ดูแบบคำตอบเดียว
  #9  
เก่า 03-08-2015
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default

ผู้จัดการออนไลน์


เพชฌฆาตใต้ทะเล “แมงกะพรุนกล่อง” ฆ่าคนนับไม่ถ้วน! ..... (ต่อ)


11 ข้อ รู้เท่าทันพิษร้าย

เมื่อประเด็นดังกล่าวแพร่สะพัดออกไปสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนจำนวนมาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ได้ออกมาเกาะติดสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน โดยออกมาโพสต์แสดงความเสียใจกับผู้เคราะห์ร้าย และกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ร้ายในท้องทะเลอย่างแมงกะพรุนกล่อง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คส่วนตัว 11 ข้อดังนี้

1. ในปัจจุบัน แมงกะพรุนกล่องเริ่มมีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบอยู่ทั่วอ่าวไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีรายงานผู้โดนในอ่าวไทยมากกว่า แมงกะพรุนกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก หัวใหญ่ประมาณกำปั้น แต่สายยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สายเดี่ยว (ในแต่ละมุม) และสายเป็นกลุ่ม ปกติสายเดี่ยวจะมีพิษน้อยกว่าพวกสายกลุ่ม พบในไทย 10-11 ชนิด กะพรุนกล่องมีพิษต่างกันไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณที่โดน ยังขึ้นกับคนที่แพ้พิษระดับใด ไม่ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกาย

2. สาเหตุที่กะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นจากอดีต อาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือจากระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากมนุษย์ แต่การแก้ที่ต้นเหตุยังทำไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้หาทางเลี่ยงเองครับ

3. กะพรุนกล่องพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในน้ำตื้นก็เป็นไปได้ พบในเขตชายฝั่งหรือเกาะใกล้ฝั่ง เช่น สมุย พะงัน เกาะล้าน มากกว่าในเกาะไกลฝั่ง เช่น สิมิลัน

4. เนื่องจากมีขนาดเล็ก (เท่ากำปั้น) เคลื่อนที่เร็ว ตัวใส และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่คนเล่นน้ำมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเป็นนักดำน้ำ อาจมองเห็น นอกจากนี้ นักดำน้ำสวมเวตสูท โอกาสเป็นอันตรายน้อย เท่าที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทย (นับจากปี 41 มากกว่า 10 ราย เท่าที่ทราบ ไม่เคยมีนักดำน้ำเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นคนเล่นน้ำ)

5. หากโดนเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมาและแพ้พิษ มีโอกาสเสียชีวิต

6. ทางป้องกันคือใส่ชุดมิดชิดลงเล่นน้ำ นั่นก็เป็นไปได้ยากเหมือนกัน ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีชุด stinger suit สำหรับใส่เล่นน้ำ เหนือมีจุดเล่นน้ำแบบมีตาข่ายกั้น ในเมืองที่ผมเคยอยู่ก็ต้องเล่นน้ำเฉพาะในที่กั้นครับ



7. หากโดนจะรู้ตัวทันที เพราะเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตหรือแส้ฟาด ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด อาการรุนแรงอาจเกิดภายใน 5-6 นาที

8. ใช้น้ำทะเลสาดหรือล้างบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเศษหนวดที่อาจติดมา อย่าใช้มือแตะโดยเด็ดขาด อย่าใช้น้ำจืดล้างเพราะน้ำจืดจะทำให้เข็มพิษทำงานมากขึ้น

9. ราดด้วยน้ำส้มสายชูปริมาณมาก และนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด พร้อมบอกแพทย์ว่าโดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รีบนำส่งแพทย์เป็นอันดับแรก ควรแยกกันช่วย คนหนึ่งวิ่งไปหาถังมาตักน้ำทะเลสาด คนหนึ่งวิ่งเข้าครัวไปหาน้ำส้มสายชูมาเยอะๆ อีกคนรีบหารถและโทรหาแพทย์โดยด่วน ควรมีผู้ที่ปั๊มหัวใจเป็นอยู่ในรถด้วย โดยปกติหากผู้ป่วยรอดเกิน 10 นาที โอกาสเสียชีวิตมีน้อยมาก นี่เป็นสถิติจากออสเตรเลียครับ

10. หน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในอ่าวไทย ควรมีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมทรัพยากรทางทะเล ควรเป็นหน่วยหลัก เพราะเมื่อดูจากสถิติร้ายแรงแล้ว เราเริ่มอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก

11. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและหน่วยงานท้องถิ่น ควรพิจารณาการจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์และจัดเตรียมกล่องน้ำส้มสายชูสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยว เท่าที่คิดออกตอนนี้ครับ สุดท้าย ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งครับ


ทำอย่างไรเมื่อโดนพิษแมงกะพรุนกล่อง

“ทันทีที่โดนแมงกะพรุนกล่อง เราจะเจ็บจี๊ดขึ้นมาควรตั้งสติ ตะโกนบอกเพื่อนให้รู้ตัว อย่าเอามือปัดป่ายไปมาเพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดแมงกะพรุนหนักขึ้น สังเกตว่าผู้ที่โดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้มักมีริ้วรอยทั้งตามลำตัวและมือแขน เพราะตกใจจึงพยายามปัดไปให้พ้นตัว

ค่อยๆ เดินออกมาจากตรงนั้น เพื่อป้องกันยิ่งวิ่งยิ่งโดนหนัก สำหรับคนที่จะเข้าไปช่วย ให้ระวังอย่างมาก เพราะอาจโดนแมงกะพรุน ถ้าเขาเดินมาหาเราได้ ให้เรารออยู่ตรงนั้น หรือถ้าเขามีท่าทางไม่ดี ควรเข้าไปช่วยเพียงคนเดียว และหาทางปกปิดร่างกายมากที่สุด ตั้งสติเตรียมรับมือหากโดนกะพรุน

คนโดนต้องพยายามขึ้นฝั่งให้เร็วที่สุด เมื่อมาถึงฝั่งบนหาดทราย ให้นั่งบนพื้นแล้วดูบาดแผล หากโดนจนเกิดเส้นสายคล้ายรอยไหม้เป็นบริเวณกว้าง ให้เพื่อนโทรศัพท์หาโรงพยาบาลใกล้ที่สุดและให้รีบบอกคนแถวนั้น เพื่อเตรียมรถไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ระหว่างนั้น ให้อีกคนไปหาถังหรืออะไรก็ได้ที่ตักน้ำได้ ตักน้ำทะเลริมฝั่ง (ยิ่งน้ำอุ่นยิ่งดี) สาดใส่บริเวณที่โดนโดยแรง ตักสาดไปเรื่อยๆ เพื่อกำจัดเข็มพิษให้มากสุด”

ดร.ธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมบอกถึงขั้นตอนการหลีกเลี่ยงและขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเจอแมงกะพรุนกล่อง เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้เขายังกล่าวต่อถึงการทำงานของพิษแมงกะพรุน หากผู้ใดโดนพิษแมงกะพรุนแล้วให้ใช้น้ำทะเลสาดทันที เพราะความเค็มของน้ำจะทำให้พิษหลุดไปได้

“เข็มพิษของแมงกะพรุนจะทำงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะหลุดจากตัวมาแล้ว เซลล์เข็มพิษบางส่วนอาจยิงเข็มไปแล้ว บางส่วนอาจยังไม่ได้ยิง การใช้น้ำทะเลสาดจะช่วยให้เซลล์เข็มพิษหลุดไป อย่าใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะปกติเข็มพิษอยู่ในทะเล เมื่อราดด้วยน้ำจืด จะเกิดปฏิกิริยาทำให้เซลล์ยิงเข็มพิษ ต้องใช้น้ำทะเลเท่านั้น ห้ามใช้ปัสสาวะหรือน้ำยาอื่นๆ รวมถึงเหล้าหรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จำง่ายๆ ว่าอะไรที่ไม่ใช่น้ำทะเล จะทำให้เข็มพิษทำงานหนักขึ้น

หากมีเศษหนวดติดอยู่ ต้องรีบเอาออก แต่อย่าใช้มือสัมผัสโดยเด็ดขาด ใช้น้ำสาดใส่ หรือใช้กิ่งไม้เศษไม้เขี่ยออก หรือหากมีเครดิตการ์ด จะใช้ขูดออกก็ได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มีรายงานบอกว่า ใช้ครีมโกนหนวดเทใส่บริเวณแผลก็ช่วยได้ หน่วยงานทางการแพทย์บางแห่งยอมรับ สำหรับผมหากโดนจริงก็คงใช้ (แต่ไม่มั่นใจนะครับ) การนำเศษหนวดและเซลล์เข็มพิษออกจากผิวหนังเป็นเรื่องสำคัญสุด เซลล์เข็มพิษพวกนี้อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าชุดว่ายน้ำและยิงไปเรื่อย เพราะฉะนั้น หาทางถอดชุดพวกนั้นออก อย่าทิ้งไว้คาตัวผู้ป่วย”



ต่อข้อสงสัยที่ว่า หากโดนพิษแมงกะพรุนแล้วใช้น้ำส้มสายชูจะช่วยได้จริงหรือไม่นั้น ดร.ธรณ์ กล่าวว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 กระแสคือ น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าจะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งออกมาเยอะจะทำให้เกิดอันตรายได้

“ตอนนี้ดันมีงานวิจัยบอกว่าไม่แน่แล้วนะ แม้น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่จะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งออกมาใหญ่ บอกตามตรง ในโลกยังมี 2 กระแส บ้างก็ยังใช้อยู่ บ้างก็ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว สำหรับผม ยังไงก็ใช้ครับ แต่ไม่หมกมุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์

จากนั้นก็นำส่งแพทย์โดยด่วน ต้องมีผู้ที่ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นไปด้วย โดยปกติแล้ว หากนำเซลล์เข็มพิษออกหมด ภายใน 5-10 นาที อาการเจ็บปวดน่าจะทุเลา อาจใช้น้ำแข็งประคบก็ได้ครับ แต่ต้องมั่นใจว่าเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยที่โดนมากจะเกิดอาการรุนแรงใน 10 นาที หากหลังจากนั้นโอกาสเสียชีวิตมีน้อยครับ”

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านระบบนิเวศทางทะเล ยังกล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมอีกว่าจากสถิติที่ผ่านมาประชากรต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการโดนแมงกะพรุนกัดหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมทะเล กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานท่องเที่ยว และองค์กรท้องถิ่น ควรต้องหารือเพื่อหาแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันน่าสะเทือนขวัญ ดังเช่นกรณีนี้ขึ้นอีก


http://www.manager.co.th/Daily/ViewN...=9580000087144
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม