ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 14-04-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,359
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงมหาสมุทรแปซิฟิก

รัฐบาลญี่ปุ่นมีมติปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะมากกว่า 1 ล้านตันลงสู่มหาสมุทรภายใน 2 ปี หลังจากเก็บกักไว้นานเป็นสิบปี นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ท่ามกลางความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวประมงและประเทศเพื่อนบ้าน



นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 เมษายน ว่า การตัดสินใจปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการฟื้นฟูฟุกุชิมะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกำจัดน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะถูกเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว จากเสียงคัดค้านและความกังวลด้านความปลอดภัย แต่เนื่องจากพื้นที่เก็บน้ำจะหมดลงในปีหน้า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดสินใจ ทั้งนี้ รัฐบาลจะปล่อยน้ำออกมาสู่มหาสมุทรก็ต่อเมื่อแน่ใจว่ามันปลอดภัย โดยจะเริ่มปล่อยน้ำใน 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาหลายสิบปี

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคม 2011 คร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 19,000 คน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งจากทั้งหมด 6 แห่งได้รับความเสียหาย จนถูกจัดให้เป็นหายนะจากนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในรัสเซีย ประชาชนนับหมื่นคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และยังมีผู้ที่ยังกลับไปไม่ได้อีกจำนวนมาก แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่การเก็บกวาดในพื้นที่โรงงานที่ได้รับความเสียหายยังไม่แล้วเสร็จ มีการหล่อน้ำเลี้ยงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่ให้ละลายด้วยการปั๊มน้ำเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ตัวกรองน้ำสามารถกำจัดสารกัมมันตรังสีอื่นๆ ได้ ยกเว้นทริเทียมเท่านั้น และน้ำเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในโรงงาน

บริษัท โตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ หรือ เทปโก (TEPCO) และรัฐบาลระบุว่า ไม่สามารถนำสารทริเทียม-ซึ่งเป็นหนึ่งในสารกัมมันตรังสีที่ไม่เป็นอันตรายในกรณีที่มีปริมาณน้อย-ออกจากน้ำได้ แต่สารกัมมันตรังสีอื่นๆ สามารถลดระดับลงจนสามารถปล่อยทิ้งได้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (The International Atomic Energy Agency) สนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่า เป็นไปตามมาตรฐานของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก

ด้านชาวประมงกังวลว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจ หัวหน้าสหพันธ์สหกรณ์ประมงแห่งชาติญี่ปุ่น เรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการที่ป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคปฏิเสธอาหารทะเลของญี่ปุ่น พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาต้องทำงานหนักหลายปีเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้คนกลับมาบริโภคอาหารทะเลจากท้องถิ่นนี้ กรีนพีซ ญี่ปุ่น องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมประณามการตัดสินใจของรัฐบาล โดยระบุว่า ละเลยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายพาณิชยนาวีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเลือกวิธีที่ถูกที่สุด แทนที่จะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อลดปริมาณสารกัมมันตรังสี

ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ต่างคัดค้านการตัดสินใจนี้ และกังวลผลกระทบจากการปล่อยทริเทียมสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จีนและเกาหลีใต้เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่จำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากภัยพิบัติฟุกุชิมะ


https://www.thairath.co.th/news/fore...PANORAMA_TOPIC


*********************************************************************************************************************************************************


คิดค้นการทำพลาสติก ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเศษปลา



โพลียูรีเทน (Polyurethanes) เป็นหนึ่งในพลาสติกชนิดที่มีอยู่แทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า เสื้อผ้า ตู้เย็นและวัสดุก่อสร้าง แต่วัสดุที่มีความหลากหลายเหล่านี้กลับมีข้อเสียสำคัญ เพราะมาจากน้ำมันดิบซึ่งสร้างมลพิษและพิษสิ่งแวดล้อมจากการสลายตัวช้าของโพลียูรีเทน

ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวฟาวแลนด์ ในแคนาดา เผยว่า คิดค้นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าในการย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งได้มาจากเศษซากปลาอย่างหัว กระดูก ไส้ ผิวหนัง ทีมวิจัยทดลองกับปลาแซลมอนแอตแลนติกในการสร้างวัสดุใหม่ หลังจากที่ปลาถูกแล่เตรียมขายให้กับผู้บริโภค ซากที่เหลือมักจะถูกทิ้ง แต่บางครั้งก็มีการสกัดน้ำมันออกมา ทีมจึงพัฒนากระบวนการเปลี่ยนน้ำมันปลา ให้เป็นโพลียูรีเทน ขั้นแรกคือเติมออกซิเจนลงในน้ำมันปลาด้วยวิธีควบคุมเพื่อสร้างอีพอกไซด์ (Epoxides) อันเป็นโมเลกุลที่คล้ายกับในอีพ็อกซี่ เรซิ่น (epoxy resin) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานกว่าเรซิ่นชนิดอื่นๆ ทั้งยึดเกาะและป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่า ซึ่งหลังจากอีพอกไซด์ทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว พวกมันจะเชื่อมโยงโมเลกุลที่เกิดขึ้นพร้อมกับเอมีน (amines) ที่มีไนโตรเจนเพื่อสร้างวัสดุใหม่ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยพัฒนาโพลียูรีเทนแบบใหม่โดยใช้น้ำมันจากพืชเพื่อทดแทนปิโตรเลียม แต่สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมกับข้อบกพร่องเช่นกัน เพราะพืชผลซึ่งมักเป็นถั่วเหลืองที่ผลิตน้ำมันได้นั้น ต้องการพื้นที่ในการปลูก ทว่าหากพัฒนาโพลียูรีเทนที่ทำจากน้ำมันปลาสำเร็จ ก็จะตอบสนองความต้องการใช้พลาสติกที่ยั่งยืนมากขึ้น.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2068156

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม