ดูแบบคำตอบเดียว
  #12  
เก่า 09-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,301
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


พายุฤดูร้อน คืออะไร? กับสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเจอเกือบทุกปี


SHORT CUT

- ประเทศไทยเจอพายุฤดูร้อน สาเหตุจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมเกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นและเย็น ในช่วงเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. ของทุกปี

- ภาคเหนือ ภาคอีสาน ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด

- พายุฤดูร้อนถล่มไทย ช่วงวันที่ 8-10 มี.ค. จังหวัด ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง




พายุฤดูร้อน คืออะไร? และสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเจอกันเกือบทุกปี ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน จังหวัดภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง รับมือพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง ช่วง 8-10 มี.ค. นี้

พายุฤดูร้อนเชื่อว่าหลายคนคุ้นกับคำนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ความหมายของมันว่าเหตุใดจึงเรียกพายุฤดูร้อน วันนี้ SPRiNG จะพาไปรู้จักพายุฤดูร้อนคืออะไร

พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) เป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน ช่วงประมาณเดือนเมษายน พายุฤดูร้อนนี้ เป็นพายุประจำถิ่น ที่มักเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน เมื่ออากาศในช่วงเปลี่ยนฤดู มีความชื้นสูงและร้อน ในขณะที่ความกดอากาศสูงก็ยังคงแผ่ลงมาเป็นครั้งคราว นำอากาศที่แห้งและเย็นกว่ามาผสมผสาน ทำให้เกิดมวลอากาศ ที่อเสถียรภาพ มีการแลกเปลี่ยนมวลกันในแนวดิ่ง เกิดการยกตัวของมวลอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ในบางครั้งทำให้เกิดลูกเห็บตก ทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและ พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้


สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อน

ประเทศไทย แผ่นดินได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าในช่วงอื่นๆ ของปี ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น พายุฤดูร้อนเกิดจากการที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยและอากาศที่แห้งและเย็นจากประเทศจีน อากาศเย็นจะผลักให้อากาศร้อนชื้นลอยตัวขึ้นสู่ข้างบนอย่างรวดเร็ว จนเมื่อไอความชื้นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จนก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นก้อนสีเทาเข้มทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบและฟ้าผ่าตามมา บางโอกาสจะมีลมพัดแรงเป็นเวลา 10 - 15 นาที หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว โดยอาจมีกำลังแรงถึง 40 นอต หรือ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ประมาณ 30 - 40 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง.


สัญญาณเตือนก่อนเกิดพายุฤดูร้อน

- อากาศร้อนอบอ้าว ติดต่อกันหลายวัน
- ลมสงบ แม้ใบไม้ก็ไม่สั่นไหว
- ความชื้นในอากาศสูง จนรู้สึกเหนียวตามร่างกาย
- ท้องฟ้ามัว ทัศนวิสัยการมองเห็นระยะไกลไม่ชัดเจน
- เมฆมากขึ้น ท้องฟ้ามืดครึ้ม อากาศร้อนอบอ้าว


พื้นที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อน

พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้ประเทศจีน เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนเนื่องจากการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุม หรือแม่แต่ระแสลมซึ่งมีมวลอากาศที่มีคุณสมบัติต่างกัน อย่าง กระแสลมใต้ หรือตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอากาศร้อนและชื้นพัดผ่านทะเลมา และกระแสลมเหนือเป็นอากาศแห้งและเย็นพัดผ่านพื้นทวีปมา ก็อาจทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงได้ ทั้งนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้ แต่ก็น้อยกว่าภาคเหนือ-อีสาน


ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยล่าสุด ฉบับที่ 4 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 8-10 มีนาคม 2567

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงสำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

โดยจะมีผลกระทบดังนี้


วันที่ 9 มีนาคม 2567

- ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
- ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

วันที่ 10 มีนาคม 2567

- ภาคเหนือ: จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
- ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี และสระบุรี


ข้อมูลจาก : มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทย , กรมอุตุนิยมวิทยา


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/848457

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม