ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 20-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


กลไก "ลดคาร์บอน" ไร้น้ำยา อุณหภูมิโลกพุ่งต่อเนื่อง



ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงขึ้นทั่วโลก สาเหตุจากภาวะโลกร้อนเป็นความท้าทายสำคัญของโลก ส่งผลให้ประชาคมโลกให้ความสนใจและร่วมกันหาทางออก

โดยตามเป้าหมายของความตกลงปารีส ปี 2015 หรือกรอบอนุสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมกันรักษาการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม อัลจาซีรารายงานผลสำรวจภูมิอากาศ ประจำปี 2019 ของกรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดเผยเมื่อ 15 ม.ค. 2020 พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อปี 2019 สูงกว่าอุณหภูมิช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.15 องศาเซลเซียส และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับงานวิจัยจากหลายสำนักซึ่งคาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในปี 2100

ทั้งนี้ทั่วโลกดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วยวิธีการ "กำหนดราคาคาร์บอน" (carbon pricing) เพื่อกำหนดต้นทุนสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมี 2 วิธีที่ได้รับความนิยม ได้แก่
1.การเก็บภาษีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ "ภาษีคาร์บอน" และ
2.จัดตั้งตลาดซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ "ตลาดคาร์บอนเครดิต"

การเก็บภาษีคาร์บอนเป็นวิธีการที่ดำเนินการง่าย แต่ก็เป็นวิธีการที่มีผลกระทบธุรกิจ ทำให้หลายประเทศยังไม่สามารถเก็บภาษีในอัตราที่เพียงพอต่อการรักษาระดับอุณหภูมิโลก

ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างอิงงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศ จัดเก็บภาษีคาร์บอนเฉลี่ย 2 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันเท่านั้น ซึ่งยังห่างกับอัตราภาษีที่ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเป็นอัตราที่จำเป็นสำหรับการรักษาอุณหภูมิโลกตามข้อตกลงปารีสคือที่ระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แต่หากรัฐบาลเก็บภาษีอัตราที่ไอเอ็มเอฟเสนอคาดว่าจะส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 75% และราคาน้ำมันเบนซินอาจเพิ่มขึ้น 5-15% ตามโครงสร้างของแต่ละประเทศ ดังนั้นการเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล เช่น ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นต้น

ขณะที่การจัดตั้ง "ตลาดคาร์บอน" อาจเกิดแรงเสียดทานต่อรัฐบาลน้อยกว่า แต่กระบวนการจัดตั้งตลาดดังกล่าวของแต่ละประเทศก็มีขั้นตอนและกฎเกณฑ์จำนวนมาก โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า การจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตของจีน ประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 27% ของโลก ต้องล่าช้าถึง 3 ปี เนื่องจากติดขัดเรื่องกฎเกณฑ์ โดยทางจีนเลื่อนกำหนดการเปิดตัวตลาดจากปี 2017 เป็นปี 2020 นอกจากนี้มาตรฐานของตลาดคาร์บอนเครดิตในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพตลาด และในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 เมื่อ ธ.ค. 2019 ประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงเรื่องมาตรฐานร่วมของตลาดคาร์บอนเครดิตได้

ตลาดคาร์บอนเครดิตถือเป็นวิธีการที่อิงกับกลไกตลาด ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเท่ากับการเก็บภาษีคาร์บอน นอกจากนี้การกำหนดโควตาการปล่อยคาร์บอน ที่พิจารณาการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นการเพิ่มแรงจูงใจอีกทาง

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกินเวลานานและอาจไม่ทันกับธรรมชาติที่กำลังเสื่อมโทรมลงทุกวัน


https://www.prachachat.net/world-news/news-412119

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม