ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 07-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


หายนะชัดๆ สัตว์ทะเลหลายร้อยตายเกลื่อนหาดรัสเซีย หลังเชื้อเพลิงจรวดรั่วไหล

สัตว์ทะเลหลายร้อยตัว ทั้งปลาหมึก แมวน้ำ หอยเม่น ปลา ปู ตายเกลื่อนชายหาดรัสเซีย ชาวบ้านพากันแสบร้อนผิวหนัง หลังสารพิษเชื้อเพลิงจรวดรั่วไหลลงทะเล ผู้เชี่ยวชาญระบุ เป็นหายนะร้ายแรงของระบบนิเวศ



เมื่อวานนี้ 5 ต.ค. กลุ่มปกป้องสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ เผยแพร่ภาพชายหาดคาลัคทีร์สกี บริเวณคาบสมุทรคัมชัตกา ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย เต็มไปด้วยซากสัตว์ทะเลจำนวนหลายร้อยตัวที่มาตายเกยตื้น ขณะที่น้ำทะเลกลายเป็นสีเหลือง และมีโฟมสารพิษลอยอยู่ เมื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล พบว่า มีปริมาณน้ำมันปนเปื้อนสูงขึ้นกว่า 4 เท่า และสารฟีนอล สูงขึ้น 2.5 เท่า นอกจากนี้ยังมีสารพิษอีกหลายชนิดปนเปื้อนในน้ำทะเล โดยเรียกร้องให้ทางการรัสเซียเร่งเข้ามาขจัดสารพิษ และตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น

วลาดิมีร์ เบอร์คานอฟ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาล เปิดเผยว่า คาดว่าสารเคมีในน้ำทะเลอาจมาจากการรั่วไหลของน้ำมันเชื้อเพลิงจรวด ตลอดจนสารพิษอื่นๆ จากแหล่งทดสอบจรวดราดีจีโนที่ถูกนำมาทิ้งบริเวณใต้ภูเขาไฟโคเซลสกี และเมื่อเร็วๆ นี้มีพายุพัดเข้าและมีฝนตกหนัก อาจทำให้สารเคมีถูกน้ำซัดรั่วไหลลงทะเล เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตธารน้ำแข็ง และยังมีภูเขาไฟ ที่คาดว่าจะเป็นแหล่งทิ้งกากเชื้อเพลิงจรวด สารหนู มาตั้งแต่ยุคอดีตสหภาพโซเวียตล่มสลาย



ด้านสำนักข่าวอาร์ทีของรัสเซีย รายงานว่า บรรดานักท่องเที่ยวที่มาเล่นเซิร์ฟบอร์ด และชาวบ้านบริเวณนั้น ต่างมีอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ทางการประกาศห้ามลงน้ำทะเลตลอดแนวชายฝั่ง และเดินหน้าเร่งตรวจสอบ.

ที่มา: Greenpeace


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1946049


*********************************************************************************************************************************************************


จับฉลามขาวยักษ์ "ราชินีแห่งท้องทะเล" 1,600 กก. ขึ้นมาติดแท็ก

นักวิจัยทางทะเลในแคนาดา จับฉลามขาวยักษ์ "ราชินีแห่งท้องทะเล" น้ำหนักกว่า 1,600 กิโลกรัม ขึ้นมาติดแท็กเพื่อทำการศึกษา



เมื่อวันที่ 5 ต.ค. สำนักข่าว CNN รายงานว่า ทีมนักวิจัยกลุ่ม OCEARCH องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ศึกษาประชากรฉลามขาวในทะเลแถบรัฐโนวาสโกเชีย ของแคนาดา สามารถจับฉลามขาวยักษ์ "ราชินีแห่งท้องทะเล" อายุกว่า 50 ปี ที่มีชื่อว่า "นูคูมิ" (Nukumi) ขึ้นมาได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการติดแท็ก อุปกรณ์ที่จะทำหน้าที่ติดตามตัวฉลาม เพื่อให้เราได้ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของมัน

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า นอกจากติดแท็กแล้ว ทีมงานยังได้ทำการวัดขนาด พบว่ามันมีความยาวลำตัว 5.25 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 1,600 กิโลกรัม พร้อมตั้งชื่อให้ฉลามตัวนี้ว่า "นูคูมิ" ตามชื่อหญิงชราผู้มีความเฉลียวฉลาด ในตำนานภาษามิกแมก ของชนพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมฝังรากลึกในแถบโนวาสโกเชีย

นอกจากนี้ นักวิทยาศาตร์ยังระบุว่า ข้อมูลของ "นูคูมิ" จะถูกเก็บรวบรวมเพื่อทำการศึกษาในช่วงอีกหลายปีต่อจากนี้ โดย "นูคูมิ" เป็นฉลามขาวยักษ์ตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาฉลามขาวยักษ์ที่นักวิทยาศาสตร์เคยจับขึ้นมาติดแท็กและศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา.

ที่มา:OCEARCH


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1946050


*********************************************************************************************************************************************************


ความหวังใหม่ของการกำจัดขยะพลาสติก


(ภาพประกอบ Credit : University of Portsmouth)

พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (polyethylene terephthalate-PET) เป็นเทอร์โมพลาสติกที่ใช้กันมากที่สุดในการทำขวดเครื่องดื่ม เสื้อผ้า และพรม PET เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แต่ข้อเสียคือกว่าจะสลายตัวในสิ่งแวดล้อม ก็ต้องใช้เวลานานหลายร้อยปี บรรดานักวิจัยพยายามหาหนทางที่จะกำจัดขยะพลาสติกเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขขึ้นทุกที

ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ในอังกฤษ ประกาศข่าวน่ายินดีกับความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีทำงานของเอนไซม์ PETase ที่ย่อยสลายพลาสติก PET ได้ ให้กลายมาเป็นซุปเปอร์เอนไซม์อีกชนิดเพื่อมาช่วยพิชิตขยะพลาสติก เอนไซม์ตัวใหม่นี้ถูกเรียกว่าเอนไซม์ค็อกเทล เนื่องจากเป็นส่วนผสมของเอนไซม์ PETase กับพันธมิตรเอนไซม์ชื่อ MHETase ซึ่งวิศวกรรมการเชื่อมต่อระหว่างเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิด ก็ได้ซุปเปอร์เอนไซม์ที่สามารถย่อยพลาสติก PET ได้เร็วขึ้นถึง 6 เท่า

ทีมวิจัยเผยว่า ทั้งเอนไซม์ PETase และเอนไซม์ที่ได้จากการรวม PETase และ MHETase จะย่อยสลายพลาสติก PET แล้วคืนกลับมาเป็นส่วนประกอบพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผลิตและนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาทรัพยากรจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล อย่างน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1945520

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม