ดูแบบคำตอบเดียว
  #62  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

คม ชัด ลึก
10-05-2015

เรื่องเล่าอ่าวคั่นกระได จาก 'ผู้ร้าย' กลายเป็น 'พระเอก' ..................... รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย เสาวลักษณ์ ประทุมทอง สมาคมรักษ์ทะเลไทย



คนต้องการ "บ้าน" เป็นที่อยู่อาศัย สัตว์น้ำก็เช่นเดียวกัน !

ในปี 2551 สภาพเศรษฐกิจในหมู่บ้านคั่นกระไดย่ำแย่มาก เพราะทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก ชาวบ้านบางคนต้องหันไปเป็นคนงานก่อสร้าง ทุกคนต่างมีคำถามอยู่ในใจว่า “จะทำอย่างไรให้ปลากลับมา ?”

หลังจากได้เดินทางไปศึกษาดูงานการอนุรักษ์ทะเลที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และได้เห็นชาวบ้านที่นั่นทำ “บ้านปู” พวกเขาก็กลับมาด้วยความหวัง

“พี่รุ่งแกเคยไปออกเรือใหญ่แถวทางใต้ แกเล่าให้ฟังว่า พวกเรือประมงพาณิชย์ชอบใช้วิธีทำ “ซั้ง” เพื่อล่อปลาเข้ามาเป็นฝูงแล้วก็ล้อมจับ วิธีนี้น่าจะเอามาดัดแปลงเป็น “บ้านปลา” ได้ แต่เราจะไม่ทำเหมือนเรือพาณิชย์ที่ใช้ซั้งล่อปลามาจับ เราจะทำซั้งเพื่อให้ลูกปลาได้เข้ามาหลบภัย ให้มันได้เจริญเติบโต แล้วก็ต้องตกลงกติกากันว่า ห้ามจับปลาที่ซั้ง เราจะปล่อยให้มันโต”

“ซั้งกอ” หรือบ้านปลา คือภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประยุกต์มาจากการสังเกตธรรมชาติของฝูงปลา ที่จะต้องมีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน มีที่หลบภัย ซั้งกอจะทำหน้าที่คล้ายปะการังเทียม แต่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในหมู่บ้าน ประกอบไปด้วย

ทางมะพร้าว สำหรับทำเป็นกิ่งก้านของซั้งกอ เพื่อให้สัตว์น้ำได้เข้ามาหลบภัยโดยทางมะพร้าวที่ใช้นั้น ต้องเป็นทางมะพร้าวสด เพราะจะมีกลิ่นหอมที่ปลาชอบ ซั้งกอ 1 ต้นใช้ทางมะพร้าวราว 3-4 ต้น ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำ

ไม้ไผ่ยาว 8-10 เมตร ใช้สำหรับทำเป็นต้นซั้งกอ

ทุ่นซีเมนต์หล่อเป็นแท่ง หนักประมาณ 80 กิโลกรัม ใช้สำหรับถ่วงต้นซั้งไว้ให้อยู่กับที่เมื่อทิ้งซั้งกอลงสู่ทะเล

“ครั้งแรกเลยที่ทำซั้งกัน เราไปทิ้ง 3 กอ พอเช้ามา น้าเล็กแกมาโวยวายใหญ่เลย พวกมึงมาทิ้งกันอย่างนี้แล้วกูจะวางอวนได้ยังไง มันเกะกะนะ กูไม่ให้ทิ้ง ว่าแล้วแกก็ไปของแกคนเดียวเลย จัดการลากซั้ง 3 กอมารวมกันเป็นกระจุกเดียว เราก็ได้แต่มองหน้ากันเพราะน้าเล็กแกเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วอีกอย่างเราก็ยังไม่รู้ว่าซั้งมันจะได้ผลหรือเปล่าด้วย ปรากฏว่าแค่ 3 วันเท่านั้นเอง ปลาไอ้หม่องโกยมันมาจากไหนก็ไม่รู้ มันมาตอมอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็มีแต่น้าเล็กคนเดียวที่วางอวนอยู่ตรงนั้น รอบนั้นคาดว่าแกจะวางไอ้หม่องโกยขายได้เป็นแสน เติมน้ำมันออกไปแค่ 3 ลิตรเอง เราก็ไปถาม เป็นไงล่ะคุณน้า ซั้งของพวกฉัน แกก็ยิ้มบอกว่า เออๆ ใช้ได้ๆ หลังจากนั้นมาเวลาที่เราทิ้งซั้งกัน น้าเล็กจะเข้ามาช่วยเป็นตัวหลักทุกครั้ง”

นอกจากซั้งกอแล้ว บ้านคั่นกระไดยังมีกระชังปูไข่ หรือ “ธนาคารปู” ที่ปัจจุบันชุมชนประมงพื้นบ้านในหลายจังหวัดเริ่มทำกันแพร่หลายมากขึ้น เพราะเป็นวิธีการขยายพันธุ์ปูม้าให้เพิ่มขึ้นอย่างได้ผล กิจกรรมนี้จะมีกลุ่มเด็กๆ เยาวชนในหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลอย่างกระตือรือร้น เพราะนอกจากความสนุกสนานแล้ว แม่ปูที่สลัดไข่เสร็จ เด็กๆ ก็จะนำไปขายเป็นรายได้ของกลุ่มเยาวชน

“ทุกวันนี้ เราจะทิ้งซั้งกันปีละ 2 ครั้ง มีคนถามว่าที่จริงซั้งก็เหมือนกับปะการังเทียม ทำไมเราไม่ทิ้งปะการังเทียมไปเลย เราคิดว่า ซั้งกอมันมีความหมายมากกว่าปะการังเทียมที่ต้องใช้งบประมาณมาก ต้องติดต่อประสานให้ประมงจังหวัดมาช่วย แต่ซั้งเราทำจากวัสดุที่หาได้เอง ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เวลาทำซั้งคนในหมู่บ้านก็จะมาช่วยกันทำ พอทุกคนได้มีส่วนร่วมก็จะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของซั้งแล้วก็จะช่วยกันดูแล ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่พวกเด็กๆ ก็จะมาช่วยกัน ทำให้เด็กๆ ของเราได้เรียนรู้ซึมซับการดูแลรักษาทะเลไปพร้อมๆ กับผู้ใหญ่ด้วย”

เมื่อปลากลับบ้าน... เกิดอะไรขึ้นที่นี่

“โอ้โหย ขึ้นกันหัวขาวๆ เลย”

พี่น้อย โกศล จิตรจำลอง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ชี้ให้เด็กๆ ในเรือดูลูกปลาทูฝูงใหญ่ที่ดำผุดดำว่ายอยู่ตามแนวซั้งกอ วันนี้ชาวบ้านออกมาทิ้งซั้งเพิ่มเพื่อเสริมแนวซั้งชุดเก่าที่เริ่มผุพัง กิจกรรมนี้พวกเขาทำต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว เพราะการทำซั้งกอบังเกิดผลอย่างเกินคาดหมาย ทุกวันนี้ชาวประมงคั่นกระไดแทบไม่ต้องออกเรือไปหาปลาไกลถึงต่างหมู่บ้านอีกเลย

“เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องออกเรือไปไกล แค่หน้าบ้านก็มีปลาให้จับ บางช่วงหมู่บ้านอื่นไม่ได้ปลากันเลย แต่หน้าบ้านเราได้กุ้งเป็นร้อยๆ กิโล แถมยังเป็นกุ้งไซส์ใหญ่ทั้งนั้น ขนาดน้าเล็กแกเรือลำเล็ก ออกได้แต่น้ำตื้น บางวันยังได้ปลาตั้งสองสามร้อยกิโล”

ไม่เพียงแต่ปลาเท่านั้น การทำธนาคารปูมากว่า 3 ปีก็ทำให้ปูม้าในอ่าวคั่นกระไดชุกชุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“พ่อเลยลงทุนทำอวนปูให้ผมออก ออกเองใช้เวลาว่างตอนกลับจากโรงเรียนมาก็วางอวนปูทิ้งไว้ อีก 2-3 วันก็ออกไปเก็บครั้งหนึ่ง ขายปูได้ พ่อก็ให้เป็นรายได้ของผมเลยครับ บางครั้งขายปูได้ 1,000-2,000 บาท รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นปูที่ผมกับเพื่อนๆ ทำกระชังเลี้ยงปูไข่”



น้องนนท์ ลูกชายของหน่องเล่าถึงงานอดิเรกของตัวเอง ไม่เพียงแต่ชาวบ้านคั่นกระไดที่ได้ประโยชน์จากการทำซั้งกอ ปัจจุบันอ่าวคั่นกระไดได้กลายเป็นทำเลหากินที่ดึงดูดเรือประมงต่างถิ่นเข้ามามากมาย ซึ่งในระยะแรกๆ พวกเขาต้องหมั่นเพียรชี้แจงทำความเข้าใจกฎระเบียบที่ห้ามจับปลาในซั้ง จนเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชาวประมงพื้นบ้านใกล้เคียง

แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ เรืออวนล้อม และเรือปั่นไฟที่มักแอบเข้ามาล้อมจับลูกปลาในแนวซั้ง

3 วันต่อมา พี่น้อยก็บ่นพึมพำอย่างหัวเสีย

“ปลาทูฝูงนั้นหายไปแล้ว พวกอวนล้อมมากวาดไปเรียบ”

เช้าวันรุ่งขึ้น เรือคั่นกระได 4 ลำออกทะเลแต่เช้ามืด มุ่งหน้าตรงสู่เรือประมงพาณิชย์ที่กำลังปล่อยอวนล้อมลูกปลาทู

“พวกเราทำเขตอนุรักษ์ แต่พวกพี่มาจับลูกปลา มันไม่ถูกนะพี่นะ” หน่อง ส่งเสียงถึงคู่กรณีผ่านทางวิทยุสื่อสาร มีเสียงโต้ตอบกลับมาทันใดทางดอกลำโพง

“เฮ้ย ลูกปลาอะไร เขาจับกันมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว ของเราเป็นประมงพื้นบ้าน เรือต่ำกว่า 7 วา”

“ผมรู้ว่าเรือพี่เป็นประมงพื้นบ้าน แต่ไอ้เครื่องมือของพี่น่ะ มันไม่ใช่นะ...”

การโต้เถียงยังดำเนินต่อไปจนกระทั่งเรือคั่นกระไดทั้ง 4 ลำแล่นประชิดเข้ารายล้อมเรือประมงพาณิชย์ลำดังกล่าว สุดท้าย เรืออวนล้อมยอมล่าถอยออกนอกเขตซั้งแต่โดยดี โชคดีที่วันนี้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

ฉากเหตุการณ์เช่นนี้ มักเกิดขึ้นเสมอหลังจากที่พวกเขาทำให้ “ปลากลับบ้าน” ได้เป็นผลสำเร็จ มันได้ทำให้พวกเขาเรียนรู้มากขึ้นว่า การที่จะฟื้นฟูทรัพยากรให้ได้นั้น นอกจากองค์ความรู้แล้ว พวกเขายังต้องมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องเขตอนุรักษ์จากการทำประมงแบบทำลายล้าง

“ช่วงแรกๆ มีปัญหาบ่อยมาก ถึงขั้นชักปืนขู่กันก็เคยมี บางทีเรือพวกนี้มาลากซั้งไปทั้งกอเลย เราทำซั้งแล้วไม่ใช่ไปทิ้งไว้เฉยๆ แต่ต้องคอยดูแล ต้องสร้างกฎกติกาของบ้านเราขึ้นมา แล้วคนอื่นที่เข้ามา เราก็ต้องทำให้เขาเคารพในกติกาของบ้านเราด้วย”

“เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นเยอะ เสียงเราก็จะดังขึ้น อำนาจต่อรองก็เกิดขึ้นเมื่อต้องเจรจาแก้ไขปัญหา”

หน่องสรุปประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ของเขา...

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม