ดูแบบคำตอบเดียว
  #12  
เก่า 24-01-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจตอนที่ 2



ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเรื่องตำแหน่ง ขนาด และเวลาเกิด ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่างๆของบริเวณแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพยากรณ์แผ่นดินไหว โดยอาศัยทั้งที่เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

คุณลักษณะทางกายภาพของเปลือกโลกที่เปลี่ยนแปลงจากปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- แรงเครียดในเปลือกโลกเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง
- การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
- น้ำใต้ดิน (ชาวจีน สังเกต การเปลี่ยนแปลง ของน้ำในบ่อน้ำ 5 ประการ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ น้ำขุ่นขึ้น มีการหมุนวนของน้ำ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีฟองอากาศ และรสขม)
- ปริมาณก๊าซเรดอน เพิ่มขึ้น
- การส่งคลื่นวิทยุความยาวคลื่นสูงๆ

การสังเกตพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดที่มีการรับรู้ถึงภัยก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- แมลงสาบจำนวนมากวิ่งเพ่นพ่าน
- สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตกใจ
- หนู งู วิ่งออกมาจากรู
- ปลา กระโดดขึ้นจากผิวน้ำ ฯลฯ

สัญญาณบ่งบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆในบริเวณเดียวกันหลายสิบครั้งหรือหลายร้อยครั้งในระยะเวลาสั้นๆ เป็นวันหรือในสัปดาห์ อาจเป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าตามมาได้ หรือในบางบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีขนาดเท่าเทียมกัน หากบริเวณนั้นว่างเว้นช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี ยิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะเวลายาวนานเท่าใด การเคลื่อนตัวโดยฉับพลันเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น

ถึงแม้การพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน จะยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อการคาดหมายที่แม่นยำและแน่นอนขึ้น แต่การมีมาตรการป้องกันและบรรเทาพิบัติภัยแผ่นดินไหว เช่นการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงการเตรียมพร้อมที่ดีของประชาชน เช่นให้คำแนะนำถึงวิธีการเอาตัวรอดที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วย

เมื่อหันมองถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐเฮติมีผู้แสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดมหันตภัยครั้งนี้กันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลที่จะหยิบยกเหตุผลมาประกอบการอธิบาย นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อธิบายถึงสัญญาณผิดปกติจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ว่าเคยมีนักวิทยาศาสตร์ที่คิดแตกต่างกัน มองว่าการเกิดแผ่นดินไหวบนโลกทุกวันนี้เกิดจากการสะสมพลังงานจากใจกลางโลกและนอกโลก ซึ่งเป็นพลังงานที่ปลดปล่อยมาจากระบบสุริยะ คล้ายกับปรากฏการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ที่เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากความผิดปกติของการเคลื่อนตัวของระบบสุริยะที่สร้างแรงกระตุ้นให้ดาวเคราะห์ต่างๆรวมถึงโลก โดยการปลดปล่อยพลังงานแสงพลังงานสนามแม่เหล็กมายังดาวเคราะห์หลายดวง กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแสงสว่าง ทำให้โลกได้รับสนามแม่เหล็กจากการเกิด "พายุสุริยะ" หรือ "จุดดับ" ก็ส่งพลังงานจากภายนอกเข้ามามีผลต่อการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกได้

"ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ที่โลกได้รับพลังงานจากระบบสุริยะหรือจักรวาลอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อย่างกรณีที่เฮติก็เชื่อว่าเกิดจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล ที่กระตุ้นให้ดวงอาทิตย์เกิดสันดาป ปลดปล่อยสนามแม่เหล็กมาสู่โลก"

ทั้งนี้ เฮติเป็นประเทศที่ยากจนในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ต้องเผชิญกับหายนภัยครั้งรุนแรงหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2551 เกิดเฮอริเคน 3 ลูก และพายุโซนร้อนลูกหนึ่งถล่ม มีคนตาย 793 คน สูญหายอีกกว่า 300 คน ในปีเดียวกันนั้นยังเกิดการจลาจลเพราะราคาอาหารแพงลิบอีกด้วย

และแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 200 ปี ที่เกิดขึ้นในเฮติ แถมยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงตามมาอีกถึง 24 ครั้ง ถือเป็นโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวง และเป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดของมวลมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่งได้เลยทีเดียว



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 24 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม