ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 17-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"กลไกสิ่งแวดล้อม โจทย์ใหญ่รัฐไทยยุคโลกร้อน" ................. โดย
กองบรรณาธิการ DXC Thai PBS




ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากที่สุด ขณะที่ระดับความแปรปรวนก็เริ่มรุนแรงขึ้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ ?กลไกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐไทย? พร้อมแค่ไหนต่อการรับมือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไทยพีบีเอสชวนอ่านการวิเคราะห์ความพร้อมของกลไกรัฐไทยจาก "สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


เมื่อโลกร้อนขึ้น

"ปัญหาโลกร้อน" เป็นปัญหาสำคัญ ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกอยู่ที่ประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงถึง 3 องศาเซลเซียสจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง เกิดการสูญพันธ์ของสัตว์มากที่สุดเท่าที่เกิดขึ้น เกิดการตายของแนวปะการัง แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติต่างๆ มากมาย นำไปสู่เรื่องอากาศสุดขั้ว ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม อย่างรุนแรง

"ถามว่าทำไมโลกถึงร้อนขึ้น เพราะปกติโลกจะมีแก๊สโอโซนปกคลุมโลกอยู่ในชั้นสตาร์โตสเฟีย แต่การใช้สารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) หรือสารทำความเย็นในตู้เย็นหรือแอร์จำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือไปทำลายโอโซนที่อยู่ขั้วโลก เกิดเป็นช่องโหว่ขึ้นมา ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นรังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือรังสีอินฟาเรดซึ่งเป็นความร้อนส่องเข้ามาในโลกมากขึ้น"

โดยปกติรังสีพวกนี้สะท้อนออกไป 70% และเข้ามา 30% แต่เมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกจำนวนมากไปปกคลุมอยู่ที่ผิวโลกในชั้นโทโปสเฟียร์ สารพวกนี้เป็นตัวดูดกลืนความร้อนทั้งหมด ทำให้รังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสีอินฟาเรดที่เข้ามาในโลก ไม่สามารถสะท้อนกลับไปได้ ทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้น 11% เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาทำลายป่าและที่ดิน และมากถึง 65% ที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ยังมาจากก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยจากนาน้ำขัง ไม่ว่าจะเป็นทำนาข้าว นาปรัง นาปี

"มาจากสาขาผลิตไฟฟ้าและการใช้พลังงานมากถึง 74% รองลงมาคือปศุสัตว์ การเพาะปลูก 16% และกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ 6% และขยะน้ำเสีย 4%"


ไทย เป็น 1 ใน 10 ของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อ โลกร้อน เกิดขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคืออะไร? เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปากีสถานน้ำท่วมครึ่งประเทศ บ้านเรือนเสียหายประมาณ 1 ล้านหลังคาเรือน ประเทศทางยุโรปและอเมริกาเกิดฮีทเวป (Heat Wave) อุณหภูมิพุ่งทะลุ 50 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประเทศจีน เกิดฝนตกน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ และมีการเตือนว่าความร้อนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ส่งผลต่อน้ำทะเลสูงขึ้น 40 เซนติเมตรในปี ค.ศ.2100

ถามว่าแล้วประเทศไหนทำอะไรบ้าง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน แคนาดา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย บอกจะยุติการตัดไม้ทันทีในปี ค.ศ.2050 และเฉพาะแคนาดากับฝรั่งเศสยังบอกด้วยว่าจะยุติการใช้ถ่านหิน ยุติการปล่อยก๊าซมีเทนต่าง ๆ ในปี ค.ศ.2050

ส่วนประเทศไทยในปี ค.ศ.2065 ยังไม่มีมาตรการหรือแผนการอะไรที่จะนำไปสู่การยุติการตัดไม้หรือยุติการใช้ถ่านหินหรือลดการปล่อยก๊าซมีเทน ขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทย (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) บอกว่าในปี ค.ศ.2065 ประเทศไทยต้องเป็น Net Zero คือจะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ขณะที่ทั่วโลกใช้ปี ค.ศ.2050 ซึ่งไทยก็จะช้ากว่าประเทศอื่น

5 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ จีน สหรัฐ อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น ประเทศไทยเป็นอันดับ 21 ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 0.8 ของโลก แต่เป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากที่สุด

"นั่นคือปัญหา ถ้ายังไม่มีนโยบายชัดเจน เราก็จะขายของไม่ได้ เพราะวันที่ 1 มกราคม 2026 หรืออีก 3 ปีจากนี้ ยุโรปจะใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน ซึ่งหากไทยผลิตสินค้า 8 ประเภท"

โดยสินค้าทั้ง 8 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ อะลูมิเนียม น้ำมัน ไฮโดรเจน และผลิตภัณฑ์พลาสติกเคมีภัณฑ์ หากไม่มีมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ยุโรปกำหนดไว้ ไทยก็จะส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปขายในยุโรปไม่ได้ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข

นอกจากนี้ยังมีปัญหา กองขยะมูลฝอยชุมชน ที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องอีก 1,963 แห่ง ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรม ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 65,000 โรง ทำให้เกิดของเสียอุตสาหกรรมจากการผลิตเป็นของเสียประมาณ 1.5 ล้านตัน พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีการ ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม มากถึง 79 ครั้ง สูงสุดอยู่ที่ภาคตะวันออก 45 ครั้ง ภาคกลาง 21 ครั้ง ภาคตะวันตก 8 ครั้ง เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาสารเคมีแพร่กระจาย กลิ่นเหม็น การปนเปื้อนน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำผิวดิน

อีกเรื่องสำคัญ คือปัญหา ฝุ่น pm 2.5 ซึ่งประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการแก้ปัญหานี้เป็นแผนระดับชาติ แต่ผ่านมาแล้ว 5 ปี ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ มีรถดีเซลประมาณ 2.7 ล้านคันที่อยู่ในกรุงเทพ รถเหล่านี้ใช้น้ำมันยูโร 4, ยูโร 3 ซึ่งมีกำมะถัน 350 ppm จะต้องเปลี่ยนใช้ยูโร 5 คือน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ซึ่งเดิมแผนบอกว่าจะต้องใช้ในปี พ.ศ.2564 แต่ก็ทำไม่ได้ ต่อมาขอเลื่อนเป็น 1 ม.ค. 2567

"ทั้งหมดนี้คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปัญหาคือทำไมถึงเกิดซ้ำซากทุกปี รัฐบาลยุคก่อนๆ ทำไมแก้ไขไม่ได้"


จุดอ่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมของไทย

ประเทศไทยมี กฎหมายสิ่งแวดล้อม หลายฉบับสอดแทรกอยู่ในหน่วยงานอนุญาต แต่มีลักษณะต่างคนต่างทำ จุดอ่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อันที่หนึ่งก็คือหน่วยงานสิ่งแวดล้อมที่อยู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุม เนื่องจากมีกฎหมายของหน่วยงานอนุญาตบังคับใช้อยู่

"เช่น ถ้าโรงงานปล่อยมลพิษทางอากาศหรือกากของเสีย ต้องรอให้กรมโรงงานไปเคลียร์ให้เรียบร้อยก่อน กรมควบคุมมลพิษหรือหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะเข้าไปจัดการได้ต่อเมื่อมีประชาชนร้องเรียนเท่านั้น ซึ่งมักจะค่อนข้างช้าและไม่ทันเหตุการณ์ที่มลพิษแพร่กระจายไปเรียบร้อยแล้ว"

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ปัญหาคือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปทางไหน ขณะที่กรรมการไม่ได้มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มาจากนักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคม ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ การรับรู้ปัญหาของพื้นที่จึงอาจไม่มี

กระบวนการจัดทำ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ หรือสงขลา รายงาน EIA เห็นชอบ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย มีการประท้วงขัดขวาง สุดท้ายก็กลายเป็นว่า EIA ขาดความน่าเชื่อถือ

การประกาศ เขตควบคุมมลพิษ ไม่มีกำหนดยกเลิก ที่มาบตาพุด จ.ระยอง หรือหน้าพระลาน จ.สระบุรี ประกาศมา 10 กว่าปี ทุกวันนี้ก็ยังประกาศอยู่อย่างนั้น เพราะแผนลดและขจัดมลพิษทำโดยท้องถิ่น ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเพียงหน่วยงานวางแผน ปัจจุบันเปลี่ยนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็น กรมโลกร้อน แต่เมื่อดูอำนาจหน้าที่กลับเป็นเพียงแค่หน่วยงานวางแผน ประสานงาน รายงานสถานการณ์ ติดตามการดำเนินการตามแผน ไม่มีอำนาจไปสั่งการหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เป็นเสือกระดาษ ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง

การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ยังเป็นจุดอ่อน เนื่องจากไม่มีเงินกองทุนที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ ต้องไปฟ้องศาลซึ่งใช้เวลานาน ต้องรอคำตัดสินจากศาลก่อน ซึ่งไม่ทันการ


แนวทางปรับกลไกด้านสิ่งแวดล้อมในยุคโลกร้อน

คำถามว่าแล้วแนวทางปรับกลไกด้านสิ่งแวดล้อมในยุคโลกร้อนของประเทศไทยควรจะทำอะไรบ้าง อันที่หนึ่งคือ เราต้องใช้หลักการ Check and Balance ทำให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการติดตามตรวจสอบ พิสูจน์หลักฐาน บังคับใช้กฎหมาย แทรกแซงอำนาจจากหน่วยงานอนุญาตได้ในการกรณีที่ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม

"ใช้หลักการ Polluter Pay Principle โครงการที่ทำผิดกฎหมายต้องจ่ายเงินชดเชยทันที ต้องบังคับให้โครงการทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาก็ต้องจ่ายทันที"

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องมีระบบการคัดเลือกและตรวจสอบคณะกรรมการอย่างเข้มงวดและโปร่งใส ต้องดูว่ากรรมการบางคนมีหุ้นอะไรที่ไหน และจะต้องมีภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพเข้าไปร่วมด้วย ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการเกษียณเหมือนปัจจุบัน

การลดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ ต้องเข้าไปจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ กองทุนสิ่งแวดล้อมต้องปรับโครงสร้างให้ตอบสนองการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และชดเชยฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมได้ทันท่วงที กรมโลกร้อนที่จะตั้งขึ้นใหม่ ไม่ใช่ตั้งไว้เพื่ออวดชาวโลก แต่ต้องมีอำนาจจัดการและบังคับใช้กฎหมายในการที่จะให้หน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาครัฐลดก๊าซเรือนกระจกได้ทันที ต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จ

"ประเทศไทยยุคนี้ ต้องปรับกลไกด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันยุคสมัย ตอนนี้กำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ต้องมาปรับกลไกตรงนี้ให้เปลี่ยนไปจากเดิม ต้องไม่เกรงใจหน่วยราชการ"


https://dxc.thaipbs.or.th/news_updat...9%8c%e0%b9%83/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม