ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 03-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ส่องประเด็นขยะพลาสติกล้นเมืองช่วงโควิด ที่ Road map อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา? .................. โดย นวพร เรืองศรี


เนื้อหาโดยสรุป

- ปัญหาขยะพลาสติกในไทยเริ่มหนักขึ้นและกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต แม้ว่าก่อนหน้านี้ภาครัฐจะมีมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกกลับมาพุ่งขึ้นสูงกว่าร้อยละ 60 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่

- ขยะพลาสติกที่มาจากฟู้ดเดลิเวอรี่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี เพราะในสถานการณ์ที่ไวรัสกำลังแพร่ระบาด ผู้คนไม่สามารถไปทำงานได้ ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ตนเองเคยมี หันมาทำงานที่บ้าน (Work from home) หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในขณะที่ปากท้องก็ต้องดำเนินต่อไป ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ อาทิ แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า มีอัตราการขยายตัวทางธุรกิจที่มากขึ้น และจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก รวมทั้งงดรับภาชนะใช้ซ้ำที่ลูกค้านำมาเอง

- สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยยึดตามหลักโรดแมป ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการงดใช้ขยะพลาสติกทุกประเภทอย่างเต็มรูปแบบในปี 2573 ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะยังต้องการการร่วมมือจากทุกภาคส่วนนอกจากผู้บริโภค นั่นคือฝ่ายผู้ผลิต ภาครัฐและเอกชน


ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

คำถามข้างต้นเป็นเพียงคำถามหนึ่งจากตัวผู้เขียนเองถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปนับไม่ถ้วน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จากที่ไม่เคยต้องใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกไปไหนมาไหน (ยกเว้นกรณีที่ป่วยจริง ๆ แล้วจำเป็นต้องออกไปข้างนอก) ก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เมื่อจำเป็นต้องออกไปพบปะผู้คน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะมาจากใครสักคนที่อยู่ข้างกายเรา ต้องพกเจลแอลกอฮอล์เอาไว้ล้างทำความสะอาด เพราะเราไม่รู้เลยว่าเชื้อไวรัสจะติดอยู่ที่มือเรา หลังจากที่แตะบัตรโดยสารออกจากสถานีรถไฟฟ้าหรือไม่ จากที่เคยชินกับการออกไปทำงานที่ออฟฟิศ ก็ต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน (Work from home) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส แต่แม้จะหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้าน แต่ปากท้องและเรื่องการกินการอยู่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ การสั่งอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรี่จึงตามมา รู้ตัวอีกทีก็มีแอปพลิเคชันสำหรับสั่งอาหารมาส่งที่บ้านอยู่เต็มโทรศัพท์

ไม่เคยมีสักครั้งที่เราจะหันมามองขยะพลาสติกที่มาในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราได้มาจากการสั่งอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรี่ และไม่เคยมีสักครั้งที่เราจะนึกถึงสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของมนุษย์


"ขยะพลาสติก" ก่อนและหลัง COVID-19

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ขยะพลาสติกและระบบการจัดการขยะโดยรวมของประเทศไทยว่า เดิมทีประเทศไทยมีระบบการจัดการขยะที่ค่อนข้างแย่ ในหนึ่งปีมีจำนวนขยะโดยรวมประมาณ 27-28 ล้านตัน มีขยะเพียงจำนวน 11.70 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องแต่ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะทำให้เกิดน้ำเสียทำให้ต้องมีมาตรการบำบัดน้ำเสียออกมารองรับ เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม เป็นขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 -13 ในขณะที่เขตกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะพลาสติก ประมาณร้อยละ 20 หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,500 ตันต่อวัน


ขยะพลาสติกจำนวนมากลอยอยู่ในคลองหัวลำโพงบริเวณหลังชุมชนคลองเตย ? 3 มกราคม 2560 ? Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในช่วงโควิด-19 พบว่าเขตเมืองต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ มีปริมาณขยะรวมลดลง โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดลงจากปกติ 10,560 ตันต่อวัน เป็น 9,370 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 11 ภูเก็ตลดลงจาก 970 ตันต่อวัน เป็น 840 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 13 นครราชสีมามีจำนวนขยะลดลงจาก 240 ตันต่อวัน เป็น 195 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 19 และเมืองพัทยามียอดลดลงจาก 850 ตันต่อวัน เป็น 380 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 55 เป็นต้น

แม้ปริมาณขยะจะลดลงในทุกพื้นที่ แต่ก็แลกกับจำนวนขยะพลาสติกอันเกิดมาจากจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่ (Food delivery) ส่งถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ที่พุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 60 ในเขตกรุงเทพมหานคร และร้อยละ 30 ในนครราชสีมา


Roadmap แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองที่ยังขาดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

วานิช สาวาโย ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย จากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ที่กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการหลัก ๆ คือการเลิกใช้พลาสติกประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ไมโครบีดส์ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ พลาสติก OXO ถุงพลาสติกที่บางกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟม แก้วหรือหลอดพลาสติก และสามารถรีไซเคิลพลาสติกที่เหลือได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์


ขยะพลาสติกที่พบระหว่างการสำรวจแบรนด์ของกรีนพีซและนักศึกษาจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ? Baramee Temboonkiat / Greenpeace

จุดมุ่งหมายแรกคือการเลิกใช้พลาสติกประเภทต่าง ๆ เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 พร้อมกับการเปิดตัวโครงการ "Everyday Say No To Plastic Bags" ภายใต้การร่วมมือของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ออกมาขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ให้งดแจกถุงพลาสติก (อาจมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี เช่น กรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้าอุ่นร้อน ไม่สามารถถือสินค้าด้วยมือเปล่าได้) และรณรงค์ให้ผู้บริโภคเตรียมกระเป๋าผ้าไปจับจ่ายซื้อของแทนถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังมีโครงการ ?ถังวนถุง? วางจุดรับถุงพลาสติกที่แห้งและสะอาดกว่า 300 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่แยกขยะก่อนที่จะทิ้ง ยังทิ้งขยะมูลฝอยหรือขยะอื่น ๆ ลงบนถังวนถุง เป็นปัญหาดั้งเดิมที่มีมานานมากแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ในขณะที่จุดมุ่งหมายที่สองคือการรีไซเคิลขยะพลาสติกทั้งหมดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยังอยู่ในช่วงริเริ่ม

วานิช เสริมว่าหน้ากากอนามัยเองก็เป็นขยะพลาสติกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะในหน้ากากอนามัยหนึ่งชิ้นมีส่วนผสมเป็นพลาสติก ย่อยสลายยาก คนไทยมี 66 ล้านคน ต้องใช้หน้ากากอนามัย 1 แผ่นต่อวัน ใช้แล้วทิ้งทันที จึงมีขยะพลาสติก 66 ล้านชิ้นเกิดขึ้นในหนึ่งวัน ซึ่งควรมีการเก็บรวบรวมหน้ากากอนามัยทั้งหมดเพื่อนำมากำจัดอย่างถูกวิธี และในอนาคตต้องการให้เกิดการผลักดันกฏหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use)


Personal Protective Equipment Pollution in New York. ? Tracie Williams / Greenpeace


แค่ความสมัครใจอาจไม่พอ?

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขยะมานานหลายปี พบว่าสาเหตุหลักของปัญหาขยะพลาสติกเกิดมาจากความล้มเหลวของตลาด เนื่องจากไม่มีการคิดราคาต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่เสียไปเพื่อให้ได้ถุงพลาสติกหนึ่งชิ้นเลย หน้าที่ของการกำจัดขยะพลาสติกยังอยู่ที่องค์กรท้องถิ่น ขาดการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งนโยบายของภาครัฐเองก็ยังเน้นส่งเสริมการสร้างพลังงานจากขยะ แต่ไม่มีมาตรการหรือระบบส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง อีกทั้งยังไม่มีกฏหมายให้ผู้ผลิตพลาสติกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด หรือจัดทำระบบ take-back ตามหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาของเสียที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ และหนทางในการแก้ปัญหานี้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่านการบังคับใช้กฏหมาย เครื่องมือทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคม ซึ่งเป็นวิธีที่ต่างประเทศ เช่น ไต้หวันและแคนาดา นำมาใช้ในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก

กรณีศึกษาจากไต้หวัน จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่าไต้หวันมีการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคควบคู่กับมาตรการ EPR มีการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ผลิตพลาสติก นำมาเข้ากองทุนรัฐเพื่อใช้จัดการซากผลิตภัณฑ์ พร้อมกับผลักดันกฏหมายควบคุมการใช้กล่องและถุงพลาสติก รวมไปถึงประกาศเป้าหมายและแนวทางการจำกัดการใช้ถุงพลาสติก และมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนแน่นอนว่าในปี 2573 จะงดใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติกทั้งหมด อ้างอิงจากแผนประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use) เมื่อปี 2561


ผู้ผลิตต้องมองให้ไกลไปกว่า "ชั้นวางของ"

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย นำเสนองานวิจัยเรื่องบทบาทของผู้ผลิตในการจัดการวิกฤตมลพิษพลาสติก กล่าวคือจากการสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติก (Brand Audit) บริเวณต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีขยะพลาสติกหลากหลายประเภท ได้แก่

สอดคล้องกันกับผลการวิจัยขยะพลาสติกในไทย พบว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ร้อยละ 40 ซึ่งทางกรีนพีซเองก็ต้องการเรียกร้องให้ทางผู้ผลิตสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จัดทำนโยบายลดพลาสติกและเปลี่ยนผ่านให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Roadmap ลด ละ เลิก บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นบรรจุภัณฑ์อื่นที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง จัดทำระบบรวบรวมพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของบริษัท เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม