ดูแบบคำตอบเดียว
  #67  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

GREENPEACE
15-05-2015

ชะตากรรมทะเลไทยในสถานการณ์ปลดล๊อดใบเหลืองอียู


ภาคประชาสังคมได้มาร่วมกันถกถึงปัญหาวิกฤตประมงไทยและใบเหลืองจากอียู ในประเด็น “ใบเหลืองอียู: ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง”

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าของประเทศเป็นหลัก โดยไม่คิดถึงการรักษาทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว จึงมีมาตรการเร่งรัดเพื่อรักษาตลาด พยายามแก้พรบ.การประมง แก้ไขเรื่องทรัพยากรชายฝั่ง แต่ต้องดูว่าจะเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือเปล่า จะเป็นการแก้ให้เราทุกคนหรือแก้ให้ใคร” คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้มาร่วมกันถกถึงปัญหาวิกฤตประมงไทยและใบเหลืองจากอียู ในประเด็น “ใบเหลืองอียู: ชะตากรรมทะเลไทยในอุ้งมือรัฐและอุตสาหกรรมประมง” ซึ่งเป็นการมาพูดคุยกันถึงข้อวิตกกังวลในเรื่องทรัพยากรทางทะเลไทยที่กำลังถูกตักตวงเกินประสิทธิภาพในการฟื้นฟู จากมุมมองของเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ผู้ที่ทำประมงอย่างอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเล และเห็นถึงวิกฤตปัญหาทางทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่ภาครัฐกลับมองข้ามไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประมงพื้นบ้าน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นทางออกในการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ไม่ใช่อุตสาหกรรมประมงที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม นี่คือโจทย์ที่ภาครัฐต้องเลือกและหาคำตอบให้ได้ระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจและผลประโยชน์ของประชาชน เป็นความท้าทายที่ว่ารัฐบาลจะทำให้ผลประโยชน์กลับมาสู่ประชาชน และระบบนิเวศของทุกคนได้หรือไม่

และที่สำคัญที่สุดคือจะรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ผลประโยชน์ของธุรกิจเป็นรองได้หรือไม่


คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย


เรือประมงแบบทำลายล้าง ศัตรูของท้องทะเลที่ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรม

ข้อกังวลที่ผู้เข้าร่วมเสวนาจาก สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นพ้องตรงกัน คือ ปัญหาการประมงแบบทำลายล้างและเกินขนาดที่สร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรทางทะเล และความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ


คุณสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

“5,919 ลำ คือจำนวนเรืออวนลากที่อ่าวไทยรับได้จากข้อมูลการวิจัยโดยกรมประมง ณ วันนี้ เรืออวนลากมีกว่า 12,000 ลำแล้ว เป็นข้อคำถามถึงความตั้งใจในมาตรการของกรมประมงว่าต้องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยจริงหรือไม่ ภาครัฐของไทยเปิดโอกาสให้เรือประมงพาณิชย์ทำลายล้างทุกอย่าง หลายประเทศมีการปิดประเทศไม่ให้เรืออวนลากเข้า เช่น อินโดนีเซียมีการยกเลิกเรืออวนลาก อวนล้อม แต่ในไทยเป้าหมายของผู้ประกอบการคือเรืออวนลาก กับการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก ซึ่งต่อไปถ้าปล่อยให้เกิดการจดทะเบียน ทะเลไทยจะทรัพยากรลดลงเรื่อยๆ

หลังจากได้รับใบเหลือง ภาครัฐไม่ได้มองถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 85 ว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศเดิน ทั้งที่มีการรับซื้อและส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ได้มองว่าเราเป็นหนึ่งคู่กับทะเล มีการฟื้นฟูทะเล และทรัพยากรหน้าบ้านของตนเองมาตลอด แต่เรือประมงแบบทำลายล้างที่เต็มทะเลต่างหากทำให้ชะตาทะเลไทยอยู่ในขั้นวิกฤต” คุณสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

อันที่จริงแล้วทะเลไทยมีศักยภาพสูง หากเราเปิดโอกาสให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัว ไม่นานนักทะเลก็จะสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาได้ ดังที่คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า “ขณะนี้มีเรืออวนลากจำนวนกว่า 12,000 ลำในทะเลไทย แต่ยังสามารถจับปลาเล็กมาได้จำนวนกว่า 9 แสนตันต่อปี แสดงถึงศักยภาพของทะเลไทยถึงแม้จะถูกเรือประมงแบบทำลายล้างทำร้ายระบบนิเวศกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาจากท้องทะเลตั้งแต่ผิวดินถึงผิวน้ำ หากเราปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลมากว่ามูลค่าของปลาป่น เรือประมงแบบทำลายล้างอย่างเรืออวนรุน อวนลาก เรือคราดหอย และเรือปั่นไฟ ถึงแม้ว่ารัฐจะบอกสามารถจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย แต่สังคมไทยจะว่าอย่างไร จะยอมให้ทะเลไทยถูกทำลายเช่นนี้ต่อไปไหม ทางออกต่อเรื่องนี้คือต้องลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี2547”


การบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล หนทางปลดล็อควิกฤตทะเลไทย

ที่ผ่านมาการบังคับใช้ของกฎหมายประมงที่มีช่องโหว่อย่างเห็นได้ชัดทำให้ คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรีผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ถึงกับกล่าวออกมาว่า “ผมไม่คาดหวังเลยกับกฎหมายประมง”

วิกฤตทะเลไม่ได้เพิ่งมาเกิดตอนได้ใบเหลือง แต่ FAO ได้ระบุว่าเราจับเกินระยะฟื้นฟูของทะเลตั้งแต่ปี 2523 ล่าสุดภาครัฐได้ออกกฎหมายประมงฉบับใหม่เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ภาคประชาสังคมยังมีข้อกังวลว่ากฎหมายนี้ยังคงมีช่องโหว่ ซึ่งคุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี เสริมว่า “ความสำคัญในกฎหมายประมง 104 มาตรา ยังไม่สามารถฝากความหวังได้ แต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม ไม่คำนึงถึงการประมงพื้นบ้าน อีกทั้งอำนาจกฎหมายยังผูกขาดอยู่ในมือรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่เพียงผู้เดียว ที่สำคัญคือไม่มีบทลงโทษสำหรับเรือประมงพาณิชย์ที่ละเมิดกฎหมาย มีเพียงการปรับ ซึ่งเมื่อเทียบระหว่างรายได้ 1 แสนบาท และค่าปรับ 2 พันบาทแล้ว คงไม่มีใครกลัวเกรงการกระทำผิด แต่ในขณะที่เรือประมงพื้นบ้านกรณีที่ออกนอกเขตสามไมล์ทะเล จะถูกส่งฟ้องศาลเพื่อรอดำเนินอาญาเท่านั้น กฎหมายเช่นนี้จะทำให้ทะเลวินาศในอีกสองเดือน ไม่ใช่ดีขึ้น”
ซูม

การแก้ปัญหาวิกฤตทะเลไทย และปลดล็อคได้อย่างตรงจุดที่สุดนั้นต้องระบุถึงปัญหาอย่างจริงใจ ไม่ใช่ปกปิด และมีการจัดการในระยะยาว สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงคือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่มีชาวประมงพื้นบ้านที่อนุรักษ์และฟื้นฟู รวมถึงผู้บริโภคที่มีส่วนในการกินอาหารทะเล และเป็นเจ้าของทะเลเช่นกัน

“ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าสาเหตุของใบเหลืองเพราะมีแรงงานไม่ถูกกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของกรมประมงที่ต้องอธิบายว่าทำไมเรือเหล่านี้ถึงผิดกฎหมาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าทะเลไทยไม่ควรมีเรือพวกนี้อยู่ หากสิ่งที่เราสู้กันมากลับถูกปลดล็อคง่ายๆ คงเป็นปัญหาแน่ การส่งออกในปัจจุบันมีความไม่โปร่งใสในการได้มา เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย หรือการขโมยมา อันที่จริงแล้วปัญหาเป็นเรื่องของการจัดการประมงในระยะยาว ไม่ใช่ได้มาแบบทางลัดแก้ปัญหาในระยะสั้น ประมงยังอยู่กับเราไปอีกยาวนาน เป็นเรื่องของโจทย์สำหรับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าววิเคราะห์


คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุปว่า

“ทางออกในการจัดการประมงไทยเราสามารถศึกษาจากตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ใบเขียวมาหลังจากการถูกเตือน ซึ่งมีหัวใจหลักคือ การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ให้น้ำหนักกับประมงพื้นบ้านเท่ากับประมงพาณิชย์ คำนึงถึงทรัพยากรที่จะสูญเสียไป พร้อมกับกฎหมายใหม่ที่ใช้ได้จริง ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ หรือจะเป็นประเทศอินโดนีเซียที่เอาจริงกับการวางระบบการเฝ้าระวังการประมงผิดกฎหมาย ดังที่เคยมีเหตุการณ์การจมเรืออวนลากของไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย รัฐบาลไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้าน การปกป้องทรัพยากรประมงชายฝั่ง กระจายอำนาจ ดังที่บ้านเราก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าทำได้จริง เช่น ชุมชนคั่นกระไดกับการสร้างกติกาชุมชน”

ทะเลไทยคือสมบัติของชาวไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมการประมงของบริษัทใด ขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเพื่อเร่งปลดล็อคใบเหลืองอียู ผู้บริโภคอย่างเราทุกคนมีพลังในการผลักดันให้รัฐเลือกกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนให้กับทะเลไทย ยุติการสนับสนุนเรือประมงแบบทำลายล้างที่กอบโกยผลประโยชน์จากทะเลเพื่อรายได้ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมง หันมาบังคับใช้กฎหมายประมงใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ยึดถือประโยชน์ของประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน และความยั่งยืนทางสิงแวดล้อมเป็นที่ตั้ง เพื่อทะเลอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวไทย และทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม