ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 31-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


พิษโควิดทำพลาสติกระบาด: เรื่องสุขภาพที่เราลืมป้องกัน .................. โดย ณิชา เวชพานิช

พลาสติกและพฤติกรรมใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมาระบาดทั่วโลกท่ามกลางโควิด ปริมาณขยะพลาสติกไทยช่วงล็อกดาวน์เพิ่ม 15% รมต.ทส.เผย คนไทยยังตระหนักเรื่องนี้ดี มุ่งหน้าตามโร้ดแมพจัดการพลาสติกเดิมที่ตั้งไว้ ด้านนักวิชาการชี้พฤติกรรมใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลังสร้างปัญหาสุขภาพระยะยาว แถมไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยจากไวรัส


ปลาตายเพราะขยะพลาสติก กรกฎาคม พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

หลายคนมักพูดว่าหากไม่สบาย ให้ไปพักผ่อนริมทะเล ? ห่างไกลความวุ่นวาย ภาระงาน และมลพิษในเมือง ทว่าทุกวันนี้การไปทะเลอาจไม่ได้ดีต่อสุขภาพกายและใจขนาดนั้น เพราะเราพาตัวเองมายืนมองคลื่นสีครามนำพาเค้าลางของปัญหามาเกยฝั่ง?ขยะทะเลจำนวนมหาศาล

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลสูงสุดอันดับ 6 ของโลก

จนกระทั่งเมื่อปลายปีพ.ศ.2562 เราได้ลดลำดับลงมาเป็นที่ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงว่าเป็นผลสำเร็จจากการร่วมมือลดขยะของทุกภาคส่วน

ทว่ากระแสดังกล่าวได้จางหายไปเมื่อคลื่นลูกใหม่ชื่อ "โควิด-19" เข้ามาขโมยความสนใจ โรคระบาดได้แทรกแซงและปรับแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้คนเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านและใช้บริการเดลิเวอรี่อาหารเพิ่มขึ้น จนปริมาณขยะพลาสติกจากอุปกรณ์ทานอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปกติ 15% ยังไม่ได้นับรวมขยะหน้ากากอนามัยและขยะจากการกักตัว ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้เพราะเป็นขยะอันตรายทางการแพทย์

ปริมาณขยะเป็นสิ่งที่ประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ กระนั้น ยังมีอีกสิ่งสำคัญที่เราไม่อาจรู้ได้แน่ชัดด้วยซ้ำว่าเปลี่ยนไปเท่าไหร่ คือ ?พฤติกรรมลดขยะ? ที่สังคมไทยรณรงค์กันมาตลอด


ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นช่วงล็อกดาวน์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม


ชีวิตติดพลาสติก : นิวนอร์มอลหลังโควิด ?

โรคระบาดทำให้หลายประเทศทั่วโลกประกาศเลื่อนแผนการลดขยะพลาสติกเพราะเป็นห่วงเรื่องสุขอนามัย สำนักข่าว New York Times รายงานว่า รัฐและเมืองใหญ่ในอเมริกาไม่น้อยกว่า 4 แห่งเปลี่ยนแผน เช่น นครนิวยอร์กและรัฐเมนส์เลื่อนการแบนถุงพลาสติกออกไปจากที่ตั้งไว้ปีนี้ รัฐนิวแฮมเชอร์ประกาศให้ร้านค้าแจกถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษแทนการให้ลูกค้าใช้ถุงผ้า นอกจากนี้ เมืองบางแห่งที่ออกกฎหมายแบนการใช้พลาสติกไปแล้วยังกลับลำ กรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงประเทศเม็กซิโก ได้ยกเลิกมาตรการแบนผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แม้ว่ามาตรการนี้จะช่วยลดขยะพลาสติกกว่า 85%

ด้านประเทศไทย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมว่าโควิด-19 จะไม่ทำให้โร้ดแมพการจัดการพลาสติก พ.ศ. 2561 ? 2573 ที่ตั้งไว้ล่าช้า

"ช่วงโควิด ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะความปลอดภัยของชีวิตของพี่น้องประชาชนต้องมาก่อน จริงๆ แล้วโครงการลดขยะต่างๆ ยังทำการอยู่ตลอด แต่เราไม่อยากเพิ่มความกดดันให้พี่น้องประชาชนก็เลยดูเหมือนจะแผ่วไป"

ตามโร้ดแมพ ภายในปีพ.ศ.2563 นี้ ประเทศไทยจะต้องลดการใช้กล่องอาหารโฟม หลอด แก้วน้ำพลาสติกแบบบาง และถุงพลาสติกความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอนได้ 50% เพื่อจะได้เลิกใช้อย่างสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2565

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายแห่งได้ระงับนโยบายให้ลูกค้านำภาชนะส่วนตัวมาซื้อสินค้าและไม่เผยแนวโน้มว่าจะกลับมาดำเนินการตามเดิมเมื่อไหร่ แม้นักวิชาการหลายคนจะออกมาชี้แจ้งว่า ความคิดดังกล่าวเป็น "ความเชื่อที่ไร้เหตุผล"


จะติดโควิด หรือติดพลาสติก : ทางสองแพร่งที่ต้องเลือก?

สาเหตุที่สังคมกลับมาเป็นมิตรกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกอีกครั้ง ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่าบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นสะอาดและปลอดภัยกว่าภาชนะใช้ซ้ำ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากสถาบันชั้นนำกว่า 125 คนได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเรียกร้องให้สังคมทบทวนความคิดดังกล่าว

"การเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ได้ทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น"
Dr.Ben Locwin นักระบาดวิทยาและที่ปรึกษาศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC-Centers of Disease Control and Preventions) ชี้แจ้ง "การใช้บรรจุภัณฑ์ส่วนตัวและหมั่นทำความสะอาดนั้นปลอดภัยจากไวรัส และผมขอย้ำว่า วิธีนี้ 'ไม่เคย' ไร้ประสิทธิภาพ"

เขาอธิบายว่า ไวรัสโคโรน่ามีลักษณะเป็นไวรัสที่มีเปลือกเป็นไขมันห่อหุ้ม (Enveloped Virus) ดังนั้นสารทำความสะอาด เช่น สบู่และน้ำยาซักผ้าซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิวจึงมีศักยภาพฆ่าเชื้อได้ โดยจะทำให้ไขมันหลุดไปแขวนลอยกับน้ำ

"ไวรัสโคโรน่าทำลายได้ง่ายมาก คุณใช้น้ำสบู่ร้อนทำความสะอาดแก้วน้ำหรือถุงผ้าก็เพียงพอ วิธีการป้องกันอีกระดับหนึ่งคือเวลาไปซื้อของควรหลีกเลี่ยงให้ผู้อื่นสัมผัสภาชนะส่วนตัว เช่น เวลาซื้อกาแฟให้วางแก้วบนโต๊ะ ให้พนักงานริน หรือเวลาไปซื้อของก็หยิบของใส่ถุงผ้าด้วยตนเอง ปลอดภัยทั้งคนซื้อและคนขาย ปัจจุบัน เราไม่เคยพบเคสติดเชื้อผ่านอาหาร"


วิธีใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำให้ปลอดภัย ไร้โควิด / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม

เขาเน้นว่า พฤติกรรมใช้ซ้ำอาจปลอดภัยกว่าการใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไวรัสติดอยู่บนพื้นผิวนานถึง 2-3 วัน และทำให้ผู้บริโภคเผลอ "การ์ดตก" นึกว่าปลอดภัยไร้โรค แม้ภาชนะดังกล่าวจะต้องผ่านมือพนักงานมาก่อน กระนั้น ถึงแม้ว่าข้อมูลต่างๆ จะการันตีความปลอดภัยของพฤติกรรมใช้ซ้ำ ทว่าสังคมได้มีอคติไปแล้วจึงเป็นเรื่องแก้ยาก

"ตามทฤษฎีจิตวิทยากลุ่ม ในวิกฤตโรคระบาดแบบตอนนี้ คนเราจะเครียดและขาดการใช้เหตุผล เราจะมองแต่ปัจจุบันและปัดให้เรื่องของอนาคตตกไป ทว่าเรื่องโรคระบาดและสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่ทางสองแพร่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ปัญหาขยะพลาสติกก็เป็นปัญหาสุขภาพ เราต้องป้องกันปัญหาหลายอย่างได้พร้อมกัน" Ben กล่าว

งานวิจัยหลายชิ้นได้รับรองความเกี่ยวโยงของไมโครพลาสติกกับสุขภาพมนุษย์ แม้ขยะพลาสติกจะจัดเก็บถูกวิธีและถูกส่งไปฝังกลบมักจะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและต่อสู่ทะเล โดนย่อยสลายตามธรรมชาติจากแสงพระอาทิตย์และคลื่นทำให้แตกหักจากพลาสติกชิ้นใหญ่กลายเป็นชิ้นจิ๋ว เรียกว่า "ไมโครพลาสติก"

ผศ.ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี อาจารย์จากภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายถึงอันตรายของไมโครพลาสติกว่า

"น้ำ 1 ลิตรมีไมโครพลาสติกกว่าหมื่นชิ้น ไมโครพลาสติกเองก็เป็น ?มลพิษ? อย่างหนึ่ง ปนเปื้อนอยู่ในทะเล อยู่ในลำคลอง และอาหารทะเลที่คนกินกันอย่างหอยแมลงภู่และหอยนางรมเพราะมันมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอนเลยสามารถเคลื่อนไปอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตได้"

"งานวิจัยที่ผมทำ พบว่าหอยแมลงภู่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเมื่อไมโครพลาสติกเข้าสู่เซลล์ ทำให้ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงว่าไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติทางเคมีคือไม่ละลายน้ำ (Hydrophobics) ไมโครพลาสติกจะทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสให้สารละลายอื่นๆ มาเกาะ เช่น สารตระกูลปิโตรเลียม ดังนั้นพอไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารและเข้าร่างกายคนได้ มันก็จะพาเอาสหายสารพิษทั้งหลายเข้าไปด้วย"

ถนอมศักดิ์พบไมโครพลาสติกจำนวนมากกับสาร BPA (Bisphenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิตขวดพลาสติกในน้ำทิ้งลงลำคลองที่ชลบุรี แม้จะยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเมื่อสารสองตัวนี้มาเจอกันจะเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้น แต่เขาตั้งคำถามถึงผลกระทบทางสุขภาพเพราะสารตัวนี้นับเป็นสารก่อมะเร็งตัวหนึ่งที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง

"ปัจจุบัน งานวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติกในไทย รวมถึงในต่างประเทศยังมีน้อยมาก เป็นเหตุให้ยังไม่สามารถออกค่ามาตรฐานได้ว่าไมโครพลาสติกปริมาณเท่าไหร่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและหาทางรับมือที่เหมาะสม ผมว่าเราต้องพูดคุยเรื่องนี้กันต่ออย่างเร่งด่วน"


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม