ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 21-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ขยะติดเชื้อ? แผลใหม่จากอุบัติโรคระบาด หรือแค่เปิดแผลเก่า? ...................... โดย ณิชา เวชพานิช

State Quarantine ดันปริมาณขยะติดเชื้อพัทยาเพิ่มขึ้น 3 เท่า ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ย้ำปลอดภัยทุกขั้นจัดการ ด้านบริษัทเก็บขยะเผย ต้องขนไปเผาไกลระยองและนครสวรรค์ เพิ่มความเสี่ยงเชื้อระบาด สะท้อนปัญหารากลึกขยะติดเชื้อไทย

"กล่องข้าว ถุงแกง ซองเครื่องปรุง แพ็คเกจจิ้งใส่ผลไม้ ช้อนส้อม ของทุกอย่างใส่ถุงพลาสติกมาวางหน้าห้อง อาหาร 3 มื้อ ส่งถึงหน้าประตู 14 วัน"

พีร์ สุทธิศรีปก โพสรูปกล่องพลาสติกตั้งสูงเป็นหอคอยอวดเพื่อนบนเฟซบุ๊ก เขาเข้ากักตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเปิดเป็นพื้นที่กักกันตัวแห่งรัฐ (State Quanrantine) หลังจากเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา

14 วันผ่านไปด้วยดี เขาทิ้งความกังวลต่อ "โรค" ไว้ข้างหลัง แต่ไม่วายอดเป็นห่วงถึง "โลก" ข้างหน้า เพราะระหว่างนั้น เขาได้สร้างขยะไม่ต่ำกว่า 300 ชิ้น

ภาชนะบรรจุอาหารที่ผ่านมือพีร์และผู้กักตัวคนอื่นๆ จะถูกตีว่าเป็น "ขยะติดเชื้อ" และไม่ได้นำไปรีไซเคิลเหมือนขยะพลาสติกทั่วไป แต่ถูกจัดเก็บแบบพิเศษเพื่อส่งสู่เตาเผา ตามหลักป้องกันไว้ก่อน เป็นการป้องกันการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้สุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

สำนักสิ่งแวดล้อมพัทยาเผยว่า ผู้กักตัว 1 คน จะสร้างขยะติดเชื้อวันละ 0.7-0.9 กิโลกรัม

มีผู้ทยอยเดินทางเข้ากักตัวเรื่อยๆ วันหนึ่งมีผู้เข้าพักสูงถึง 3,000 คน กล่าวได้ว่า วันนั้น มีขยะติดเชื้อราว 3,000 กิโลกรัมที่ต้องจัดการ ? เทียบเท่ากับปริมาณที่เมืองพัทยาผลิตในภาวะปกติ 1 เดือน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า


ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากการกักตัวใน State Quarantine พัทยา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม

ปริมาณขยะติดเชื้อทั่วประเทศก็มีสัดส่วนสูงขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากกรมอนามัยเผยว่า ช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการก่อขยะติดเชื้อราว 147,770 กิโลกรัมต่อวัน หรือสูงขึ้นจากช่วงเวลาปกติ 1,900 กิโลกรัม

ในด้านการรับมือขยะติดเชื้อ ประเทศไทยเรายังชนะอยู่หรือเปล่า


ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อช่วงโควิด-19 ระบาด พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม


ขยะติดเชื้อ ? ห้ามเปิด ห้ามคัด ห้ามลัดขั้นตอน

ปัจจุบัน เพราะประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อท้องถิ่นเลยติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 State Quarantine ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงทยอยปิดทำการ ย้ายศูนย์กลางการเฝ้าระวังเชื้อโรคมาอยู่ที่พัทยาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน มีโรงแรม 12 แห่งเปิดให้บริการเป็นศูนย์พัก

"ขยะติดเชื้อเป็นขยะที่น่ากลัว เพราะหากมีเชื้อโรคอยู่จะเป็นแหล่งแพร่กระจาย เลยจะส่งไปฝังกลบเหมือนกับมูลฝอยชุมชนไม่ได้ ต้องส่งไปเผาทำลายเท่านั้น"

สุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา ชี้แจ้ง พร้อมให้ความมั่นใจว่า ชาวไทยไม่ต้องกังวล ขยะจาก State Quarantine ถูกจัดการด้วยดี

ทุกวัน ผู้กักตัวจะได้รับแจกถุงสีแดงสำหรับใส่ขยะ 2 ใบ ใส่ขยะนำมาวางไว้หน้าห้องให้แม่บ้านรวบรวมใส่ถังที่มีสีแดงเช่นกันเพื่อแสดงว่าเป็นขยะอันตราย ถังจะถูกปิดฝาทองแดง เอากระดาษกาวคาด ขนขึ้นรถขนถ่าย ส่งไปที่เตาเผา เมื่อขยะเดินทางถึงแหล่งกำจัด จึงเอามีดกรีดเทป ส่งถังขึ้นระบบเตาเผาทำลายซึ่งทำงานอัตโนมัติ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อถัง ส่งกลับมาเข้าสู่กระบวนการอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ เรียกว่า ?ระบบขนแบบเปลี่ยนถัง? ที่เจ้าหน้าที่เก็บขยะไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่งคนกักตัว 100%

ขั้นตอนขนส่งเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่ต้องคำนึง สุธีร์ ยืนยันว่า ไม่เคยมีเจ้าพนักงานเก็บขยะที่ติดโควิด-19 ระหว่างปฏิบัติงานอย่างที่หลายคนกังวล

เช่นเดียวกับคำตอบของ ณัฐวุฒิ บุรารักษ์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทรับจัดการขยะติดเชื้อเอกชนประจำจังหวัดชลบุรี "มีสไนติงเกล" ที่ได้เข้ามาร่วมดูแลงานเบื้องหลังของสงครามโควิด

"ช่วงโควิดขยะติดเชื้อถูกทำให้ดูน่ากลัวกว่าปกติไป แต่จริงๆ แล้วเรารับมือกับมันเหมือนกับการจัดการขยะติดเชื้อที่ทำประจำอยู่ทุกวัน เวลาจัดเก็บ เจ้าหน้าที่ของเราจะทำงานอย่างรัดกุม ผ่านการอบรมวิธีจัดเก็บและทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน จะสวมชุด PPE (อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง) เปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง"

ขยะจาก State Quarantine พัทยาจะถูกส่งไปเผากำจัดที่ระยองและนครสวรรค์ ปัจจุบัน แม้ยังไม่พบปัญหาอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะทางขนที่ไกลขึ้น ย่อมเพิ่มความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรคมากขึ้นตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการป้องกันต่างๆ บกพร่อง เช่น รถขนส่งไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศควบคุมอุณหภูมิในรถให้ต่ำกว่า 10 องศา เพื่อกันการแพร่ระบาดเชื้อ นำมาสู่คำถามว่า?ทำไมไม่จัดการให้จบกระบวนการเลยในพื้นที่?


เจ้าหน้าที่เก็บขยะห้างหุ้นส่วนจำกัดมีสไนติงเกลกำลังเก็บขยะติดเชื้อ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระราชเทวี ณ ศรีราชา ชลบุรี / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช


การเดินทางไกลของขยะติดเชื้อ

กรมอนามัย กำหนดว่าขยะติดเชื้อโควิด รวมถึงขยะติดเชื้อทางการแพทย์อื่นๆ นั้นต้องเผากำจัดในเตาเผาเพราะว่าเป็นวิธีทำลายเชื้อโรคที่ดีที่สุด โดยผ่านเตาเผา 2 ห้อง ได้แก่ ห้องเผาขยะติดเชื้อ (อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส) และห้องเผาควัน (อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส) หลังจากเผาเสร็จจะได้ขี้เถ้าที่ไร้เชื้อโรคแล้ว สามารถนำไปฝังกลบเหมือนกับขยะทั่วไป

โรงเผาที่มีใบอนุญาตให้เผาขยะติดเชื้อในไทยได้นั้นมีอยู่จำกัด ขยะติดเชื้อเลยต้องเดินทางไกล เช่น ภาคใต้ตอนล่าง โรงกำจัดที่ยะลาเพิ่งเปิดทำการเมื่อปีพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้จึงต้องขนใส่รถมาโรงเผาที่นครสวรรค์ ส่วนภาคตะวันออกมีที่เดียว คือ เตาเผาขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นระยอง

ก่อนหน้านี้ หลายพื้นที่มีเตาเผาของตนเอง ทว่าเมื่อพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้างและต้นทุนการดำเนินการที่สูง ทำให้หลายพื้นที่ตัดสินใจปิดประตูลงกลอนเตาเผา ทั้งหน่วยงานท้องถิ่นและโรงพยาบาล

"สมัยก่อนเมื่อสิบปีก่อน โรงพยาบาลก็เผาเอง ค่าใช้จ่ายน้อย แต่มันลำบาก เพราะต้องมีการตรวจมาตรฐานและชุมชนรอบข้างบ่นเลยต้องยกเลิก ใจจริงผมอยากให้ทุกจังหวัดมีเตาเผาของตนเอง เพื่อลดต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาล โรงบาลต้องจ่ายค่าจัดการขยะติดเชื้ออย่างเดียว 4 ล้านบาททุกปี"

พงศ์ธรรม นวมานกร ฝ่ายบริหารอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาล ชลบุรี กล่าว มูลฝอยติดเชื้อโรงพยาบาลมีทุกวัน และสถานพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (PPP: Polluters Pay Principle) เป็นทั้งประเภทขยะติดเชื้อทั่วไป (ต้นทุนจัดเก็บกิโลกรัมละ 15 บาท) และขยะอันตรายทางการแพทย์ซึ่งเป็นขยะที่เสี่ยงปนเปื้อนโรคยิ่งกว่า (ต้นทุนจัดเก็บกิโลกรัมละ 50 บาท) เงินส่วนนี้ มองดูเป็นหลักกิโลกรัมอาจไม่มาก หากคำนวณเป็นรายจ่ายทั้งหมดประจำปี สามารถนำไปใช้จ่ายกับงานส่วนอื่นๆ ได้ เช่น นำไปซื้อเครื่องกระตุกหัวใจใช้ในการแพทย์

เมืองพัทยาเองก็เคยมีเตาเผาขยะติดเชื้อของตนเองเช่นกัน แต่ได้ยกเลิกไป เพราะต้นทุนจัดการสูง สุธีร์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมพัทยา อธิบายถึงแนวทางพัฒนาระบบขยะติดเชื้อของไทย

"ทุกจังหวัดไม่ได้ผลิตขยะติดเชื้อปริมาณมาก จึงสามารถรวมกับพื้นที่รอบข้างเพื่อจัดการรวมกัน เป็นระบบจัดการขยะแบบรวมศูนย์ในภูมิภาค (Cluster) สอดคล้องกับแผนแม่บทปีพ.ศ.2563 ของกรมควบคุมมลพิษ ที่วางไว้ว่าจะแบ่งพื้นที่จัดการออกเป็น 21 ศูนย์ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อทั่วประเทศ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นระยองเป็นศูนย์รวมขยะภาคตะวันออก ทั้งประหยัดงบ ทั้งควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมง่าย แต่ปัจจุบันยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์"


(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม