ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 10-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,331
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เปิดสาเหตุปลาตายเกลื่อนหาดบางพระ โลกร้อนตัวเร่งเกิดแพลงก์ตอนบลูมบ่อยขึ้น



เกิดอะไรขึ้นเมื่อปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนเต็มหาดบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จนสร้างความตกใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ หลังเพิ่งเกิดเหตุน้ำมันจากโรงกลั่นรั่วไหลลงทะเล และได้มีการกำจัดคราบน้ำมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนมีการปิดศูนย์ขจัดคราบน้ำมันเมื่อเย็นวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา หรือคราบน้ำมันกำจัดไม่หมด อีกทั้งช่วงนี้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือแพลงก์ตอนบลูม เป็นอีกสาเหตุทำให้ปลาตายมหาศาล แล้วปลาเหล่านี้เอาไปกินได้หรือไม่?


ปลาตายมหาศาล หวั่นมีสารโลหะหนัก คนเก็บไปกิน

สิ่งที่เกิดขึ้นมีคำตอบจาก "ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาบอกชัดๆ เลยว่า ปลาที่ตายจำนวนมากเกลื่อนหาดบางพระ เกิดจากแพลงก์ตอนบลูม และคราบน้ำมันที่หลงเหลือลอยมา แม้ศูนย์ขจัดคราบน้ำมันยืนยันกำจัดคราบน้ำมันหมดแล้ว และได้ปิดศูนย์ไป แต่ก็ยังหลงเหลือคราบน้ำมันอยู่ จากการใช้สารดิสเพอร์เซนต์ (dispersant) ฉีดพ่นใกล้ฝั่งน้ำลึกไม่ถึง 100 เมตร ซึ่งยังลึกไม่เพียงพอ ทำให้แบคทีเรียย่อยสลายน้ำมันไม่หมด จนคราบน้ำมันกองอยู่ใต้ทะเล เป็นน้ำมันจากอาหรับ มีสารตะกั่วสูง ไปปกคลุมหญ้าทะเล ปะการัง หรือสัตว์ทะเลได้

"ประมาณ 7 วัน น้ำมันเหลวที่จมลงใต้ทะเลอาจจะพัดเข้าฝั่งกลายเป็นก้อนน้ำมันดิน หรือ Tar ball ขนาดเล็กจำนวนมากสร้างความสกปรกให้ชายหาดแหล่งท่องเที่ยว และขณะนี้คราบน้ำมันได้พัดเข้าฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่ ใกล้เกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นเพราะหลังกำจัดคราบน้ำมัน มีการตรวจช่วงบ่าย คิดว่ากำจัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พอน้ำลง ก็พัดคราบน้ำมันมา จนปลาตายมหาศาลเป็นประวัติศาสตร์พื้นที่ภาคตะวันออก เพราะนอกจากแพลงก์ตอนบลูม ไปแย่งออกซิเจนแล้ว คราบน้ำมันก็ปกคลุมผิวน้ำ ทำให้ออกซิเจนลงไปไม่ถึง ทำให้ปลาใต้ทะเล และปลาผิวน้ำ ตายหมด"

สรุปสาเหตุการตายของปลามหาศาลบริเวณชายหาดบางพระ เกิดจากคราบน้ำมัน แพลงก์ตอนบลูม และน้ำยากำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งคราบน้ำมันบางส่วนจะไหลไปหาดบางแสน แต่อาจน้อย ต้องระวังก้อนน้ำมันดินพัดขึ้นฝั่ง และระวังปลาและหอยในฟาร์มจะตายเพิ่มขึ้น เกิดผลกระทบต่อการค้าขายอาหารทะเล และเกรงว่าปลาที่ตายมหาศาลจะมีคนเก็บไปขาย

เพราะปลาบางส่วนกินละอองน้ำมันผสมกับสารเคมีขจัดคราบน้ำมันใต้ทะเล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะสาธารณสุขจังหวัด ต้องนำปลาไปตรวจ และออกข่าวไม่ให้คนเก็บปลาที่ตายเอาไปกิน แม้แต่เอาไปทำปลาร้า ก็ไม่ได้ เพราะมีสารโลหะหนัก จะสะสมในระยะยาวมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนอาหารทะเล ต้องปรุงให้สุก อย่ากินดิบ


โลกร้อน ตัวเร่งทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม บ่อยขึ้น

ขณะที่ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมในทะเลอ่าวไทยเกิดในช่วงต้นฤดูฝนตั้งเดือนพ.ค.ถึงมิ.ย.และปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนก.ย.ถึงต.ค.ไล่มาตั้งแต่ทะเลจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และทะเลก้นอ่าวในจ.ชลบุรี ตั้งแต่บางแสน บางพระ ศรีราชา อ่าวอุดม แหลมฉบัง บางละะมุง และบางเสร่

นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้สารอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ลอยขึ้นที่ผิวน้ำทะเล และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้น จะถูกน้ำทะเลดูดซับไว้ถึง 40% มีส่วนทำให้ทะเลอ่าวไทยในช่วงฤดูฝนเกิดแพลงก์ตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวบ่อยขึ้น จากระบบนิเวศในอ่าวไทยเปลี่ยนแปลง

เมื่อแพลงก์ตอนบลูมสังเคราะห์แสงมากขึ้น และได้รับสารอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในปริมาณมาก จึงเจริญเติบโตแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ใต้ทะเลขาดก๊าซออกซิเจน จากนั้นไม่นานจะเริ่มตายลง มีกลิ่นเหม็นคาว ออกซิเจนในทะเลลดลง ทำให้สัตว์ทะเลตายเป็นจำนวนมาก และเมื่อเกิดน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ยิ่งทำให้ปลาตายหนักกว่าเดิมหลายเท่า.


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2723803

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม