ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 13-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


พบทะเลสาบโบราณขนาดมหึมา ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์ คาดอายุเก่าแก่นับล้านปี


ภาวะโลกร้อนทำให้ผืนน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ
ที่มาของภาพ,NASA / MICHAEL STUDINGER


นักธรณีฟิสิกส์ค้นพบร่องรอยของทะเลสาบโบราณขนาดใหญ่ยักษ์ ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผืนน้ำแข็งที่ปกคลุมเกาะกรีนแลนด์เกือบ 2 กิโลเมตร โดยคาดว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่หลายแสนปีไปจนถึงระดับหลายล้านปีก็เป็นได้

รายงานการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters ระบุว่า ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ มีขนาดกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 7,100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่จังหวัดสงขลาของไทย หรือรัฐโรดไอแลนด์และรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ รวมกัน


กรีนแลนด์จะเป็นอย่างไรถ้าไร้น้ำแข็ง?

บีบีซีกลับไปที่ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงหลังผ่านไป 15 ปี
เจอทะเลสาบใต้ผืนน้ำแข็งเพิ่มอีกหลายแห่งที่ขั้วใต้ดาวอังคาร แม้ในปัจจุบันทะเลสาบดังกล่าวจะไม่มีน้ำขังอยู่ แต่ยังคงเหลือร่องรอยชั้นหินที่เป็นแอ่งทะเลสาบ โดยจุดที่มีความลึกมากที่สุดอยู่ที่ 250 เมตร ทั้งยังมีตะกอนปริมาณมากที่ส่วนก้นซึ่งสะสมตัวหนาถึง 1.2 กิโลเมตร

คาดว่าในอดีตทะเลสาบแห่งนี้สามารถจุน้ำได้ถึง 580 ลูกบาศก์กิโลเมตร โดยน้ำปริมาณมหาศาลไหลมาจากธารน้ำแข็งที่ละลายตัวกลายเป็นลำธาร 18 สาย ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยปรากฏอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบในทุกวันนี้


ธารน้ำแข็งฮัมโบลต์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ ใกล้กับบริเวณที่พบทะเลสาบโบราณ
ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES


ทีมนักธรณีฟิสิกส์ในโครงการ Operation Icebridge ขององค์การนาซา เป็นผู้ค้นพบร่องรอยของทะเลสาบโบราณขนาดใหญ่ หลังจากใช้อุปกรณ์เรดาร์ที่ทันสมัยสำรวจจากทางอากาศ โดยได้ตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศด้านล่าง รวมทั้งค่าแรงโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็กใต้ผืนน้ำแข็งของกรีนแลนด์

ดร. กาย แพ็กซ์แมน นักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐฯ สันนิษฐานว่า ทะเลสาบโบราณดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่ภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพอากาศอบอุ่นและไม่มีน้ำแข็งปกคลุม โดยแอ่งทะเลสาบก่อตัวหลังรอยเลื่อนโบราณของแผ่นเปลือกโลกถูกดึงแยกออกจากกัน


ฝูงสุนัขลากเลื่อนไปบนแผ่นน้ำแข็งที่กำลังละลายจนมีน้ำท่วมนอง

"ร่องรอยทางธรณีวิทยาที่เหลืออยู่ของทะเลสาบโบราณแห่งนี้คือคลังข้อมูลสำคัญ ที่เก็บรักษาเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอดีต ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางในอนาคต สำหรับการปกป้องผืนน้ำแข็งของกรีนแลนด์จากภาวะโลกร้อนได้" ดร. แพ็กซ์แมนกล่าว

อย่างไรก็ดี การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลข้างต้น รวมทั้งเพื่อทราบอายุที่แน่นอนของทะเลสาบ จะต้องใช้การขุดเจาะผืนน้ำแข็งลงไปเก็บตัวอย่างชั้นหินและตะกอนก้นทะเลสาบขึ้นมาวิเคราะห์ ซึ่งนักวิจัยของสหรัฐฯ จะเริ่มการขุดเจาะภายใต้โครงการ GreenDrill ในปีหน้า


https://www.bbc.com/thai/features-54916810

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม