ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 23-04-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


หรือโรคระบาดเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ?

.... โดย Lia Patsavoudi ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัย เวสท์ แอทติกา และอาสาสมัครของกรีนพีซ กรีซ

ตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และยังมีแนวโน้มว่าโรคระบาดครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียมากมายให้กับทุก ๆ ภาคส่วน


เนื้อหาโดยสรุป

- สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม

- การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรอุตสาหกรรม การทำเหมือง ไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ

- หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้
พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์

Lia Patsavoudi ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเวสท์ แอทติกา ในประเทศกรีซ และยังเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ ได้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงผลกระทบของโรคระบาดต่อชีวิตของเราทุกคน ด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลาย ๆ ท่านที่ต่างเชื่อว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นและกิจกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรปรวนมีส่วนทำให้ไวรัสปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้รุนแรงขึ้นเช่น COVID ? 19 อธิบายง่าย ๆ คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมีความเชื่อมโยงกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค


โลกที่ร้อนขึ้นอาจทำให้โรคระบาดแพร่กระจายบ่อยขึ้น

อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นบวกกับความถี่จากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) คาดว่าเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ฤดูกาล และความรุนแรงของโรคติดเชื้อ


ในปี พ.ศ.2562 เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในฤดูร้อน ? Soojung Do / Greenpeace

อุทกภัย (ที่เป็นหนึ่งในสภาพอากาศสุดขั้ว) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม สัตว์พาหะที่ว่าก็อย่างเช่นยุงและแมลงต่าง ๆ เป็นตัวนำพาโรคระบาด อาทิ โรคมาลาเรีย เป็นต้น นอกจากนี้โรคระบาดเช่นโรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus) ยังมีโอกาสไปแพร่กระจายในไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า เพราะปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว

สำหรับโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์นั้น เกิดระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ทางตอนเหนือของมหานครนิวยอร์กหลังสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานและเกิดฝนตกหนัก ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด อิริน มอร์เดอไค ระบุเอาไว้ว่า ?ประชากรในประเทศที่มั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว?

การที่มนุษย์แทรกแซงสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก


ภาพลิงกำลังถือขวดพลาสติกที่คุ้ยได้จากกองขยะในแหล่งท่องเที่ยว Batu Cave มาเลเซีย ? Han Choo / Greenpeace

จากข้อมูลขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ชี้ว่าราวร้อยละ 75 ของโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งนั้นมาจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยโรคที่มีลักษณะการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนที่เรารู้จักกันเช่น ซาร์ส (SARS), ไข้หวัดนก (H5N1 avian flu) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1 influenza virus) ในขณะเดียวกัน จำนวนของสัตว์พาหะนำโรคที่เพิ่มขึ้นนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอพยพไปยังพื้นที่ใหม่เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

จากปรากฎการณ์ข้างต้น บวกกับการหาแหล่งอาหารเพื่อความต้องการของมนุษย์เรา กลับเพิ่มโอกาสที่ให้มนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์พาหะและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ มนุษย์เราสร้างความปั่นป่วนให้กับสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการทำลายผืนป่าแอมะซอนซึ่งไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน

เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ


การฟื้นฟูระบบนิเวศจะช่วยหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาด

พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์


ภาพค้างคาวสายพันธุ์ท้องถิ่นบินเหนือเกาะ Um ในโซโรง ปาปัวตะวันตก (West Papua) ? Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้


เมื่อใดที่ระบบนิเวศแปรปรวน เมื่อนั้นมนุษย์จะมีความเสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้น


ภาพถ่าย The Gran Chaco ผืนป่าที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากป่าแอมะซอนในแอฟริกาใต้ ซึ่งอาร์เจตินาสูญเสียผืนป่าไปถึง 8 ล้านเฮกตาร์ในระยะเวลาเพียง 30 ปี ผืนป่าเหล่านั้นถูกนำไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และเกษตรอุตสาหกรรม ? Martin Katz / Greenpeace

"การรุกล้ำผืนป่าโบราณด้วยการตัดไม้ ทำเหมือง และการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการพามนุษย์เข้าไปใกล้ชิดกับสายพันธุ์สัตว์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" ? เคท โจนส์ ประธานสถาบันนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ

"มนุษย์บุกรุกทั้งป่าฝนเขตร้อนและพื้นที่ธรรมชาติเป็นวงกว้าง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเป็นบ้านของสัตว์หลากสายพันธุ์รวมทั้งพืชหลายชนิด และสัตว์ป่าที่หลากหลายนั้นมีไวรัสที่เราไม่รู้จักแฝงอยู่อีกมาก เราตัดต้นไม้ เราฆ่าสัตว์ เราขังและขายพวกมันไปยังตลาด เราทำให้ระบบนิเวศปั่นป่วนและเราปล่อยไวรัสให้เล็ดรอดออกมาจากสัตว์พาหะ เมื่อไวรัสต้องการพาหะใหม่ แน่นอนว่าก็คือพวกเรา"

องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) รายงานรูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่สลับซับซ้อน และใช้ข้อมูลที่ได้มาปรับใช้เพื่อประเมินผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ต่อการแพร่ระบาดกับการคาดการณ์รูปแบบการแพร่กระจาย และความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


เรายังมีโอกาสสร้างโลกที่เราอยากให้เป็นหลังวิกฤตครั้งนี้

แม้ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสนี้เราจะต้องรักษาระยะห่างจากกัน แต่มาตรการ "การรักษาระยะห่างทางกายภาพ" นี้กำลังทำให้เราเสียสละบางอย่าง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า เราได้เห็นความร่วมมือของชุมชนอย่างจริงจังขึ้น และได้เห็นการแบ่งปันของผู้คนในยามจำเป็นเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้เคยประกาศไปยังมีความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกเนื่องจากวิกฤตสถานการณ์การเงินของโลกหลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจังเพื่อโลกที่เราอยากเห็นหลังผ่านวิกฤตครั้งนี้

ในช่วงเวลาที่มืดมนและยากลำบากนี้ สมควรที่จะยกประโยคของคุณ บิล แม็คคิบเบน ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNBC ที่ว่า "ถ้าบทเรียนในครั้งนี้ทำให้เรากลับไปสู่สถานะเดิมที่เป็นอยู่แล้วล่ะก็ บางทีไวรัสอาจจะชะลอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แต่ถ้าบทเรียนนี้ทำให้เราลงมือปฏิบัติการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้รัฐบาลทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงโดยเฉพาะในเวลาที่ทั่วโลกไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้เลย"


https://www.greenpeace.org/thailand/...limate-change/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม