ดูแบบคำตอบเดียว
  #33  
เก่า 26-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


ชี้ไทยพ้น 'ดินไหว'ใหญ่ ไม่ประมาท-เสริมแกร่งบ้านเมือง



แม้โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหว-สึนามิใหญ่ถล่ม 'ญี่ปุ่น' จะผ่านพ้นมาเกือบ 2 เดือน

แต่หลังจากนั้นในทวีปเอเชียและเขตแปซิฟิกก็ยังเกิดแผ่นดินไหวเกิน 5-6 ริกเตอร์อยู่หลายจุด โดยครั้งล่าสุดวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาเพียงแค่วันเดียว มีถึง 3 ประเทศ กับอีก 1 เกาะต้องเผชิญธรณีพิโรธ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาะไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝัน และรู้เท่าทันมหันตภัยธรรมชาติดังกล่าว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดสัมมนาหัวข้อ 'เราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร' ที่อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิพร้อมผู้สนใจเข้าร่วมคับคั่ง

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ 'ทส.' ให้คำจำกัดความ 'รอยเลื่อนมีพลัง' ว่า

เป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งยังคงเคลื่อนตัวเข้าหากัน มุดซ้อนเกยกัน และบางแผ่นแยกออกจากกันตลอดเวลา การเคลื่อนไหวนี้จะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการสั่นไหว ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า แผ่นดินไหว

"โชคดีของประเทศไทยที่รอยเลื่อนมีพลังของเราเป็นรอยเลื่อนแบบแขนง ซึ่งเป็นสาขาของรอยเลื่อนใหญ่อย่างรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า หรือรอยเลื่อนเทียนเมียนฟูในประเทศลาว ดังนั้น โอกาสเกิดแผ่นดินไหวจึงเป็นขนาดกลาง และมีโอกาสเกิดแค่ 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณรอยเลื่อนขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริกเตอร์ได้" นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์ระบุด้วยว่า ที่ระดับความแรง 5-6 ริกเตอร์ บ้านเมืองจะสั่นไหว อาคารที่ไม่ได้เตรียมการรับมือดีพออาจเกิดการแตกร้าว แต่หากเกิดบริเวณป่าเขาจะได้รับผลกระทบน้อย



สำหรับ 'รอยเลื่อนที่มีพลัง' ของไทยมีทั้งหมด 13 แห่ง ครอบคลุม 22 จังหวัด คือ

1.รอยเลื่อนแม่จัน 2.แม่ฮ่องสอน 3.พะเยา 4.แม่ทา 5.ปัว 6.เถิน 7.อุตรดิตถ์ 8.เมย 9.ท่าแขก 10.ศรีสวัสดิ์ 11.เจดีย์สามองค์ 12.ระนอง และ 13.คลองมะรุ่ย

ตำแหน่งที่เกิดในประเทศไทยส่วนมากอยู่บริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

"กรมทรัพยากรธรณีวิทยาศึกษาย้อนหลังไป 50 ปี พบว่า วันที่ 22 เม.ย.2526 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ริกเตอร์ บริเวณ จ.กาญจนบุรี และรองลงมาคือ วันที่ 17 ก.พ. 2518 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์ ที่ จ.ตาก" นายสุวิทย์กล่าว

ผอ.ส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณีฯ อธิบายต่อไปว่า รอยเลื่อนในประเทศไทยไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์ 'สึนามิ' เพราะอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้อยู่ในพื้นทะเล

การเกิดสึนามิเกิดจากแผ่นเปลือกโลกมุดซ้อนเกยกันทำให้น้ำทะเลถูกแทนที่ด้วยแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำ ซึ่งจะมาผุดสูงเมื่อใกล้ถึงฝั่งกลายเป็นภัยที่เตือนภัยยากและเกิดบ่อยครั้ง

คลื่นยักษ์สึนามิจึงมักเกิดบริเวณตะเข็บรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก เช่น รอยต่อของอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือชิลี

"คาบเวลาการเกิดซ้ำของแผ่นดินไหวรุนแรงจากรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีระยะเวลายาวนานมาก ราว 1,000 ปี"

"ดังนั้น สำหรับประชาชนไทยจึงไม่ควรหวาดวิตกเกินเหตุ แต่หากเกิดการเคลื่อนของรอยเลื่อนบริเวณเกาะสุมาตรา หรือหมู่เกาะนิโคบาร์ มหาสมุทรอินเดีย อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงไทยได้ และจังหวัดที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ ภาคใต้ติดชายฝั่งอันดามัน" นายสุวิทย์ชี้

ขณะเดียวกัน นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ 'ไอซีที' กล่าวว่า

ประเทศไทยมีสถานีเตือนภัยแผ่นดินไหวอยู่ 40 สถานีทั่วประเทศไทย

การวิเคราะห์ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ต้องใช้สถานีวัดไม่ต่ำกว่า 4 สถานี ซึ่งได้รับแรงสะเทือน จากนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์จะเลือกลักษณะของความสั่นสะเทือนนั้นๆ เพื่อคำนวณว่าตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ไหน

"เครื่องมือจะบันทึกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ฉะนั้นเราจะทราบว่ามีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ ศูนย์กลางอยู่ที่ไหน ลึกเท่าไหร่ ตำแหน่งที่อยู่บนระนาบของผิวโลกอยู่ตรงส่วนไหน" ผอ.ส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ อธิบาย และยืนยันว่า ความพร้อมในการตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทยอยู่ในมาตรฐานโลก

ด้าน ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ นักวิชาการจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเตรียมพร้อมเสริมความแข็งแรงของอาคารสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน

โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรทยอยจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดให้มีการประเมินสภาพอาคาร

ทั้งนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ควรรีบเสริมความแข็งแรงเป็นอันดับแรก คือ 'เส้นทางคมนาคม' เพราะถือเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการดำเนินชีวิต

รองลงมา คือ อาคารสำคัญๆ เช่น ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บัญชาการของตำรวจ และทหาร เนื่องจากหากเกิดภัยพิบัติและอาคารเหล่านี้ถล่มลงมาจะทำให้เกิดจลาจล เพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล โรงเรียนและโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นสถานหลบภัยขณะเกิดภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร

หนังสือ 'ข้อแนะนำสำหรับรูปแบบและการก่อสร้างอาคารทั่วไปที่เหมาะสมในเขตเสี่ยงภัยพิบัติสึนามิปานกลาง' ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า

ตำแหน่งของอาคารที่ป้องกันภัยสึนามิไม่ควรอยู่ใกล้ชายหาด หรือร่องน้ำมาก

รูปทรงควรสมมาตรในแปลน ไม่มีช่องเว้าหักมุมที่ทำให้คลื่นสูงขึ้น

ผังอาคารรูปวงกลมหรือแปดเหลี่ยมจะสามารถลดแรงคลื่นได้ถึงร้อยละ 20

และควรหันอาคารด้านแคบเข้าหาแนวที่คลื่นสึนามิจะปะทะเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

กำแพงของอาคารส่วนที่ปะทะคลื่นยักษ์ต้องมีช่องเปิดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่กำแพง ก่อด้วยอิฐ หรือคอน กรีตบล็อก ความหนารวมปูนฉาบไม่เกิน 10 เซนติเมตร มีเหล็กเดือยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตรยึดผนังกับเสาห่างกันไม่เกิน 40 เซนติเมตร เพื่อลดความเสียหายกับโครงสร้างตึก

ด้าน 'รากฐาน' ต้องหยั่งลึกลงในชั้นดินแน่น

หากเป็นรากฐานแบบแผ่ต้องฝังในชั้นดินที่แน่นและมั่นคงกว่าที่กระแสน้ำสามารถกัดเซาะได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

และควรขยายตอม่อให้มีขนาดไม่เล็กกว่า 25 เซนติเมตร ขนาดเสาควรมีหน้าตัดด้านแคบไม่น้อยกว่า 20 เซนติ เมตร และระยะเรียงแนวดิ่งระหว่างเหล็กปลอกไม่ควรเกิน 15 เซน ติเมตร

สำหรับเสา 20x20 เซนติเมตร และส่วนปลายยื่นของเหล็กปลอกไม่ควรน้อยกว่า 6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลาง

แม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติที่ห่างไกลคนไทยอยู่บ้าง แต่การเตรียมพร้อมย่อมดีกว่าการแก้ปัญหายามเมื่อความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลไปแล้ว เพราะในอดีตมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสึนามิใหญ่จะไม่มีทางถล่มประเทศไทย แต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีคงให้คำตอบไว้แล้ว!




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 26 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม