ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 30-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


รายงานพิเศษ : กรมประมงนำปลาทูไทยกลับมาแล้ว... จะบริหารจัดการร่วมกันต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน



ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปลาทูในอ่าวไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ โดยเฉพาะระหว่างปี 2558-2561 ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง จากเดิมเคยจับได้ 1.2 แสนตันต่อปีลดลงเหลือเพียง 33,931 ตันในปี 2558 และลดลงต่อเนื่อง เพราะปลาทูถูกจับ ?เกินศักยภาพการผลิต? ประกอบกับเครื่องมือทำประมงถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์และปลาทูสาวถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มากขึ้น กรมประมงจึงปรับเปลี่ยนมาตรการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อจะนำปลาทูกลับคืนมา กระทั่งปี 2562 พบมีปริมาณการจับปลาทูเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2561 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันปลาทูไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว เนื่องจากเดิมปลาทูถูกจับไปใช้ประโยชน์ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ทันสมัย ปลาทูสาวร้อยละ 90 ที่พร้อมไปวางไข่ที่อ่าวไทยตอนกลางถูกจับในอัตราที่สูงขึ้น ภายในระยะเวลาอันสั้นและหลุดรอดไปยังแหล่งวางไข่น้อยมาก เป็นเหตุให้พ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมวางไข่เหลือปริมาณน้อย ปลาทูรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนจึงลดลงไปด้วย จึงส่งผลให้ปริมาณปลาทูที่จับได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561 กรมประมงจึงได้เพิ่มมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูอย่างต่อเนื่องมีการจัดระเบียบการทำประมงทั้งในประเทศและน่านน้ำทั่วไปภายใต้พระราชกำหนดการทำประมง พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการทำประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 (ฉบับแก้ไข) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

ภายหลังจากการลดลงของปริมาณปลาทู กรมประมงเพิ่มมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูอย่างต่อเนื่องเช่น การใช้ปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนเป็นจุดอ้างอิงในการพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงและจำนวนออกทำการประมง ขยายพื้นที่และเวลาปิดอ่าว เช่น การประกาศห้ามทำการประมงในพื้นที่ 7 ไมล์ทะเล นับจากชายฝั่งในพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลางเป็นระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของลูกสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงการประกาศห้ามทำการประมงหรือปิดอ่าวบริเวณรอยต่อของพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลางและอ่าวไทยรูปตัว ก เขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย.ของทุกปี และปรับปรุงประกาศปิดอ่าวไทยตัว ก ให้สอดคล้องกับรูปแบบการอพยพของปลาทู โดยประกาศปิดอ่าวเป็นสองช่วงได้แก่ อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. และอ่าวไทยตอนในด้านเหนือระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.ของทุกปี

นอกจากนี้ ยังห้ามเครื่องมือทำการประมงบางชนิดในเขตทะเลชายฝั่ง เช่น อวนล้อมจับ อวนติดตาที่มีความยาวอวนมากกว่า 2,500 เมตร และเครื่องมือทำการประมงที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ปั่นไฟ) เป็นต้น และยังกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่ได้ขนาดอีกหลายมาตรการ เช่น ห้ามใช้เครื่องมือบางชนิดทำการประมงในเขตชายฝั่ง ห้ามทำการประมงอวนล้อมจับ โดยใช้ตาอวนขนาดต่ำกว่า 2.5 ซม.ในเวลากลางคืน การขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลากเป็น 4.0 ซม.และยกเลิกเครื่องมือประมงบางชนิดที่ทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558



อย่างไรก็ดี นอกจากมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย รวมถึงมาตรการกำหนดพื้นที่ทำการประมงในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่เลี้ยงตัวอ่อน หรือที่เรียกว่ามาตรการปิดอ่าวที่แบ่งเป็น 5 ระยะเป็นเวลาประมาณ 225 วัน นั้นแม้จะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของปลาทูที่ลดลงมากมาตั้งแต่ปี 2558 จำเป็นต้องมีมาตรการทางสังคมเข้ามาช่วยฟื้นฟูปลาทูให้กลับคืนมาอีกทางหนึ่ง เช่น รณรงค์ให้หยุดบริโภคปลาทูขนาดเล็ก หยุดใช้เครื่องมือประมงผิด และหยุดจับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก่อนช่วงวางไข่ จึงจะช่วยให้ปลาทูไทยฟื้นฟูกลับมาได้เร็วขึ้น อีกทั้ง กรมประมงยังอยากให้มีมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 6 เพื่อให้ครอบคลุมวงจรชีวิตปลาทูในเขตชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นรอบนอกวงจรชีวิตปลาทูจากมาตรการปิดอ่าวทั้ง 5 ระยะ เนื่องจากเป็นเส้นทางการเดินทางของปลาทูของวัยหนุ่มสาวที่จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่มาตรการนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากชาวประมงในการบริหารจัดการร่วมกันภายใต้ข้อมูลทางวิชาการ และผลกระทบต่อชาวประมงน้อยที่สุด เพื่อขับเคลื่อนภายใต้การจัดการที่ดีก็จะช่วยให้ปลาทูคืนกลับมาสมบูรณ์อย่างแน่นอน

"กรมประมงได้พยามยามฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม กรมและภาครัฐไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงหากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวประมง ซึ่งนโยบายของ รมว.เกษตรฯมุ่งคืนความสุขกับชาวประมง ในการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้ชาวประมงได้ประกอบอาชีพ แต่การคืนความสุขนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงช่วยดูแล และต้องเกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักการทางวิชาการรองรับและการตกผลึกทางความคิดร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนมีปริมาณปลาทูเพียงพอให้พี่น้องชาวประมงได้ประกอบอาชีพ และรับประโยชน์จากสัตว์น้ำอย่างเต็มที่และเหมาะสม ซึ่งต่อจากนี้ไปเราจะไม่ถามว่าปลาทูหายไปไหน แต่จะถามว่าเราจะเอาปลาทูกลับมาอย่างไรให้ยั่งยืนกรมประมงและพี่น้องชาวประมงจะร่วมกันบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ปลาทูอย่างไร เพื่อให้ปลาทูกลับมาสมบูรณ์อยู่คู่กับวิถีชีวิตของเราไปอีกนาน" อธิบดีกรมประมง ฝากทิ้งท้าย


https://www.naewna.com/local/508288


*********************************************************************************************************************************************************


'ดร.ธรณ์' โพสต์เซอร์ไพรส์ 'แม่เต่ามะเฟือง' ขึ้นวางไข่103ฟองที่?พังงา?



วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ?Thon Thamrongnawasawat? ได้โพสต์คลิปวีดีโอขณะที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่บนหาด จ.พังงา โดยระบุข้อความว่า ?เซอร์ไพรส์! แม่เต่ามะเฟืองเพิ่งขึ้นมาวางไข่ที่พังงาครับ คราวนี้เจอตัวด้วย ยาวเกือบ 2 เมตร วางไข่รวดเดียว 103 ฟอง เย้ ! ความมีอยู่ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานท้ายเหมืองออกลาดตระเวนแถวเขาหน้ายักษ์ บริเวณที่พบเต่ามะเฟืองมาวางไข่นอกฤดูกาลถึง 3 รังก่อนหน้านี้ เจอเงาตะคุ่มบนหาด เข้าไปดู เป็นเต่ามะเฟืองจริงด้วยครับ แม่เต่าเพิ่งวางไข่ เจ้าหน้าที่รีบแจ้งศูนย์และเฝ้าดูโดยไม่รบกวนจนเต่ายักษ์เริ่มกลบหลุม จึงถ่ายคลิปไว้ เมื่อกลบเสร็จ เต่าคลานกลับทะเล เข้าไปวัดได้ พบว่าแม่รายนี้ยาว 1.9 เมตร กว้าง 0.85 เมตร

แม่เต่าลงทะเลไปอย่างปลอดภัย หลังวางไข่ไว้ 103 ฟอง ขอบคุณจ้ะ เนื่องจากรังไข่อยู่ใกล้แนวน้ำ จึงย้ายมาที่คอกของรังก่อนหน้านี้ จะได้ดูแลสะดวก เชื่อว่าน่าจะเป็นแม่เต่าตัวเดียวกันกับ 3 รังก่อนหน้านี้ และน่าจะมีไข่รวมเกือบ 400 ฟอง (บางรังไม่ได้ขุด บอกจำนวนไม่ได้) ตั้งแต่ปลายปี 62 ถึงตอนนี้ เต่ามะเฟืองวางไข่ไปแล้ว 15 รัง ฟักไปแล้วเกือบ 500 ตัว จะเพราะล็อคโควิดหรือเปล่า? ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเยอะจริงๆ ลูกๆ ของแม่เต่ารายใหม่ น่าจะเริ่มฟักเป็นตัวปลายเดือนหน้าต่อเนื่องถึงเดือนถัดไป (60 วันนับแต่วาง) จำสถิติเดิมไม่ได้ แต่เชื่อว่าในรอบ 10 ปี ไม่น่ามีช่วงไหนที่เต่ามะเฟืองวางไข่รัวๆ ขนาดนี้ ดีใจมากๆ ทะเลไทยเยี่ยมจริง ขนาดนอกฤดูกาลยังมีเต่ามาวางไข่เลยครับ เต่ามะเฟืองคือเต่าใหญ่สุดในโลกและเป็นเต่าที่ถูกคุกคามอย่างมาก ยังเป็นสัตว์สงวน คลิปนี้จึงหายากมาก ขอบคุณอุทยานท้ายเหมืองที่ช่วยดูแลและนำข้อมูล/ภาพมาฝากคนรักทะเลครับ เย้ๆๆ ดีใจจริงครับ คุณแม่เต่า สุดยอดจริง พวกเราคนไทย ต้องสุดยอดให้ไม่แพ้คุณแม่เต่า ช่วยกันลดขยะพลาสติกให้มากที่สุด อย่าให้ถุงในมือคุณไปอยู่ในพุงยอดคุณแม่รายนี้นะจ๊ะ ช่วยๆ กัน


https://www.naewna.com/likesara/508269
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม