ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 15-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


"หมึกแก้ว" ภาพน่าตื่นตาของสัตว์น้ำลึกหายากในมหาสมุทรแปซิฟิก

แม้นักวิทยาศาสตร์รู้จักหมึกแก้วมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่แทบไม่มีใครเคยเห็นภาพของมันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยาก



ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจท้องทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่หาดูได้ยากยิ่งของ "หมึกแก้ว" หรือ "หมึกสายแก้ว" (glass octopus) สัตว์น้ำลึกซึ่งมีร่างกายโปร่งใสจนมองเห็นอวัยวะภายใน

ทีมนักวิจัยจากสถาบันมหาสมุทรชมิดต์ (Schmidt Ocean Institute) บันทึกวิดีโอที่น่าตื่นตาของหมึกแก้วไว้ได้ในภารกิจการสำรวจก้นมหาสมุทรเป็นเวลา 34 วัน โดยพวกเขาได้พบเจอกับหมึกชนิดนี้ถึง 2 ครั้งในทะเลลึกใกล้กับหมู่เกาะฟีนิกซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซิดนีย์ของออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 5,100 กิโลเมตร

ภาพที่ได้เผยให้เห็นหมึกที่มีผิวหนังโปร่งใสราวกับแก้ว จนมองเห็นได้เพียงลูกตา เส้นประสาทตา และระบบย่อยอาหารของมัน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมชีววิทยาทางทะเลของสหราชอาณาจักร เมื่อปี 1992 ระบุว่า ดวงตาทรงกระบอกของหมึกชนิดนี้อาจมีวิวัฒนาการเพื่อให้ศัตรูหรือเหยื่อมองเห็นได้ยาก เวลาที่มองขึ้นมาจากด้านล่าง ถือเป็นกลยุทธ์ในการพรางตัวอย่างหนึ่งของพวกมัน

หมึกแก้ว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vitreledonella richardi อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่ความระดับลึก 200 - 3,000 เมตรจากผิวน้ำทะเล โดยจากการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่ามีการพบหมึกชนิดนี้ในทะเลแถบอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

แม้นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นภาพของมันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยาก โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาพวกมันจากซากที่ถูกพบอยู่ในท้องของสัตว์นักล่า

ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงหวังว่าวิดีโอที่บันทึกได้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย และช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหมึกชนิดนี้ได้มากขึ้น

สำหรับภารกิจครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจก้นมหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ 30,000 ตารางกิโลเมตร และพวกเขาบอกว่ายังมีอะไรอีกมากให้ค้นหาในท้องทะเล

นางเวนดี ชมิดต์ ซึ่งร่วมก่อตั้งสถาบันมหาสมุทรชมิดต์กับสามี คือ นายเอริก ชมิดต์ อดีตซีอีโอบริษัทกูเกิล กล่าวว่า "การสำรวจเช่นนี้สอนให้เรารู้ว่าทำไมเราจึงต้องเพิ่มความพยายามในการฟื้นฟู และทำความเข้าใจกับระบบนิเวศทางทะเลของโลกให้มากขึ้น เพราะห่วงโซ่ชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นในมหาสมุทรมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์เรา"


https://www.bbc.com/thai/international-57835175


******************************************************************************************************************************************************


อุณหภูมิแบบสุดขั้วทั้งร้อนจัด-หนาวจัด เป็นสาเหตุให้ผู้คนทั่วโลกล้มตายปีละ 5 ล้านคน



ความผันผวนเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยผลการศึกษาล่าสุดซึ่งใช้ข้อมูลการสำรวจขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาพบว่า อุณหภูมิทั้งร้อนจัดและหนาวจัดแบบสุดขั้ว ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องล้มตายไปถึงปีละ 5 ล้านคน

ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากนานาชาติ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลวิจัยข้างต้นในวารสาร The Lancet Planetary Health ฉบับเดือนกรกฎาคม โดยเผยว่ามีการเก็บข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้คน ในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินขอบเขตที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรืออุณหภูมิห้อง จากสถานที่ทั้งหมด 750 แห่งทั่วโลก

ช่วงเวลาที่มีการเก็บข้อมูลดังกล่าวคือระหว่างปี 2000-2019 ซึ่งเป็นยุคที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น 0.26 องศาเซลเซียสทุกหนึ่งทศวรรษ ถือเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของโลกนับแต่ยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นต้นมา



หลังจากนั้นมีการวิเคราะห์ผลสำรวจดังกล่าว เพื่อมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับอัตราการตายของประชากรโลกใน 43 ประเทศ จาก 5 ทวีป โดยนำปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งเรื่องของภูมิอากาศ เงื่อนไขทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพของการให้บริการสาธารณสุข มาพิจารณาร่วมด้วย

ผลวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจพบว่า กรณีการเสียชีวิต 9.43 % ของทั้งโลก มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดจนเกินไป โดยในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตต้องอำลาโลกเพราะอากาศหนาวเย็นในสัดส่วนที่มากกว่า คิดเป็นถึง 9 ใน 10 ของอัตราการตายส่วนเกิน (excess deaths) หรือกรณีการตายที่สำรวจพบจริงสูงเกินความคาดหมาย

ทวีปเอเชียและแอฟริกามีอัตราการตายเพราะความหนาวเย็นสูงที่สุดของโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านคนและ 1.18 ล้านคน ตามลำดับ ส่วนกรณีการตายด้วยอุณหภูมิร้อนจัดนั้น ทวีปเอเชียยังคงครองแชมป์ที่ 224,000 รายต่อปี ตามมาด้วยภูมิภาคยุโรปที่ 178,700 รายต่อปี โดยยุโรปนั้นเป็นทวีปเดียวที่มีกรณีการตายจากทั้งอุณหภูมิร้อนจัดและเย็นจัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่มีการศึกษานั้นอัตราการตายจากสภาพอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออัตราการตายจากอุณหภูมิร้อนจัดกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวและภาวะโลกร้อน

ทีมผู้วิจัยคาดว่าสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิร้อนจัด อาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับปัจจุบัน ซึ่งอัตราการตายส่วนเกินด้วยสาเหตุนี้อยู่ที่ 74 รายในประชากรโลกทุก 100,000 คน และถือเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของสาเหตุการตายที่พบมากทั่วโลก


https://www.bbc.com/thai/international-57831700
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม