ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 16-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


เผยจุดอ่อนของหมีน้ำ สัตว์ตัวจิ๋วที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก


ทาร์ดิเกรดเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ทนทานต่อทุกสภาวะแม้ไร้อากาศ ไร้น้ำ หรือมีกัมมันตรังสี

ตัวทาร์ดิเกรด (Tardigrade) หรือ "หมีน้ำ" เป็นสัตว์ขนาดเล็กจิ๋วที่ใคร ๆ หลายคนชื่นชอบ เพราะความทนทรหดต่อสภาวะแวดล้อมที่โหดร้ายได้อย่างเหลือเชื่อของมัน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิสุดขั้วทั้งจุดเยือกแข็งและจุดเดือด, สภาพสุญญากาศ, ภาวะไร้ออกซิเจน หรือห้วงอวกาศที่มีรังสีอันตราย หมีน้ำก็สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยล่าสุดกลับชี้ว่าหมีน้ำอาจไม่ได้แข็งแกร่งขั้นสุดยอดอย่างที่เข้าใจกันมา มันสามารถจะถูกภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำร้ายเอาได้ง่าย ๆ เหมือนกับสัตว์โลกทั่วไป

ทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้ลงในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่าได้ทำการทดลองกับหมีน้ำจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ เพื่อทดสอบถึงความสามารถในการทนต่ออุณหภูมิสูงเป็นเวลายาวนาน

มีการเก็บตัวอย่างหมีน้ำ จากรางน้ำฝนบนหลังคาบ้านหลังหนึ่งในเมืองนีโวของเดนมาร์ก โดยพบว่าหมีน้ำที่สุ่มเก็บมาได้มีอยู่หลายชนิดพันธุ์ ทั้งที่อยู่ในสภาพเคลื่อนไหวโดยหากินหรือสืบพันธุ์ตามปกติ และที่อยู่ในสภาพจำศีลแน่นิ่งเหมือนไร้ชีวิต

เมื่อทดลองเพิ่มอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่หมีน้ำอาศัยอยู่ พบว่าหมีน้ำในสภาวะที่ดำรงชีวิตตามปกติ ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันได้เป็นเวลานานเท่าที่เคยคิดกัน โดยพวกมันมีอัตราการตายสูงถึง 50% หากต้องอยู่ในอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง


หมีน้ำทนทานต่อรังสีอันตรายในอวกาศ และอาจอยู่รอดบนดวงจันทร์ได้ Image copyrightGETTY IMAGES

ส่วนหมีน้ำที่อยู่ในสภาวะจำศีล ซึ่งมีร่างกายหดแห้งลงและมีเกราะเป็นสารที่คล้ายแก้วเคลือบหุ้มตัว จะทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างฉับพลันได้มากกว่าและนานกว่า โดยจะมีอัตราการตาย 50% เมื่ออยู่ในอุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ยังมีการทดลองให้หมีน้ำในสภาวะที่ดำรงชีวิตตามปกติ ได้ปรับตัวกับสภาพที่อุณหภูมิค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยให้พวกมันอยู่ในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วค่อยเพิ่มเป็น 35 องศาเซลเซียสอีก 2 ชั่วโมง ก่อนจะเพิ่มเป็น 37.6 องศาเซลเซียส ซึ่งในกรณีนี้พบว่าพวกมันมีอัตราการอยู่รอดเพิ่มสูงขึ้นมาก

แม้งานวิจัยก่อนหน้านี้จะชี้ว่า หมีน้ำสามารถทนต่ออุณหภูมิร้อนสุดขั้วได้ถึง 151 องศาเซลเซียสก็ตาม แต่นั่นเป็นการทดลองที่กินเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

ดร. ริคาร์โด เนเวซ หัวหน้าทีมผู้วิจัยบอกว่า "ผลการศึกษาล่าสุดทำให้เราสรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อโอกาสอยู่รอดของหมีน้ำในอุณหภูมิสูง ก็คือระยะเวลาที่มันต้องเผชิญกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ยิ่งพวกมันเจอกับความร้อนนานขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีชีวิตรอดยิ่งลดลง แม้ว่าจะอยู่ในสภาพจำศีลที่มีความแข็งแกร่งเกินปกติก็ตาม"

"เมื่อพิจารณาจากผลการทดลอง ระยะเวลาที่ต้องทนความร้อนยาวนาน สามารถทำให้ประชากรหมีน้ำล้มตายลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง แม้จะเป็นภาวะที่ระดับอุณหภูมิไม่ได้สูงสุดขั้วก็ตาม ทำให้น่าคิดว่าสภาพการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของหมีน้ำด้วยเช่นกัน"


https://www.bbc.com/thai/features-51113381


*********************************************************************************************************************************************************


มหาสมุทรร้อนขึ้นในอัตราเทียบเท่าระเบิดปรมาณูถล่ม 5 ลูกต่อวินาที


Image copyrightGETTY IMAGES

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเผยผลการศึกษาเรื่องระดับอุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลก ในรายงานที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Advances in Atmospheric Sciences ฉบับล่าสุด โดยชี้ว่าในปี 2019 มหาสมุทรร้อนขึ้นในอัตราที่น่าตกใจยิ่งกว่าเดิม โดยพลังงานความร้อนที่เพิ่มขึ้น เทียบได้กับระเบิดปรมาณูแบบที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น ซึ่งถูกทำให้ระเบิดขึ้นเป็นจำนวน 5 ลูกต่อวินาทีอยู่ตลอดเวลา

มีการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ของช่วงทศวรรษ 1950 มาจนถึงปี 2019 โดยพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.075 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับของช่วงปี 1981-2010

แม้จะดูเหมือนว่าระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่หากคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มหาสมุทรกว้างใหญ่และมีปริมาณน้ำอยู่มหาศาล การทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นนิดหน่อยก็ยังจะต้องใช้พลังงานความร้อนสูงมากในระดับที่เหลือเชื่อ เช่นในกรณีล่าสุดนี้ ทีมผู้วิจัยประมาณการว่าต้องใช้พลังงานถึง 228 เซกซ์ทิลเลียนจูล (Sextillion Joules ) จึงจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นตามระดับที่รายงานได้

เพื่อให้คนทั่วไปมองเห็นภาพรวมและจินตนาการถึงพลังงานความร้อนระดับมหาศาลดังกล่าวได้ ทีมผู้วิจัยจึงได้คำนวณเปรียบเทียบกับพลังงานความร้อนที่ปลดปล่อยจากระเบิดปรมาณู ซึ่งสหรัฐฯใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945


ระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิมีอานุภาพร้ายแรงกว่าที่เมืองฮิโรชิมาเสียอีก Image copyrightGETTY IMAGES

"ระเบิดปรมาณู 1 ลูก ปลดปล่อยพลังงานราว 63 ล้านล้านจูล" ดร. เจิ้ง ลี่จิง จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) หนึ่งในทีมผู้วิจัยอธิบาย "พลังงานความร้อนที่เราใส่เพิ่มเข้าไปในมหาสมุทรตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา 3.6 พันล้านลูก หรือเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 4 ลูก ในทุก 1 วินาที"

"แต่ในปี 2019 อัตราการเพิ่มขึ้นของพลังงานความร้อนนี้กลับสูงขึ้นอีก เทียบเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 5 ลูก ในทุก 1 วินาทีอยู่ตลอดเวลา"

ศาสตราจารย์จอห์น อับราแฮม จากมหาวิทยาลัยเซนต์โทมัสในรัฐมินนิโซตาของสหรัฐฯ หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวเสริมว่า "ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ลองเปรียบเทียบกับการที่คนบนโลกนี้ทุกคน ใช้ไดร์เป่าผมคนละ 100 ตัว เป่าลมร้อนจ่อไปยังมหาสมุทรพร้อมกันก็ได้"

การที่มหาสมุทรร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัตว์ทะเลหลายชนิดรวมทั้งโลมาต้องตายลง เพราะไม่สามารถปรับตัวตามทันความเปลี่ยนแปลงนี้ได้

"แม้แต่การที่มีไอน้ำระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ก็ยังส่งผลทางลบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นและเกิดพายุทรงพลังรุนแรงมากขึ้นทุกที" ศ. อับราแฮมกล่าว


https://www.bbc.com/thai/features-51121325

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม