ดูแบบคำตอบเดียว
  #52  
เก่า 12-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


มารู้จัก “ประภาคารปลา” สถาปัตยกรรมแบบใหม่ใต้ทะเล



“สถาปัตยกรรมใต้น้ำจากปะการังเทียม” สร้างสมดุลธรรมชาติท้องสมุทร ป้องกันชายฝั่ง ฟื้นระบบนิเวศ ขยายพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำต่างๆสู่แหล่งดำน้ำใหม่ในอนาคต ณ “ทะเลแหลมฉบัง”

“ประภาคาร” ที่เรารู้จักกันนั้น คือ หอคอย หรือ สิ่งก่อสร้างที่สูงเด่น มองเห็นได้ไกล มีไฟสัญญาณส่องสว่างตั้งอยู่บนยอด โดยใช้แสงไฟแสดงที่หมายในการนำเรือเข้าร่องน้ำ อ่าว เขตท่าเรือ หรือ เตือนตำบลที่ ป้องกันเรือวิ่งเข้าหากองหิน ที่ตื้น และสิ่งกีดขวางที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ด้วยลักษณะดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จึงปิ๊งไอเดีย “สร้างบ้านให้ปลา” ในรูปแบบ “ประภาคาร” หวังเป็น “สถาปัตยกรรมใต้น้ำจากปะการังเทียม” ที่ไม่เพียงอนุรักษ์ชีวิตสัตว์ทะเล แต่ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลได้

เนื่องจาก “กิจการท่าเรือ” เป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย ขยายพันธุ์ของปลา และสัตว์น้ำภายในอาณาบริเวณท่าเรือ เพื่อเป็นการชดเชยผลกระทบดังกล่าว กทท.จึงจัดทำโครงการปะการังเทียม “ประภาคารปลาการท่าเรือฯ เฉลิมพระเกียรติ” โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมของรัฐบาล ให้เข้าร่วมเป็นโครงการ/กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย มีคุณเอี่ยม ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เผยว่า ยังเป็นประโยชน์เชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล สร้างแหล่งหลบภัย อยู่อาศัย ขยายพันธุ์ของปลา และสัตว์น้ำ เพิ่มพื้นที่ในการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง เป็นแนวกีดขวางการทำประมงอวนลาก อวนรุน ที่ทำลายพืช และสัตว์น้ำหน้าดิน ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ลดความแรงของคลื่น และกระแสน้ำ ทั้งยังหวังจะช่วยเพิ่มแหล่งทำประมงพื้นบ้าน รวมถึงชุมชนใกล้เคียงพื้นที่โครงการมีโอกาสพบปะปรึกษาการบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน สร้างความร่วมมือ และสภาพสังคมที่ดี ขณะเดียวกัน ยังเป็นประโยชน์เชิงส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ สร้างเสริมรายได้ให้ชุมชนใกล้เคียงพื้นที่โครงการ จึงได้สร้างปะการังเทียมให้มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ทั้งการประกอบตัวปะการัง และการจัดวาง สู่ที่มาของ “ประภาคารปลา”

ปะการังเทียมจะทำหน้าที่คล้ายแนวหิน หรือ แนวปะการังที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยสร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆอย่างมีแบบแผน เพื่อดัดแปลง ปรับปรุง เสริมแต่งสภาพพื้นที่ท้องทะเลให้เหมาะสมกับลักษณะที่สัตว์น้ำชอบอาศัย โดยเลียนแบบบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออับปาง มักใช้วัสดุแข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนัก ต้านทานกระแสน้ำ ไม่ถูกกัดเซาะจากน้ำเค็ม มีช่องเงาให้สัตว์น้ำใช้กำบัง หรือ ซ่อนตัว

ถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงพื้นที่ลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง หอย ฟองน้ำ เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ อีกทั้ง สิ่งมีชีวิตพวกสาหร่าย สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์หน้าดิน มักมาจับจองเป็นที่อยู่ กลายเป็นแหล่งอาหารสมบูรณ์สำหรับปลาอีกต่อหนึ่ง

ด้าน เรือเอก อิทธิชัย สุพรรณกูล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือฯ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานโครงการปะการังเทียม “ประภาคารปลาการท่าเรือฯ เฉลิมพระเกียรติ” กล่าวถึง ขั้นตอนการดำเนินโครงการว่า เริ่มจากคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย สำรวจ กำหนดพิกัดภูมิศาสตร์ และรูปแบบการวางปะการังเทียมร่วมกับชุมชนใกล้เคียงพื้นที่เป้าหมาย จัดทำแบบแปลนจัดสร้าง และจัดวาง ขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากนั้น จัดสร้างปะการังเทียม และจัดวางตามรูปแบบ-ตำบลที่กำหนด ตรวจสอบความถูกต้องของตำบล-ความลึกน้ำ ทำเครื่องหมายแสดง-ประกาศพิกัดพื้นที่จัดสร้างปะการังเทียม และรายงานผลดำเนินโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

โดยพื้นที่โครงการอยู่ฝั่งตะวันตกของชายเขาแหลมฉบังด้านทิศใต้ พิกัดละติจูด 13 04' 36" N ลองจิจูด 100 52' 10" E ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในอาณาบริเวณทางน้ำของ กทท. ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่นอกทุ่นกำกับร่องน้ำทางเดินเรือของเรือสินค้า ระยะห่างจากฝั่ง 1,000 เมตร และมีความลึก 11-12 เมตร

“ปะการังเทียมดังกล่าว กทท.จัดสร้างขึ้นเป็นโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงลูกบาศก์โปร่ง ขนาด 1.5 เมตร น้ำหนัก 1,060 กิโลกรัม น้ำหนักเมื่ออยู่ในน้ำ 600 กิโลกรัม จำนวน 150 แท่ง ออกแบบผังการจัดวาง และประกอบเป็น 6 ชุด ชุดละ 17-29 แท่ง จัดวางขนานชายฝั่งทะเลแหลมฉบังขึ้นไปทางทิศเหนือเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 2 ชุด เป็นแนวปะการังกว้าง 9 เมตร ยาว 53.50 เมตร โดยจินตนาการให้เหมาะกับการอยู่อาศัยของปลา และสะดวกปลอดภัยในการดำชมพื้นที่โครงการ โดยมีตำแหน่งอยู่นอกเส้นทางการเดินเรือ และมีลักษณะเป็นพื้นราบต่อเนื่องจากพื้นที่ลาดชัน พื้นทะเลไม่เป็นโคลนเหลว เหมาะสำหรับวางปะการังเทียม สะดวกในการใช้ประโยชน์ และสามารถขยายโครงการระยะต่อๆไป ซึ่งหลังจากเปิดโครงการวันที่ 23 ธ.ค.54 และดำเนินการจัดวางปะการังเทียมตามจุดพิกัดพื้นที่เป้าหมายแล้วเสร็จ เมื่อครบ 1 ปี กทท.จะประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรสัตว์น้ำ เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาขยายโครงการต่อเนื่องจากพื้นที่เดิม” เรือเอกอิทธิชัยกล่าว

การจัดสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล หรือ ปะการังเทียม ถือเป็นหนึ่งหนทางช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ช่วยเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ รวมไปถึงพัฒนาเป็นแหล่งประมง ขณะเดียวกัน การดูแลสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นให้มีความอุดมสมบูรณ์ร่วมด้วย ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลได้เช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือ จุดเริ่มต้นที่ดีในการรักษาสมดุลของธรรมชาติให้อยู่คู่ท้องทะเลไทยต่อไป.




จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 10 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม