ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 15-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (ขยะอี) และขยะอื่นๆ ที่กำลังสร้างปัญหา .......... ต่อ



องค์การ Greenpeace East Asia และ Bureau of International Recycling ได้เตือนประเทศทุกประเทศให้ตระหนักในภัยอันตรายนี้ว่า ประเทศผู้ผลิตขยะมักจะไม่สนใจมากว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับขยะที่ตนสร้าง ดังนั้นประเทศที่รับขยะไปจะต้องรู้เท่าทัน และต้องหาวิธีแก้ปัญหาเอง การเห็นแก่ตัวของชาติใด ๆ ที่มุ่งผลิตสินค้าและสร้างขยะไปในเวลาเดียวกัน โดยการเอาขยะไปทิ้งในประเทศอื่นให้เขาจัดการนั้น นับเป็นเรื่องที่ทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นไปได้ยาก

ในอินเดียก็กำลังสร้างวัฒนธรรมการหมุนเวียนการใช้ขยะเช่นกัน โดยมีคนที่เกี่ยวข้องหลายรูปแบบ เช่น คนเก็บขยะ คนรับซื้อขยะ และคนจัดการขยะ ซึ่งมีขยะที่ต้องจัดการมากถึงวันละ 100,000 ตัน แต่อินเดียไม่มีกลไกหรืออุปกรณ์ที่จะจัดการกับขยะอี หรือขยะโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากเท่าจีน ดังนั้นประเทศจึงตกอยู่ในภาวะที่กำลังแพ้สงครามขยะ

โดยทั่วไปคนเก็บขยะในอินเดียมักจะเก็บขยะที่ทิ้งตามบ้าน ตามโรงงาน ตามตลาด แล้วนำมารวมกันที่ศูนย์ขยะเพื่อคัดแยกนำบางส่วนไปใช้อีก และบางส่วนเพื่อสร้างพลังงาน แต่ปรากฏว่า ขยะมักไม่ได้รับการคัดแยก ดังนั้นประมาณ 90% ของขยะ จึงถูกนำไปฝังดิน ส่วนคนที่หาเลี้ยงชีพโดยการเก็บของมีค่าจากกองขยะ ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยใด ๆ ดังนั้นคนเหล่านี้ จึงมีโอกาสที่จะได้รับภัยอันตรายจากกองขยะขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมือง Mumbai (เดิม Bombay), Delhi และ Kolkata ที่มักมีอาหารเน่า ปฏิกูล และวัสดุเสีย ๆ ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นำโรค เช่น แมลงวัน และหนู ฯลฯ นอกจากนี้กองขยะก็อาจจะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดไฟไหม้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปล่อยไอเสียและแก๊สพิษ และทำให้เกิดปรากฏการณ์ภูเขาขยะถล่ม (landslide) ก็ได้ด้วย

เมื่อครั้งที่เกิดการระบาดของกาฬโรคที่เมือง Surat ในอินเดีย เมื่อปี 1994 เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากการบริหารจัดการขยะที่ผิดพลาด ส่วนที่เมือง Moradabad ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประดิษฐ์งานทองเหลือง มีคนงานที่นั่นได้หายใจฝุ่นโลหะและไอสารเคมีเข้าปอดจนเป็นอันตรายหลายคน นอกจากนี้โรงงานที่นั่นก็ยังได้ทิ้งปฏิกูล และเศษโลหะ เช่น ปรอทกับ arsenic ลงแม่น้ำจนทำให้แม่น้ำมีแต่ของเน่าเสีย และผู้คนได้ล้มป่วยมากมาย จนเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก

ณ วันนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 560 ล้านคน และประชากรที่ยากจนจำนวนมาก ไม่มีสถานบำบัดทุกข์ (ส้วม) อันเป็นขยะร่างกาย ดังนั้นในปี 2014 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Narindra Modi จึงตั้งโครงการสร้างส้วม 120 ล้านหลังทั่วประเทศ ภายในปี 2019 อันเป็นวาระครบรอบ 150 ปี แห่งชาตกาลของ Mahatma Gandhi และสามารถทำได้สำเร็จภายในกำหนด

แม้อินเดียจะเป็นชาติที่ประหยัด แต่ก็เป็นประเทศที่ผู้คนกำลังเลื่อมใสในวัตถุนิยมมากขึ้นตลอดเวลา จึงกำลังมีโรงงานเกษตรกรรม โรงงานถลุงแร่ และผู้คนกำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้วัสดุธรรมชาติไปเป็นวัสดุประดิษฐ์ (พลาสติก) มากขึ้น เช่น จากที่เคยใช้กิ่งต้นสะเดา (Azadirachta indica) แทนแปรงสีฟัน ชาวบ้านที่ยากจนก็ได้หันมาใช้แปรงพลาสติกแทน ซึ่งวัสดุประเภทนี้จะไม่มีวันสลายไปจากโลก

เมือง Alang ในอินเดีย เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอุตสาหกรรมแยกชิ้นส่วนของเรือที่ปลดระวางออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำขยะเหล็กออกขายเพื่อเอากำไร นอกจากนี้อินเดียยังเป็นผู้นำของโลกในการส่งขยะ (เส้นผม) เป็นสินค้าออกด้วย จนสามารถทำเงินเข้าประเทศได้ปีละ 12,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะผู้หญิงอินเดียมักใช้วิธีตัดเส้นผมที่ยาวสลวยเพื่อแสดงความศรัทธาในศาสนา แล้วส่งเส้นผมขยะไปที่จีน เพื่อใช้ทำผมปลอมขาย

ในอินเดียยังมีบริษัทจัดการเรื่องขยะโดยเฉพาะ เช่น บริษัท Ramky Group ซึ่งเชี่ยวชาญการนำขยะเสียมาปรับใช้อีก โดยการกำจัดพิษที่มีในขยะตามโรงพยาบาลจำนวนกว่า 169,000 แห่ง ให้หมดสิ้นก่อนด้วย

โครงการจัดการขยะทุกรูปแบบในทุกประเทศจะยั่งยืนได้ควรเป็นโครงการที่มีกิจกรรม ซึ่งทำให้องค์การได้กำไรบ้าง มีระบบการทำงานที่ดี และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขยะเป็นที่ต้องการของสังคม จีนมีโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว แต่อินเดียก็กำลังติดตามจีน โดยได้ระดมบุคลากรทุกสาขาอาชีพ เช่น คนเก็บขยะ นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจที่มีจริยธรรม รวมถึงการมีนักการเมืองที่สนใจปัญหาขยะด้วย


https://mgronline.com/science/detail...22984?tbref=hp

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม