได้สิ้นสุดลงแล้วทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบการที่เคยมีใบอนุญาตนำเข้าขยะจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าภายใต้มาตรา 152 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร ที่อนุญาตการนำเข้าในกรณีเฉพาะ

บีบีซีไทยสำรวจปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการคัดแยกขยะ และผู้ประกอบการรีไซเคิลว่าปรับตัวและรับมือกับการนำห้ามนำเข้าขยะนี้อย่างไร


วงษ์พาณิชย์: ขยะในประเทศเพียงพอแน่นอน

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด ซึ่งคร่ำหวอดในวงการนี้จนได้รับฉายาว่า "ราชาขยะ" ให้ข้อมูลว่าการยกเลิกนำเข้าขยะส่งผลให้ราคาขยะในประเทศสูงขึ้นทันที ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาคัดแยกขยะขายมากขึ้น นับว่าเป็นผลดีต่อการจัดการขยะโดยรวม

เขาบอกว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเหมือน "ถังขยะโลก" เนื่องจากนำเข้าขยะจากนานาประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น "ขยะนำเข้า" ยังทำให้ราคาขยะที่รีไซเคิลได้อย่างเช่นพลาสติกและกระดาษในประเทศต่ำลงอย่างมาก

"ก่อนหน้านี้เรากำลังเดินไปในทางที่ดี มีการออกนโยบายให้มีการคัดแยกขยะต้นทาง ส่งเสริมให้มีธนาคารขยะที่โรงเรียน วัด เด็กนักเรียนก็สนใจแยกขยะ กินเสร็จแยกเลย นี่สมบัติของหนูของมีค่า แต่พอขยะมันล้น ราคาตก ใครจะอยากแยกอยากขาย" ดร.สมไทยกล่าวกับบีบีซีไทย

เขาย้ำว่าการแยกขยะ-เก็บขยะขายเป็นงานที่สร้างรายได้ให้คนจำนวนมาก เช่น ซาเล้งหรือชาวบ้านทั่วไปซึ่งเป็นอาชีพพิเศษที่ไม่ค่อยมีในประเทศอื่นที่ใช้ระบบคัดแยกขยะต้นทางโดยครัวเรือนต้องจ่ายค่าบริการเก็บขยะในอัตราที่สูง


ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

ผู้บริหาร บ.วงษ์พาณิชย์มองว่าการนำเข้าขยะจากต่างประเทศทำให้ธุรกิจคัดแยกและขายขยะที่สร้างรายได้ให้คนหาชาวกินค่ำและเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการขยะชะงักลง อีกทั้งยังทำให้ขยะในประเทศมีคุณค่าและมูลค่าลดลง แต่เมื่อยกเลิกการนำเข้าขยะ ขยะในประเทศจึงมีราคาสูงขึ้น

"ขยะพลาสติกจาก 10 บาท ราคาลงเหลือกิโลละ 2-3 บาท ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็นกิโลละ 9 บาทในพริบตาเดียว ส่วนกระดาษที่ลงไปเหลือกิโลละ 50 สตางค์ จนซาเล้งไปชูป้ายจะอดตายแล้วหน้ากระทรวงพาณิชย์ วันนี้ราคาขึ้นมาเป็นกิโลละ 5 บาทกว่าแล้ว"

"สิ่งสำคัญที่สุดคือเกิดแรงบันดาลใจในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ขยะแพงคือเส้นทางของการสร้างแรงจูงใจ" เขาให้ความเห็น

"จริง ๆ แล้วโลกใบนี้ไม่มีขยะเลย ขยะเป็นเพียงทรัพยากรที่ไว้ผิดที่เท่านั้นเอง ถ้าภาครัฐสร้างกลไกที่ถูก มันก็เป็นทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรม สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" เขากล่าวเสริม

ส่วนความกังวลของผู้ประกอบการรีไซเคิลบางรายที่ห่วงว่าเมื่อห้ามนำเข้าแล้วขยะในประเทศจะไม่เพียงพอ นั้น ดร.สมไทยยืนยันว่าปริมาณขยะในประเทศ "เพียงพอต่อกระบวนการรีไซเคิลอย่างแน่นอน" โดยให้ข้อมูลสนับสนุนว่าขณะนี้ไทยผลิตขวดน้ำพลาสติกประมาณ 386,000 ตันต่อปี โรงงานรีไซเคิลรับซื้อไปได้เพียง 260,000 ตันต่อปี ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับซื้อทั้งหมด

"ถามว่าวัตถุดิบจากการแยกขยะในไทยพอที่จะส่งป้อนโรงงานได้ไหม ผมบอกว่าเกินพอครับ บางทีเราไปส่งของ โรงงาน (รีไซเคิล) บอกให้เราจอดรอ แล้วเอาขยะที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้าไปก่อนเป็นร้อยตู้ บางครั้งให้เรารออยู่ 4-5 วัน เดินออกมาบอกว่าตอนนี้ราคา (ขยะ) ลงแล้วจะขายหรือไม่ขาย ไม่ขายก็เอากลับไปก่อน" ดร.สมไทยเล่าประสบการณ์ตรงในการขายขยะให้โรงงานรีไซเคิล

แม้ว่าการห้ามนำเข้าขยะจะเป็นข่าวดี แต่ ดร.สมไทยยังคงกังวลเรื่องการลักลอบนำเข้าขยะ เพราะที่ผ่านมามีการสำแดงเท็จในหลายกรณี อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังใช้ระบบการสุ่มตรวจ ซึ่งเขามองว่าเป็นช่องว่างที่ต้องแก้ไขต่อไป


มูลนิธิบูรณะนิเวศ: "มันคืออาชญากรรม"

มูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกาะติดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมและการลักลอบนำเข้าขยะมาอย่างต่อเนื่อง แสดงความกังวลเรื่องปัญหาลักลอบนำเข้าขยะและการจัดการ "อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม" ของรัฐไทยที่ยังมีช่องโหว่เช่นกัน

นายอัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิจัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องติดตามเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าขยะ และผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงมาตรการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

เขาเสนอว่า เมื่อพบว่ามีการลักลอบนำเข้าขยะหรือการสำแดงเท็จ นอกจากจะเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องมีการผลักดันขยะนั้นออกนอกประเทศ และควรยกเลิกการนำขยะที่สำแดงเท็จมาประมูล


ที่มาของภาพ,บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)

นายอัครพลอธิบายว่าในการนำเข้าสินค้าจะมีหมายเลขพิกัดอ้างอิงและรายละเอียดแนบท้ายในการสำแดง แต่ที่ผ่านมามีการสำแดงเท็จเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหากตรวจพบเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอายัดขยะเหล่านั้นไว้และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะมาประมูลออกไปใช้ได้หากไม่มีผู้มาแสดงตนเป็นเจ้าของภายใน 60 วัน

"ของมันถูกอายัดมาด้วยคุณภาพไม่ดี ปนเปื้อน ถูกจับ แต่ทำไมของที่ไม่ดีเพราะไม่มีคุณภาพ ถึงสามารถเข้าสู่กระบวนการนำออกไปได้อีก" เขาตั้งคำถาม

"มันคืออาชญากรรม" นายอัครพลกล่าวพร้อมกับบอกว่าไทยกำลังเป็น "สวรรค์ของการทิ้งขยะ" จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นช่องทางในการผลักดันขยะออกนอกประเทศตัวเอง

นักวิจัยรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเทศในภูมิภาครวมทั้งไทยและกัมพูชาพบปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบกับระบบการติดตามเรือสินค้าที่ยังมีช่องโหว่ ทำให้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะไม่หวนกลับเข้ามาเพื่อทำการสำแดงใหม่อีก

นายอัครพลสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเรื่องการลดและคัดแยกขยะต่อไป ควบคู่ไปกับการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ หากพบว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าขยะเข้ามาในประเทศ ก็อาจต้องดำเนินการฟ้องร้อง


ผู้ประกอบการยอมรับและปรับตัว

นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล คือผู้รีไซเคิลขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นขวดพลาสติกใสรายใหญ่ของไทยกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลมีมาตรการห้ามนำเข้าขยะออกมาเช่นนี้ ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวตาม

นายโจนส์กล่าวว่าไอวีแอล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ได้วางแผนเพิ่มการใช้ขยะพลาสติกในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง


ที่มาของภาพ,บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)

นายโจนส์อธิบายว่าไอวีแอลเน้นการรีไซเคิลพลาสติก PET เพื่อแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์และเส้นใย โดยใช้ขวดพลาสติกนำเข้าไม่เกิน 10% ของการผลิตทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติกที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เพราะผ่านการทำความสะอาดจากต้นทางที่ดี และมีการปนเปื้อนต่ำ

เขากล่าวว่า การห้ามนำเข้าขยะจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะต่างกันออกไป แต่สำหรับไอวีแอลนั้นได้รับผลกระทบไม่มากนักเพราะคนไทยมีการคัดแยกขวดพลาสติกกว่า 85% ของทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างสูงเทียบเท่ากับนานาชาติ นี่จึงเป็นเหตุให้กำลังการผลิตของไอวีแอลยังคงเดินหน้าต่อได้ แต่ยอมรับว่าอาจกระทบต่อการขยายกิจการ

"มันมีผลกระทบเพียงแค่การลงทุนใหม่ เพราะถ้านำเข้า (ขยะพลาสติก) ไม่ได้ ก็ยากที่จะขยายการลงทุน"

นายโจนส์กล่าวว่า ปริมาณขยะพลาสติกที่ทางบริษัทต้องการขณะนี้ยังคงเพียงพอที่จะป้อนสายพานการผลิต แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของขวดพลาสติกไทยคือยังคงพบการปนเปื้อนจากการใช้งาน เช่น การนำไปเขี่ยก้นบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งคนทั่วไปอาจจะต้องตระหนักถึงการใช้งานลักษณะนี้หากต้องการนำกลับมารีไซเคิล

เขายังเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทบทวนประกาศเรื่องการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกที่ใช้แล้วมาบรรจุอาหาร เนื่องจากขณะนี้กระบวนการผลิตได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ และหลายประเทศในยุโรปก็อนุญาตให้ใช้ได้แล้ว ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจึงไม่สามารถขายในประเทศได้และต้องส่งออกทั้งหมด

ไอวีแอลมองว่าหาก สธ. อนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ ราคาขยะพลาสติกในประเทศก็อาจปรับสูงขึ้นอีก


https://www.bbc.com/thai/thailand-54445023
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 08-10-2020 เมื่อ 09:11
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม