ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 03-05-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รอยแผลชัด "ฉลาม" กัดขาด.ช.ลูกครึ่งเล่นน้ำหาดกมลา เย็บกว่า 30 เข็ม



ผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวอเมริกันระบุ บาดแผลเด็กต่างชาติวัย 8 ขวบ ลงเล่นน้ำหาดกมลา ภูเก็ต น่าจะมาจาก "บูลชาร์ก" ในตระกูลฉลามหัวบาตรกัด ขณะที่ผู้ประกอบการเชื่อเกิดจากคมเขี้ยว "ปลาสาก" เพราะเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วกับนักท่องเที่ยวชาวจีน และเคยเจอตัวใหญ่สุดหนักถึง 13 กิโลกรัม ล่าสุด นักวิชาการประมงยืนยัน เป็นแผลจากฉลามแน่นอน ต้องเย็บกว่า 30 เข็ม

จากกรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1 พ.ค. หน่วยกู้ชีพ อบต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้นำ ด.ช.ชาวต่างชาติ วัย 8 ขวบ มีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณขาขวาหลายจุดจากบริเวณชายหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ ส่งรักษาตัวที่ รพ.กรุงเทพภูเก็ต อ.เมือง เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดว่าถูกสัตว์ทะเลชนิดใดกัดหรือทำร้าย จนเกิดบาดแผลฉกรรจ์ จากนั้นได้มีการส่งภาพบาดแผลดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจพิสูจน์หรือวินิจฉัยบาดแผล

ต่อมาเวลา 09.30 น. วันที่ 2 พ.ค.65 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวอเมริกัน ซึ่งอาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบาดแผลดังกล่าว โดยนายเดวิดเปิดเผยว่า ได้เห็นภาพดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.65 เบื้องต้นคาดว่าเป็นบูลชาร์กกัดเข้าที่บริเวณขาของเด็กต่างชาติดังกล่าว ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดำน้ำถ่ายภาพสัตว์ทะเลมาทั่วโลก จึงคาดว่าอาจเป็นฉลามในตระกูลบูลชาร์ก หรือ ฉลามหัวบาตร เนื่องจากเป็นบาดแผลกัดและกระชากสะบัด ซึ่งแตกต่างจากการกัดของสัตว์ทะเลทั่วไป

"สำหรับบูลชาร์กเมื่อโตเต็มวัยจะยาวถึง 3 เมตร ขณะที่นิสัยของบูลชาร์กนั้นไม่ใช่ฉลามที่ดุร้าย หรือทำร้ายมนุษย์ เพียงแต่อาจเข้าใจผิด คิดว่าคนเป็นเหยื่อที่สามารถกินเป็นอาหารได้ ซึ่งในธรรมชาติบูลชาร์กจะกินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น หมึก กุ้ง เม่นทะเล และเต่าทะเล โดยบูลชาร์กสามารถว่ายน้ำเข้ามาบริเวณชายฝั่งหรือบริเวณน้ำที่ขุ่นได้ เนื่องจากมีเรดาร์ที่ปลายจมูก รับรู้การเคลื่อนไหวบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ข้างหน้าได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่สามารถมองเห็นก็ตาม แต่ยังขอยืนยันว่าชายหาดกมลาหรือชายหาดใน จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัยจากฉลามหรือสัตว์ทะเล" นายเดวิด กล่าว

ทางด้าน นายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอกะทู้ ได้ลงพื้นที่พร้อมด้วยรองนายก อบต.กมลา ที่บริเวณหน้าหาดกมลา ข้าง สภ.กมลา เพื่อสอบถามเหตุการณ์ กรณีพบปลาทำอันตรายแก่นักท่องเที่ยว ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 เวลาประมาณ 16.30 น.มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเป็นครอบครัวประมาณ 6 คน มีเด็กชายอายุประมาณ 8 ปี เป็นเด็กลูกครึ่งไทยต่างชาติลงเล่นน้ำทะเล ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาน้ำลงจากชายฝั่งประมาณ 30 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5 นาที ปรากฏมีปลาทะเลเข้ามากัดเด็ก และเด็กได้ร้องเรียกผู้ปกครองเข้าช่วยเหลือพาขึ้นฝั่ง และผู้ประกอบการบริเวณชายหาดได้เรียกกู้ชีพพาส่ง รพ.ป่าตอง ต่อมาได้ย้ายไป รพ.กรุงเทพฯ

จากการสอบถามนายอภิสิทธ์ อนันต์ ผู้ประกอบการที่อยู่บริเวณชายฝั่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ เผยว่า เหตุการณ์ปลาทำร้ายนักท่องเที่ยวในลักษณะแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 2 ปี ปลาสากทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งบริเวณหาดกมลาตนเคยดำน้ำพบปลาสากอยู่บริเวณชายฝั่งขนาดประมาณต้นขา ใหญ่สุดประมาณ 13 กิโลกรัม มันจะเข้ามากินปลาเล็กที่มากินพืชน้ำบริเวณนี้ที่มีความสมบูรณ์ จึงอาจเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เบื้องต้นได้ประสาน อบต.กมลา ทำป้ายแจ้งเตือนและการประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสาย เพื่อแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวที่จะลงเล่นว่ายน้ำในบริเวณดังกล่าวได้โปรดระมัดระวังอันตรายจากสัตว์น้ำอีกทางหนึ่ง

เวลา 14.00 น.ที่ รพ.มิชชั่นภูเก็ต ถ.เทพกระษัตรี ต.รัษฎา อ.เมือง นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รอง ผวจ.ภูเก็ตพร้อมด้วย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต และ นายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวฝรั่งเศสได้เข้าเยี่ยมอาการ ด.ช.ลูกครึ่งไทย-ยูเครน อายุ 8 ปี ที่ถูกสัตว์ในทะเลกัดขณะลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นหน่วยกู้ชีพ อบต.กมลาได้นำส่งรักษาตัวที่ รพ.ป่าตอง ต่อมาได้นำส่งตัวต่อมารักษายัง รพ.กรุงเทพภูเก็ต และเข้ารับการรักษาในเวลาต่อมาที่ รพ.มิชชั่นภูเก็ต เบื้องต้นแพทย์ได้ทำการเย็บบาดแผลไปกว่า 30 เข็ม โดยได้เยี่ยมอาการและพูดคุยกับเด็กซึ่งมีครอบครัวคอยดูแล

นายพิเชษฐ์ กล่าวภายหลังการเยี่ยมอาการและพูดคุยกับเด็กที่บาดเจ็บว่า วันนี้ได้เข้าพบผู้ประสบเหตุที่ชายหาดกมลา อ.กะทู้ หน้า สภ.กมลา ห่างจากแนวชายหาดราว 100 เมตร ลึกไม่ถึง 1 เมตร โดยเด็กที่ได้รับบาดเจ็บเป็นลูกครึ่งไทย-ยูเครน คุณแม่เป็นชาวไทย พักอาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ซึ่งกรณีเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเราจะมีการช่วยเหลือเยียวยาในสิทธิ์ที่พึงจะได้ แต่เมื่อเป็นคนที่อยู่ในจังหวัด สิทธิ์นั้นก็ตกไป โดยคุณแม่ของเด็กเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนสัตว์ทะเลที่เข้าทำร้ายเด็กนั้น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ที่วินิจฉัยได้ดีที่สุด

"จากนี้ไปจะต้องมีบีชการ์ดคอยกำกับดูแลการลงเล่นน้ำทะเลของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะต้องปักป้ายเตือนและหอคอยสอดส่องดูแลนักท่องเที่ยวในช่วงที่ปลาชนิดนี้จะเข้ามาตามแนวชายฝั่ง และอีกอย่างอาจมีการใช้โดรน แต่สุดท้ายวิธีการที่ดีที่สุดคือ ป้ายเตือนภัยบอกนักท่องเที่ยว"

ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กล่าวถึงสัตว์ทะเลที่ทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บในกรณีนี้ว่า เบื้องต้นเราสงสัยฉลาดอยู่ 2 ชนิด คือ ฉลามบูลชาร์ก (ฉลามหัวบาตร) และฉลามแบล็กทิป(ฉลามครีบดำ-หูดำ) โดยส่วนใหญ่ที่เราพบบริเวณชายหาดกมลา อ.กะทู้ เราจะพบเป็นฉลามหูดำหรือครีบดำ แต่จากความคิดเห็นของนายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามเชื่อว่าถ้าเป็นฉลามครีบดำหรือหูดำเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากลักษณะการเข้าโจมตีเหยื่อจะรุนแรงมาก กรณีผู้บาดเจ็บรายนี้จึงเชื่อว่าอาจเป็นฉลามบูลชาร์ก อย่างไรก็ดีเราจะไม่ยืนยันว่าเป็นสายพันธ์ุใด แต่บาดแผลเกิดจากฉลามแน่นอน

"เราตัดข้อสงสัยเกี่ยวกับปลาสากออกไปได้เลย เพราะบริเวณตรงจุดที่เกิดเหตุไม่ใช่บริเวณแหล่งหากินของปลาสาก โดยเฉพาะบาดแผลที่พบนั้นเป็นบาดแผลที่เกิดจากฉลาม มีทั้งฟันบนและฟันล่างอยู่รวมกัน โดยเป็นบาดแผลของมีคมทั้ง 2 ด้านและมีการงับทั้งฟันบนและฟันล่างพร้อมกัน จึงตรงกับลักษณะบาดแผลที่เกิดจากฉลาม ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุเป็นโซนนิ่งที่ฉลามออกหากิน ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการเคลื่อนไหวของผู้บาดเจ็บบริเวณน้ำที่ขุ่น ฉลามจึงเข้ามาหาอาหาร และคิดว่าเป็นอาหาร จึงกัดขาผู้บาดเจ็บ แต่เมื่อกัดเข้าไปแล้วไม่ใช่อาหาร จึงไม่ได้โจมตีซ้ำ และนับว่าเกิดขึ้นได้น้อยครั้งมากกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้" ดร.ก้องเกียรติกล่าวย้ำ


https://www.thairath.co.th/news/local/south/2382616

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม