ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 21-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ปลาทะเลลึกพรางตัวด้วยผิวดำระดับ "แวนตาแบล็ก" สีมืดมิดที่สุดในโลก


"มังกรดำแปซิฟิก" เป็นสัตว์ทะเลลึกที่ถ่ายภาพได้ยากมากที่สุดตัวหนึ่ง
Idiacanthus antrostomus (c) Karen Osbornที่มาของภาพ,KAREN OSBORN/SMITHSONIAN


สัตว์ทะเลลึกอย่างน้อย 16 ชนิดพันธุ์ ถูกค้นพบว่ามีผิวหนังสีดำเข้มเป็นพิเศษในระดับที่ใกล้เคียงกับสี "แวนตาแบล็ก" (Vantablack) ซึ่งจัดเป็นสีที่มีความมืดมิดมากที่สุดในโลก จนช่างภาพไม่อาจจะถ่ายรูปของพวกมันได้ด้วยเทคนิคการจัดแสงแบบธรรมดา

รายงานการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology โดยทีมนักชีววิทยาจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้ระบุว่า สัตว์ทะเลลึกเหล่านี้อาศัยอยู่ตรงก้นทะเลที่มืดมิด ในระดับความลึกมากกว่า 200 เมตรขึ้นไป โดยผิวที่ดำสนิทยิ่งกว่าเฉดสีดำอื่น ๆ ช่วยพรางตัวพวกมันให้รอดจากสัตว์ผู้ล่า

ดร. คาเรน ออสบอร์น หนึ่งในสมาชิกของทีมวิจัยจากสถาบันสมิธโซเนียนบอกว่า เธอเคยประสบปัญหาขณะพยายามบันทึกภาพปลาทะเลลึกบางชนิด เนื่องจากผิวหนังของพวกมันดูดซับแสงสว่างจากดวงไฟของช่างภาพเอาไว้ได้เกือบทั้งหมด ทำให้ภาพออกมาไม่คมชัดและมืดมัว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นสู่การศึกษาวิธีพรางตัวของสัตว์ทะเลลึกกลุ่มนี้ ซึ่งบางตัวมีผิวดำสนิทจนดูดซับกักเก็บแสงไว้ได้มากถึง 99.956% เทียบเท่าความดำมืดของสีแวนตาแบล็กที่ดูดซับแสงได้ราว 99.96%


สัตว์ทะเลลึกหลายชนิดพันธุ์ต่างแยกกันมีวิวัฒนาการ เพื่อสร้างผิวที่สามารถดักจับและเก็บแสงสว่างได้เกือบ 100% Poromitra crassiceps (c) Karen Osbornที่มาของภาพ,KAREN OSBORN/SMITHSONIAN

ผลการวิเคราะห์ผิวหนังของสัตว์ทะเลลึกดังกล่าวพบว่า พวกมันมีอนุภาคของเม็ดสีเรียงติดกันแน่นขนัดโดยไม่มีช่องว่าง ซึ่งอนุภาคเหล่านี้ก่อตัวเป็นชั้นบางในผิวหนังเพียงชั้นเดียว โดยเม็ดสีมีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมในการกระจายให้แสงผ่านเข้าไปใต้ผิวหนังได้พอดี ทั้งยังดักจับแสงเอาไว้ไม่ให้สะท้อนกลับออกมาด้วย


ผิวสีมืดสนิทที่ดักจับและเก็บแสงสว่างได้ดี เป็นวิธีการพรางตัวที่มีประสิทธิภาพสูงใต้ทะเลลึก Anoplogaster notkept (c) Karen Osbornที่มาของภาพ,KAREN OSBORN/SMITHSONIAN

โครงสร้างของเม็ดสีแบบพิเศษดังกล่าว ช่วยให้พรางตัวในที่โล่งใต้ทะเลลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแสงจากสัตว์ผู้ล่าเช่นปลาตกเบ็ด (anglerfish) ฉายส่องมา หรือเมื่อต้องอำพรางไม่ให้ตนเองกลายเป็นจุดเด่นหากกลืนกินปลาหรือสัตว์เรืองแสงเข้าไป


Idiacanthus antrostomus (c) Karen Osbornที่มาของภาพ,KAREN OSBORN/SMITHSONIAN

ความรู้เรื่องดังกล่าวทำให้ ดร. ออสบอร์น สามารถคิดค้นวิธีจัดแสงให้ถ่ายภาพปลาทะเลลึกผิวมืดได้คมชัดขึ้น และความรู้นี้อาจนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อคิดค้นวัสดุสีดำพิเศษเคลือบด้านในของกล้องถ่ายภาพหรือกล้องโทรทรรศน์ได้

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของวิทยาการด้านนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยสถาบันเทคโนโลยีเอ็มไอที (MIT) ของสหรัฐฯ เปิดตัววัสดุชนิดใหม่ที่ดูดกลืนแสงได้มากกว่า 99.995% ดำมืดยิ่งกว่าสีแวนตาแบล็กถึง 10 เท่า


https://www.bbc.com/thai/features-53462845

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม