ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 16-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,336
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


16 กันยายน "วันโอโซนโลก" ร่วมกันพิทักษ์ เห็นความสำคัญของเกราะป้องกันโลก

- วันที่ 16 กันยายน "วันโอโซนโลก" ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของ "โอโซน" ที่ทำหน้าที่ปกป้องโลก

- ความสำคัญของ "โอโซน" ทำหน้าที่ปกป้องโลก หากไม่มีโอโซนจะส่งผลกระทบอย่างไร

- เริ่มที่ตัวเรา แนะวิธีง่ายๆ เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมาร่วมกันปกป้องโอโซน



ทุกวันที่ 16 กันยายน ถูกกำหนดให้เป็น "วันโอโซนโลก" เพื่อให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของ "โอโซน" ที่ทำหน้าที่ปกป้องโลก

แต่ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โอโซนถูกทำลายไปมหาศาลจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะจากการปล่อยสาร CFCs ซึ่งเป็นตัวการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ จนเกิดเป็นช่องโหว่โอโซนขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ทำให้รังสีจากดวงอาทิตย์ผ่านมายังโลกได้โดยตรง

ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศจึงร่วมกันจัดทำ "อนุสัญญาเวียนนา" ในปี พ.ศ. 2528 และพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน และจัดให้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออลขึ้นในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2530

โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2532 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกันลดใช้สาร CFCs ซึ่งเป็นตัวทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ


ความสำคัญของโอโซน

โอโซน (Ozone หรือ O3) เป็นก๊าซในชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม เป็นก๊าซสีฟ้าจางๆ มีกลิ่นฉุน พบมากในชั้นสตาโตสเฟียร์ มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต หรือยูวี จากดวงอาทิตย์ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งช่วยป้องกันระบบนิเวศวิทยาไม่ให้เสียสมดุล


CFCs ตัวร้ายทำลายโอโซน

เป็นที่ทราบดีว่า CFCs หรือ Chlorofluorocarbons เป็นตัวการทำลายโอโซน ซึ่งส่วนมากมาจากโรงงานอุตสาหกรรม และอุปกรณ์ให้ความเย็นในชีวิตประจำวัน อาทิ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศในบ้านหรือรถยนต์ กระป๋องสเปรย์ฉีดพ่นต่างๆ รวมทั้งในขั้นตอนการผลิตโฟม มีองค์ประกอบเป็น คลอรีน ฟลูออไรด์ และโพรวีน

เมื่อโอโซนถูกทำลายมากเข้าจะทำให้เกิดเป็นช่องโหว่โอโซน (Ozone hole) ขนาดใหญ่ในหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้รังสียูวีผ่านมายังโลกได้โดยตรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก


ผลกระทบจากช่องโหว่โอโซน

"โอโซน" ทำหน้าที่เหมือนโล่ป้องกัน เมื่อเกิดช่องโหว่โอโซน จะทำให้รังสียูวีจากดวงอาทิตย์ผ่านมายังโลกในปริมาณที่เข้มข้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก หากมนุษย์ได้รับรังสียูวีมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง โรคต้อกระจก หรืออาจอันตรายถึงขั้นตาบอด รวมทั้งทำให้ผิวเหี่ยวย่นก่อนวัย รวมไปถึงส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

นอกจากรังสียูวีที่ผ่านลงมายังโลกมากขึ้น ยังส่งผลต่อพืชพันธุ์บนโลก เช่น กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ทำให้ลักษณะทางกายภาพของพืชเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งทำให้เกิดโรคพืช


วิธีช่วยกันปกป้องโลก

ดังนั้นเราสามารถช่วยโลก ด้วยการเลือกซื้อและใช้เครื่องปรับอากาศที่มีสัญลักษณ์ Non CFCs, หมั่นตรวจเช็กระบบแอร์รถยนต์ในอู่ที่ได้มาตรฐาน

หมั่นล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในบ้าน, เลิกใช้อุปกรณ์ที่เป็นลักษณะกระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟม


https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2725548


******************************************************************************************************


เลี้ยงราชินีคอลลาเจน ขั้นต่ำ กก.ละ 1,000 บาท .................... โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์



เป๋าฮื้อ...ชื่อหอยทะเล มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ทั้งระบบประสาท สมอง กระดูก ข้อต่อ จึงมีมูลค่าทางการตลาดสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ หอยเป๋าฮื้อยังมีคอลลาเจนที่มีคุณภาพสูง จึงถูกขนานนามว่าเป็น "ราชินีแห่งคอลลาเจน" ละถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

แต่หอยเป๋าฮื้อของไทยเข้าสู่ตลาดได้น้อยมาก เนื่องจากที่ผ่านมาหอยเป๋าฮื้อของไทยได้มาจากการจับจากธรรมชาติทั้งหมด ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมให้ได้ขนาด คุณภาพและปริมาณที่แน่นอนอย่างต่อเนื่องได้

กรมประมงจึงได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยการเพาะและอนุบาล หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด Haliotis asinina จนประสบผลสำเร็จในปี 2531 โดยศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง และกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้พัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทย จนสามารถควบคุมการผสมพันธุ์ ผลิตลูกพันธุ์หอยได้ปริมาณตลอดทั้งปี

นอกจากนั้น กรมประมงยังได้พัฒนาเทคนิคในการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina และถ่ายทอดเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรได้นำไปประกอบเป็นอาชีพในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อตามพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน


"หอยเป๋าฮื้อ หรืออะบาโลน (abalone) ที่พบทั้งหมดในโลกมีประมาณ 70-80 ชนิด แต่ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมีประมาณ 22 ชนิด แต่ในส่วนของประเทศไทยจากการสำรวจพบว่ามีหอยเป๋าฮื้ออยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Haliotis asinina, H. ovina และ H. varia สำหรับหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina ที่กรมประมงเพาะพันธุ์ได้ จะมีลักษณะเด่นคือมีเปลือกติดกับกล้ามเนื้อเท้าขนาดใหญ่แข็งแรง ไม่มีฝาปิดเปลือก มีลักษณะคล้ายจานรี มีสีเขียวเข้ม น้ำตาลหรือแดงคล้ำ ตามขอบเปลือกมีรูเล็กๆ เรียงเป็นแถวยาวไปจนถึงขอบปาก"

ส่วนวิธีการเพาะเลี้ยง นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง บอกว่า จะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี พ่อแม่พันธุ์หอยจะมีความสมบูรณ์เพศตลอดทั้งปี แต่ไข่จะมีปริมาณมากที่สุดในช่วง ม.ค.-ก.พ.

โดยการปล่อยไข่ในแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดของแม่หอย หากมีขนาดเล็ก จะให้ปริมาณไข่น้อย แต่เพศเมียที่เหมาะสมกับการนำมาเพาะจะมีขนาดตั้งแต่ 5.5 ซม.ขึ้นไป จะให้ไข่ครั้งละ 200,000-600,000 ฟอง มีอัตราการฟัก 60-80% และพัฒนาถึงระยะเกาะวัสดุประมาณ 30% มีอัตรารอดเป็นลูกหอยขนาด 1-2 มม. 0.5%

"ขั้นตอนการเลี้ยงที่สำคัญ คือ เตรียมสถานที่จะเพาะเลี้ยง ต้องอยู่ใกล้ทะเลเพราะจะต้องมีการสูบน้ำให้ไหลหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังควรเป็นสถานที่ที่อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายได้ เมื่อได้สถานที่แล้วเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงพันธุ์หอย และที่หลบซ่อนของตัวหอยเป๋าฮื้อ เช่น กระเบื้องมุมโค้ง หรือแผ่นพีวีซีงอเป็นรูปตัว ?V? จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อพัก โดยน้ำจากบ่อพักจะผ่านเข้าสู่บ่อกรอง ซึ่งมีวัสดุจำพวกกรวดและทรายช่วยกรองน้ำก่อนแล้วจึงใช้ถุงกรอง ซึ่งเป็นผ้าสักหลาดมีขนาดช่องตา 5-10 ไมครอน กรองอีกครั้งที่ปลายท่อส่งน้ำก่อนเปิดลงสู่บ่อเลี้ยง"

เมื่อเตรียมบ่อเรียบร้อยแล้ว ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบอกว่า สามารถหาพันธุ์หอยเป๋าฮื้อมาเลี้ยงลงในบ่อได้ ส่วนอาหารที่ให้แก่หอยมีทั้งสาหร่ายผมนาง สาหร่ายสีแดงชนิดต่างๆ และอาหารสำเร็จรูป โดยให้สาหร่ายไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักหอย ทุกๆ 2 วัน หรืออาหารสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 3 ของน้ำหนักหอย โดยให้วันละครั้ง

พร้อมทั้งควรจัดการคุณภาพน้ำในบ่อให้ดีอยู่เสมอ ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสีย โดยใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตไปขายได้

จากการสำรวจราคาหอยในตลาดปัจจุบันพบว่า หอยเป๋าฮื้อขนาด 3?5 ซม. ราคาขาย กก.ละ 1,000 บาท และขนาด 7 ซม. ราคาขายขั้นต่ำ กก.ละ 1,500 บาท

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อถึงจะได้ราคาดี แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนาน ทำให้ระหว่างการเพาะเลี้ยง เกษตรกรจะไม่มีรายได้เข้าสู่ฟาร์ม ขณะที่เกษตรกรต้องมีรายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าแรงงานอยู่แล้ว และจากการที่หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์กินพืช ทำให้สิ่งขับถ่ายมีความเป็นพิษต่ำ

นางสุทธินี แนะนำว่า ดังนั้น การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อแบบผสมผสาน เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ฟาร์ม และเป็นการใช้ทรัพยากรในฟาร์มอย่างคุ้มค่าและกระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจอีกด้วยหากมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี

จากการศึกษาสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่สามารถเพาะเลี้ยงแบบผสมผสานในฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อได้ดี ควรเป็นสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ใช้พื้นที่ในการอนุบาลไม่มากและตลาดมีความต้องการสูง เช่น หอยหวาน ชนิด Babylonia areolata ปูม้า สาหร่ายทะเล หรือปลาทะเลสวยงามชนิดต่างๆ เป็นต้น

สำหรับเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ โทร.0-3266-1398 หรือกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โทร.0-2579-4496.


https://www.thairath.co.th/news/local/central/2725218
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม