ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 18-01-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 'พังงา' เสี่ยงถูกทำลาย



อ่าวพังงาขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลนานาพันธุ์และความสวยงามของธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อ่าวพังงาเกิดจากป่าชายเลนอันสลับซับซ้อนและกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดอ่าวพังงาเต็มไปด้วยประมงพื้นบ้าน หนึ่งในแนวทางอนุรักษ์อ่าวพังงาที่ผ่านมา มีการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกทางกฎหมายใช้แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูสภาพความวิกฤตของคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงป้องกันเหตุที่จะซ้ำเติมวิกฤตเกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวพังงาอีก

ล่าสุด ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ.2559 ต่อออกไปอีก 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566

โดยคงสาระสำคัญตามประกาศฉบับเดิมไว้ เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.พังงา เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่ ทส. ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใน จ.พังงา รวมทั้งจัดทำร่างประกาศฯ ฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน

การยืดเวลา 2 ปี บังคับใช้กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 7 อำเภอพังงานี้ เป็นแค่มาตรการเสริมดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะอ่าวพังงา เกาะยาวน้อย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชองชุมชนประมงท้องถิ่นขนาดเล็กที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นธรรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างทางกฎหมายและขาดมาตรการสิ่งแวดล้อมเฉพาะถิ่น เพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพังงาให้เกิดความยั่งยืน

บรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงสภาพปัญหาพื้นที่จังหวัดพังงาว่า พังงาตั้งอยู่ทางใต้ของไทย สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะพื่นที่ในทะเล อย่างอ่าวพังงา มีเกาะแก่งมากมายอยู่ในเขตทะเลน้ำลึก มีพันธุ์สัตว์น้ำที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งวางไข่เต่า สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของไทย ส่งผลให้จังหวัดพังงามีศักยภาพด้านการประมงและการท่องเที่ยวสูง เกิดปัญหาในการจัดการทรัพยากรในทะเล

ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลพังงามาจากเครื่องมือทำกาประมงแบบทำลายล้าง ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน บรรจง ให้ภาพชัดๆ ว่า ภาวะทรัพยากรทางทะเลกำลังวิกฤตจากอวนลาก เป็นเครื่องมือประมงที่ทำลายอย่างรุนแรง ปัจจุบันมีอวนลากเดี่ยว อวนลากคู่ อวนลากข้าง ประมงแบบนี้สัตว์หน้าดินไปหมด มีงานวิจัยผลผลิตจากอวนลากได้แค่ 33% ที่เหลือ67% เข้าโรงงานปลาป่น ต้องหาวิธียกเลิกประมงอวนลาก นอกจากนี้ ยังมีเรือปั่นไฟจับปลากะตัก ทำให้ลูกปลาทู ลูกปลาหมึก ตัวเล็กตัวน้อยถูกทำลายมหาศาล มีการต้ม ตาก ขาย เต็มตลาดในปัจจุบัน เครื่องทำลายล้างนี้ทำให้ทรัพยากรอ่าวพังงาสูญเสียไปมาก แม้จะกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่การดูแลไม่ทั่วถึง ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมถึงพบการลักลอบทำประมงในเวลากลางคืน กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอ

"ความล้มเหลวในการจัดการทางทะเล จะต้องแก้ปัญหาและทบทวนนโยบายต่างๆ กรณีอวนลากเสนอให้ออกมาตรการไม่ให้มีการต่ออาญาบัตรและไม่ออกทะเบียนเรือเพิ่มเติม เมื่อเรือเก่า 10-15 ปี หมดอายุการใช้งาน อวนลากก็จะหมดไปจากทะเลไทย แต่ที่ผ่านมามาการนิรโทษกรรมเรืออวนลากมาถึง 4 ครั้ง ส่วนเรือปั่นไฟจับปลากะตัก หลังจากที่มีออกประกาศยกเลิกกลับไปทำประมงปั่นไฟได้อีก ยังไม่มีรัฐบาลไหนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ภูเขาหัวโล้นมองเห็นชัด แต่ทะเลโดนถลุง ไม่มีใครเห็น เพราะอยู่ใต้น้ำ" บรรจง กล่าว

ผอ.สถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ประชากรที่ทำอาชีพประมงจะเดือดร้อนขึ้น ทุกวันนี้ประมงพื้นบ้านยาวน้อย ประมงพื้นบ้านป่าครอกที่เคยเลี้ยงตัวเองจากอาชีพประมงได้ ต้องออกจากภาคการประมงสู่ภาคโรงงาน สะท้อนพึ่งพาฐานทรัพยากรในทะเลไม่ได้ ไม่รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้านที่เอาปืนมายิงกันกลางทะเล จากข้อมูลปัจจุบันมีชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศใน 22 จังหวัด รวมพังงา จำนวนถึง 85% ของประชากรที่ทำอาชีพประมง ขณะที่ประมงพาณิชย์มีเพียง 15% ภาครัฐต้องดูแลทั้งฐานทรัพยากรและอาชีพประมงพื้นบ้าน นำความมั่นคงทางอาหารกลับมา

"กลไกทางกฎหมายนอกจากการขยายเวลาบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพย์ เรื่องกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองต่อออกไปอีก 2 ปี อีกกลไกที่ต้องผลักดันเป็นมาตรการตามกฎหมายที่ยังไม่มีรายละเอียด ภาครัฐต้องเร่งรัดกระบวนการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก ตามมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมง ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรประมง นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดขนาดตาอวนกุ้ง หมึก ที่เหมาะสม ส่วนมากตรการกำหนดขอบเขตประมงชายฝั่งต้องอยู่บนหลักการจัดการทรัพยากรและข้อเท็จจริงของสภาพธรรมชาติ ไม่ใช่การยกมือโหวตของคณะกรรมการประมงจังหวัด" บรรจง กล่าวว่า

สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติเกาะยาวน้อย หนึ่งในพื้นที่คุ้มครอง บรรจง กล่าวว่า เกาะยาวน้อยมีชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีความสงบสุขและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ด้วยแนวคิดการนำเสนอวิถีชีวิตชาวประมงในอ่าวพังงาให้นักท่องเที่ยวได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวของอ่าวพังงาไปด้วยกัน

"ทุกวันนี้อวนรุนหมดไป เป็นแรงจุงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามา มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็ชื่นชอบวิถีประมงพื้นบ้าน ดูลอบกุ้ง จับปลา ตกหมึก สัตว์น้ำได้เจริญเติบโต ผลผลิตจากทะเลนำมาขายผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร กระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม เป็นการพัฒนาชุมชมในภาพรวม ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน นี่คือ วิธีนำการท่องเที่ยวชุมชนมาบริหารจัดการทรัพยากร ไม่พึ่งแค่มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐ" บรรจง เน้นย้ำใช้พลังชุมชนปกป้องทรัพยากรเป็นกุญแจสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาเอกชนสมาคมรักษ์ทะเลไทย แสดงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมต่อโครงการแลนด์บริดจ์รองรับเศรษฐกิจภาคใต้ เพราะการจัดสร้างท่าเรือน้ำลึก การคมนาคมของภาคขนส่งสินค้า จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ตลอดจนมีกิจกรรมรบกวนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผลักดันโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐพิจารณาให้รอบด้าน และจัดทำรายงาน EIA ที่อยู่บนข้อเท็จจริง

สำหรับสาระสำคัญของการออกประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงาเพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดพังงา ให้เกิดความยั่งยืน โดยการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่ไม่มีการกำหนดในกฎหมายอื่น เช่น การคุ้มครองแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นของชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างแหล่ง พลับพลึงธาร การกำหนดห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงาม การกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน การควบคุมการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงแรมหรือสถานที่พักตาก อากาศในพื้นที่อาเภอเกาะยาว การกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่จะต้องจัดทำรายงาน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นต้น


https://www.thaipost.net/news-update/303187/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม