ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 05-08-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


น่าห่วง! "จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย" ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันพบในป่าอนุรักษ์เพียง 6 แห่ง

กรมอุทยานฯ จัดประชุมเชิงวิชาการ "โครงการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์" เผย"จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย" ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันพบในป่าอนุรักษ์เพียง 6 แห่ง



กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมเชิงวิชาการ "โครงการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์" ในวันที่ 4 ส.ค. 63 เวลา 09.30 น. โดยมี นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงวิชาการ "โครงการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในพื้นที่อนุรักษ์" ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสืบ นาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายจงคล้าย วรพงศธร กล่าวว่า จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากประชากรในธรรมชาติของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยมีจำนวนน้อย การศึกษาและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 มีการดำเนินโครงการนำร่องการปล่อยจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาโดยจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยที่ปล่อยสามารถอาศัยอยู่รอด และแพร่ขยายพันธุ์ได้ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ถือเป็นความสำเร็จในการปล่อยจระเข้คืนถิ่น ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานทางนิเวศที่เหมาะสมของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จึงนำไปสู่การดำเนินโครงการอนุรักษ์จระเข้พันธุ์ไทยในประเทศไทย

ทั้งนี้ในปัจจุบันพบจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เพียง 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จะได้เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยได้อย่างแท้จริง


ไข่จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย

ด้านนายชลธาร ชำนาญคิด ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อ ปี 2547 ได้มีการปล่อยจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการสู่ธรรมชาติที่วังแก่งหินดาดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จำนวน 10 ตัว (ตัวผู้ 5 ตัว และตัวเมีย 5 ตัว) ซึ่งจระเข้ชุดดังกล่าวยังคงพบตัวได้ 1 ตัวที่อยู่จวบจนทุกวันนี้

นอกจากนี้จากการสำรวจและติดตามจระเข้น้ำจืดในอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่พบแหล่งอยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในธรรมชาติเหลือเพียง 3 แห่ง ประมาณ 20 ตัวได้แก่ บริเวณห้วยน้ำเย็น อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณคลองชมพู อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2560 ได้มีการประชุมวิชาการ เพื่อประเมินสถานภาพและแนวทางการอนุรักษ์จระเข้ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หลังจากนั้นจึงได้มีการผลักดันให้เกิดการวิจัยทางวิชาการเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งต่อมา รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อทำการวิจัยตามโครงการอนุรักษ์จระเข้พันธุ์ไทยในประเทศไทย ทำการวิจัยในระหว่างปี พ.ศ. 2561 ? 2562 ซึ่งผลการวิจัยได้จัดทำรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์มาให้กรมอทุยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้นำผลดังกล่าวเป็นแนวทางทางวิชาการที่สำคัญมาปรับใช้กำหนดแนวทางการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยในอุทยานแห่งชาติต่อไป

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


https://mgronline.com/travel/detail/9630000079658


*********************************************************************************************************************************************************


"ดร.ธรณ์" โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์เหตุหอยแมลงภู่เกยหาดจอมเทียนไม่เกี่ยวภัยพิบัติ เตือนประชาชนไม่ต้องตกใจ



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ปรากฏการณ์หอยแมลงภู่นับล้านตัวลอยเกยหาดจอมเทียน แม้ไม่เป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ แต่ไม่เกี่ยวเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งสึนามิ แผ่นดินไหว เตือนประชาชนไม่ต้องตกใจ คาดเป็นหอยเลี้ยงถูกคลื่นซัด

จากปรากฏการณ์ประหลาดหอยแมลงภู่นับล้านตัวถูกคลื่นซัดเกยหาดจอมเทียน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (3 ส.ค.) จนสร้างความแตกตื่นให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่ประชาชนบางรายได้ถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวโพสต์ลงในโลกออนไลน์จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ส่วนชาวบ้านในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงที่ทราบข่าว ได้พากันออกมาเก็บหอยแมลงภู่จำนวนมากเพื่อนำกลับไปประกอบอาหารรับประทาน ซึ่งชาวบ้านบางส่วนพากันวิตกกังวลว่าอาจะเป็นลางร้ายแจ้งเตือนก่อนเกิดภัยพิบัติใหญ่ ขณะที่บางส่วนเชื่อว่าเป็นเพราะท้องทะเลบันดาลโชคด้วยการให้อาหารทะเลแก่ประชาชนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำนั้น

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์หอยแมลงภู่จำนวนมากที่ลอยมาเกยชายหาดจอมเทียน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไว้อย่างน่าสนใจ

1.หอยแมลงภู่เป็นหอยเกาะไม่อยู่กับทรายและในทะเลแถวนั้นส่วนใหญ่เป็นหอยเลี้ยง

2.ก่อนหน้านี้มีแพลงก์ตอนบลูมอยู่บ้างในเขตอ่าวไทยตะวันออก เป็นแพลงก์ตอนไม่มีพิษ แต่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำอาจทำให้หอยบางส่วนตาย อ่อนแอ

3.ช่วงนี้คลื่นลมแรง หอยบางส่วนที่อ่อนแออาจหลุดลอยมารวมกันหรืออาจมีเหตุการณ์แพแตกหอยหลุด เมื่อดูจากข้อมูลทุ่นสมุทรศาสตร์ที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่งปล่อยไปเห็นว่าคลื่นลมพัดไปทางตะวันออกเลียบฝั่งมา อาจเป็นไปได้ว่าหอยแถวอ่าวอุดมลอยมาทางนี้

4.ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ไม่เป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว ไม่ต้องตกใจกลัวครับ

5.การเก็บหอยตามชายฝั่งมากินขึ้นอยู่กับการพิจารณา (ผมคงไม่กิน) แต่ระวังหอยตาย ไม่สดอาจมีเชื้อโรคได้

ทั้งนี้ การค้นหาเรื่องนี้ต้องเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบไม่สามารถบอกได้จากการดูภาพ อย่างไรก็ตาม การกินหอยเลี้ยงที่ไม่ประสบปัญหาในพื้นที่แถวนั้นยังทำได้นะครับ เพราะหอยที่ตายไม่ได้โดนสารพิษหรือเจอแพลงก์ตอนพิษทั้งหมดจากปัจจัยหลายประการประกอบกันไม่สามารถฟันธงได้ แต่มีความเป็นไปได้ครับ


https://mgronline.com/local/detail/9630000079457

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม