ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 01-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก PPTV


ข่าวดี! ครม.เห็นชอบ ดัน "อุทยานแห่งชาติเขาสก - ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" มรดกอาเซียน


ครม.เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน



เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ASEAN Heritage Park (AHP) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์หลายแบบ เช่น ป่าดิบชื้น ป่าเขาหินปูน และป่าพรุ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด มีพืชเฉพาะถิ่นและพืชหายาก เช่น บัวผุด ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ เขาหินปูนขนาดใหญ่ 3 ลูก ตั้งอยู่ผืนน้ำสีเขียวมรกตของเขื่อนรัชชประภา ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และมีวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิม



อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศหลากหลายเฉพาะตัว เช่น ป่าเบญจพรรณ สังคมพืชริมน้ำ ฯลฯ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด มีลักษณะภูมิประเทศทั้งเทือกเขาสูง เขาหินปูน และตะลักพักน้ำ ซึ่งเป็นที่ราบแคบ มีระดับลดหลั่นกันลงมาเหมือนขั้นบันได มีระบบนิเวศถ้ำที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณะ โดยเฉพาะถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของไทย (ระยะ 10,316 เมตร) และมีลักษณะของภูเขาเรียงตัวกันคล้ายกับรูปผู้หญิงนอน มีปล่องโพรงเป็นจำนวนมาก มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ สระมรกต มีลักษณะเป็นน้ำสีเขียวแกมฟ้ามรกตที่ไหลออกมาจากถ้ำทรายทองและรอยแตกของภูเขาบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ มีชุมชนและชนเผ่าชาติพันธุ์อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ ถึง 10 ชาติพันธุ์ เช่น อาข่า ไทใหญ่ เป็นต้น ทำให้เป็นพื้นที่หลากหลายทางวัฒนธรรม



ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1)อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกาศเมื่อ พ.ศ.2527 2)อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกาศเมื่อ พ.ศ.2527 3)กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2546 4)กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2546 5)อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2562 6)อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2562

ทั้งนี้ อุทยานมรดกแห่งอาเซียน มาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาสังคมและวัฒนธรรมแห่งอาเซียน โดยต้องมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีคุณค่าโดดเด่นคู่ควรแก่การอนุรักษ์ มีคุณสมบัติที่แสดงถึงความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ ความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมีขอบเขตทางกฎหมายที่ชัดเจน

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานผู้ประสาน จะจัดส่งเอกสารการนำเสนอพื้นที่ให้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เพื่อนำเสนอเอกสารให้กับคณะผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการตรวจสอบ ประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป


https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8...0%B8%99/128453


*********************************************************************************************************************************************************


ขั้วโลกใต้ร้อนขึ้นเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทวีปแอนตาร์กติกาในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความแปรปรวนของเขตร้อน รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก



"ขั้วโลกใต้" เป็นหนึ่งในดินแดนอันหนาวเหน็บที่มีอุณหภูมิติดลบมาเสมอ แต่สถานการณ์โลกร้อนกำลังจะเปลี่ยนความจริงนั้น

นักวิทยาศาสตร์รู้มานานหลายปีแล้วว่า บริเวณรอบนอกของทวีปแอนตาร์กติกากำลังร้อนขึ้น โดยพวกเขาเคยคิดว่า ขั้วโลกใต้ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในทวีปนั้น ไม่น่าได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

แต่ล่าสุด การศึกษาใหม่ในวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า ?ขั้วโลกใต้? ร้อนขึ้นเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีนัยยะส่งสัญญาณไปถึงการละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก

ไคล์ เคล็ม (Kyle Clem) นักวิจัยปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเวลลิงตัน และผู้วิจัยการศึกษาดังกล่าว กล่าวว่า "นี่เป็นการเน้นย้ำว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องของทั้งโลก และมันกำลังคืบคลานไปยังสถานที่ห่างไกลเหล่านี้"

เคล็มและทีมของเขาวิเคราะห์ข้อมูลสถานีอากาศที่ขั้วโลกใต้ เช่นเดียวกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ เพื่อตรวจสอบความร้อนในทวีปแอนตาร์กติกา พวกเขาพบว่า ระหว่างปี 1989 ถึงปี 2018 ขั้วโลกใต้อุ่นขึ้นประมาณ 1.8 องศาเซลเซียสในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในอัตรา 0.6 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ หรือคิดเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ขั้วโลกใต้ร้อนขึ้น เกิดจากการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิผิวน้ำทะเลซึ่งห่างออกไปหลายพันไมล์ในเขตร้อน (Tropics)

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนทางตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรของออสเตรเลียและปาปัวนิวกีนี นั่นหมายถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ถูกส่งไปยังขั้วโลกใต้ด้วย

"มันเป็นที่รกร้าง มันเป็นสถานที่ที่ห่างไกลที่สุดในโลกซึ่งความร้อนไม่น่าจะไปถึง แต่ประเด็นสำคัญคือ อุณหภูมิเขตแอนตาร์กติกนั้นมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไป 10,000 กิโลเมตรในแปซิฟิกเขตร้อน" เคล็มกล่าว

ทีมพบว่า ภาวะที่อุณหภูมิในแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้น นอกจากจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายทศวรรษ ยังถูกเสริมด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เร่งกระบวนการให้แอนตาร์กติการ้อนเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของทวีปแอนตาร์กติกาได้ถูกบันทึกไว้ที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และภาวะโลกร้อนมีผลกระทบร้ายแรงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

ข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า แผ่นน้ำแข็งของแอนตาร์กติกามีน้ำมากพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลกได้เกือบ 60 เมตร

อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิในแอนตาร์กติกาสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่สถานีวิจัย Esperanza ของอาร์เจนตินา สามารถวัดอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกในทวีปแอนตาร์กติกาได้ที่ 18.3 องศาเซลเซียส


https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8...0%B8%99/128424

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม