ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 19-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


หมึกยักษ์ : นักอนุรักษ์ห่วงสวัสดิภาพสัตว์ไอคิวสูง หลังสเปนจะเปิดฟาร์มแห่งแรกของโลก ................. โดย แคลร์ มาร์แชล


ที่มาของภาพ,WRANGEL

แผนการเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์เพื่อการค้าแห่งแรกของโลกที่หมู่เกาะคานารีของสเปน ได้เรียกเสียงทักท้วงและคัดค้านต่อต้านอย่างเซ็งแซ่จากบรรดานักวิทยาศาสตร์และคนรักสัตว์ทั่วโลก เนื่องจากหมึกยักษ์นั้นเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาสูง และมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างไปจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว

เหล่านักอนุรักษ์และผู้ต้องการปกป้องสวัสดิภาพของหมึกยักษ์ต่างห่วงกังวลว่า ฟาร์มที่เพาะเลี้ยงหมึกยักษ์เพื่อส่งออกเป็นอาหารของคนทั่วโลกนั้นจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมัน ซึ่งตามปกติแล้วหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ออกหากินอย่างโดดเดี่ยวและท่องเที่ยวไปอย่างอิสระในทะเลลึก

การเลี้ยงหมึกยักษ์นับล้านตัวในพื้นที่แคบ รวมทั้งการฆ่าหมึกยักษ์ด้วยน้ำเย็นจัดที่ทางฟาร์มเตรียมจะนำมาใช้นั้น ถือเป็นสิ่งที่โหดร้ายไร้คุณธรรมอย่างยิ่งในสายตาของพวกเขา

บีบีซีได้รับเอกสารลับว่าด้วยวิธีการทำฟาร์มหมึกยักษ์ของบริษัท "นูวา เปสกาโนวา" (Nueva Pescanova) ซึ่งเป็นแผนการที่ยื่นเสนอต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านการประมงของหมู่เกาะคานารี โดยบีบีซีได้เอกสารฉบับนี้มาจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ Eurogroup for Animals ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการทำฟาร์มหมึกยักษ์มานานอย่างไม่ลดละ

ก่อนหน้านี้การค้นหาหมึกยักษ์มาเพื่อการค้า จะต้องจับมาจากแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติเท่านั้น โดยอาจใช้อุปกรณ์อย่างหม้อดักจับ เบ็ดตกปลา และอุปกรณ์ทำประมงชนิดต่าง ๆ ซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิภาคเอเชีย และลาตินอเมริกา

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างแข่งกันคิดค้นวิธีทำฟาร์มหมึกยักษ์มานานหลายสิบปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ทำได้ยากมาก ตัวอ่อนของหมึกยักษ์จะต้องกินอาหารที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ทั้งยังต้องควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม บริษัทนูวา เปสกาโนวา ได้ประกาศความสำเร็จหลังค้นพบวิธีเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ตั้งแต่ปี 2019 ทำให้เริ่มมีผู้คัดค้านการทำฟาร์มหมึกยักษ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวอย่างเช่นกลุ่มสมาชิกรัฐสภาจากรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ ได้เคยเสนอให้แบนการทำฟาร์มหมึกยักษ์ ตั้งแต่ยังไม่มีการก่อสร้างฟาร์มแห่งแรกของโลกเสียด้วยซ้ำ

เอกสารลับที่บีบีซีได้มานั้นเผยว่า จะมีการเลี้ยงหมึกยักษ์ถึงคราวละ 1 ล้านตัว ในแทงก์บรรจุน้ำจำนวน 1,000 บ่อ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารสองชั้นของบริษัทที่เกาะแกรนคานารี โดยจะมีการเปิดให้แสงสว่างเป็นระยะ ทั้งที่หมึกยักษ์เป็นสัตว์รักสันโดษ หวงถิ่น ชอบอยู่ในที่มืด และจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่

ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์สำหรับหมึกยักษ์โดยตรง เนื่องจากเพิ่งมีการเพาะเลี้ยงในฟาร์มเป็นครั้งแรก แต่วิธีใช้น้ำเย็นจัด -3 องศาเซลเซียสฆ่าหมึกยักษ์ ก่อนที่ฟาร์มจะนำออกไปขายนั้น อาจมีปัญหาด้านจริยธรรมได้ เพราะเคยมีผลการศึกษาในปลาหลายชนิดชี้ว่า การฆ่าด้วยน้ำแข็งหรืออุณหภูมิเย็นจัดนั้นทำให้ปลาตายอย่างช้า ๆ โดยต้องทนทรมานเป็นเวลานานเกินควร

องค์กรเพื่อสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เคยออกมาระบุว่า การฆ่าด้วยน้ำเย็นจัดเป็นวิธีที่โหดร้ายทารุณซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสวัสดิภาพของสัตว์น้ำ ด้านสภากำกับควบคุมการประมง (ASC) ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองคุณภาพอาหารทะเลก็ออกมาแถลงว่า อาจสั่งห้ามวิธีฆ่าปลาและสัตว์น้ำแบบนี้ เว้นแต่ว่าพวกมันจะถูกทำให้หมดสติเสียก่อน

ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหราชอาณาจักรเช่นเทสโก (Tesco) และมอร์ริสัน (Morrisons) ได้สั่งแบนสินค้าอาหารทะเลที่ใช้น้ำแข็งในการฆ่าปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ แล้ว

ศ. ปีเตอร์ เซ นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธของสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า "เราไม่ควรจะปล่อยให้มีการฆ่าปลาและหมึกยักษ์ด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด สัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาดเหมือนแมวตัวหนึ่ง ควรได้รับการปฏิบัติที่มีมนุษยธรรมมากกว่านี้ โดยอาจเปลี่ยนมาใช้วิธีทุบหัวซึ่งทำให้ตายทันที เหมือนกับที่ชาวประมงทั่วโลกทำกันอยู่"


สัตว์โลกที่รู้สุขรู้ทุกข์เหมือนกับมนุษย์

แผนการของบริษัทนูวา เปสกาโนวา ระบุว่าจะเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์เพื่อส่งออกไปยัง "ตลาดระดับสูง" ในนานาประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยจะผลิตเนื้อหมึกยักษ์ 3,000 ตันต่อปี ซึ่งในการนี้จะต้องเลี้ยงหมึกยักษ์ถึงคราวละ 1 ล้านตัวในแทงก์น้ำ ทำให้มีหมึกยักษ์ 10-15 ตัว ต้องเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่แคบราว 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางบริษัทระบุว่าจะมีอัตราการตายของหมึกยักษ์ในฟาร์มเกิดขึ้นราว 10-15%

รศ. โจนาธาน เบิร์ช จากสถาบัน LSE ของกรุงลอนดอนเผยว่า ผลการรวบรวมวิเคราะห์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 300 ชิ้น ชี้ว่าหมึกยักษ์สามารถรับรู้ความเจ็บปวดและความรู้สึกเป็นสุขเพลิดเพลินได้เหมือนกับมนุษย์ ซึ่งทำให้มีการระบุในกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ฉบับแก้ไขปี 2022 ว่าหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด (sentient being) และต้องได้รับการคุ้มครอง

รศ. เบิร์ช แสดงความเห็นว่า "การทำฟาร์มหมึกยักษ์อย่างมีมนุษยธรรมนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่ควรจะเลี้ยงหมึกยักษ์จำนวนมากไว้ใกล้กัน เพราะจะทำให้พวกมันเครียด เกิดการขัดแย้งต่อสู้กัน ซึ่งจะนำไปสู่อัตราการตายที่สูงมาก แม้แต่อัตราการตายที่ 10-15% ที่ทางฟาร์มเสนอมาก็ยังไม่อาจยอมรับได้"

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทนูวา เปสกาโนวา ได้ออกหนังสือชี้แจงมายังบีบีซีโดยกล่าวแย้งว่า "ระดับของมาตรฐานในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเราใช้ในการทำฟาร์มหมึกยักษ์นั้น รับประกันได้ว่าจะมีการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างถูกต้องเหมาะสม ส่วนการฆ่าหมึกยักษ์ด้วยน้ำเย็นจัดนั้น จะใช้แนวทางปฏิบัติที่หลีกเลี่ยงไม่ให้มีความเจ็บปวดทรมานเกิดขึ้น"

บริษัทผู้ทำฟาร์มหมึกยักษ์แห่งแรกของโลกยังระบุว่า จะใช้อาหารแห้งที่ผลิตโดยโรงงานอุตสาหกรรมมาเลี้ยงพวกมัน ซึ่งอาหารประเภทนี้ล้วนแต่ผลิตจากของเหลือและผลพลอยได้จากการทำประมง และจะมีการสูบน้ำทะเลในบริเวณอ่าวที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาเติมในฟาร์มอยู่เสมอ โดยจะย้ายหมึกยักษ์ไปยังแทงก์น้ำขนาดต่าง ๆ เมื่อพวกมันโตขึ้น หลังจากเริ่มเลี้ยงหมึกยักษ์รุ่นแรกซึ่งประกอบไปด้วยตัวผู้ 70 ตัว และตัวเมีย 30 ตัว ที่มาจากศูนย์วิจัยของบริษัทในเมืองกาลิเซียทางภาคเหนือของสเปน

ทางบริษัทยืนยันว่า วิธีเพาะเลี้ยงนี้สามารถทำให้หมึกยักษ์เชื่อง "เหมือนกับสัตว์เลี้ยง" โดยไม่พบการต่อสู้แย่งชิงอาหารหรือการกินพวกเดียวกันเองเกิดขึ้นระหว่างทดลองเพาะเลี้ยงเลย

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม องค์กรรณรงค์เพื่อเมตตาธรรมในการทำฟาร์มทั่วโลก (CiWF) และองค์กรพิทักษ์สัตว์ Eurogroup for Animals ยังคงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านปกครองของหมู่เกาะคานารียับยั้งโครงการก่อสร้างฟาร์มหมึกยักษ์ในทันที และขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งกำลังทบทวนกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในขณะนี้ พิจารณาประเด็นปัญหาในกรณีของหมึกยักษ์และแก้ไขกฎหมายโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ยังมีความห่วงกังวลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดย CiWF เกรงว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มหมึกยักษ์ลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งจะทำให้ไนโตรเจนและฟอสเฟตปริมาณมากที่หมึกยักษ์ขับถ่ายออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แต่ทางบริษัทผู้ทำฟาร์มรับรองกับบีบีซีว่าจะมีการกรองบำบัดน้ำเสีย จนไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทางบริษัทยังอ้างว่า การทำฟาร์มจะช่วยอนุรักษ์จำนวนประชากรของหมึกยักษ์ในธรรมชาติ ซึ่งปกติจะถูกเรือประมงจับไปปีละราว 350,000 ตัว ซึ่งคิดเป็นปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่าตัว เมื่อเทียบกับสถิติของช่วงทศวรรษ 1950


https://www.bbc.com/thai/international-64979542

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม