ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 19-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ประมงต่างมุมมองกับ 'มด ? ภควรรณ ตาฬวัฒน์' : เคลียร์ 7 ความเชื่อที่ไม่ค่อยจะใช่ ................ โดย Sirichai Leelertyuth

"บางครั้งเราเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกพูดให้เป็นขาว-ดำ มีคนดี มีผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในชีวิตประจำวันและเราต้องหาวิธีบริหารจัดการ"

"คุณมด" ภควรรณ ตาฬวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านการจัดการประมงอย่างยั่งยืน แชร์มุมมองจากประสบการณ์การทำงานด้านประมงยั่งยืนและขยะทะเล ในองค์กรระหว่างประเทศ ทั้ง Southeast Asian Fisheries Development Center (SEAFDEC), Marine Stewardship Council (MSC), WWF, แพลตฟอร์ม Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST), โครงการด้านขยะทะเลพลาสติกของ World Bank และยังเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านประมงยั่งยืนชื่อ Sea Purpose



จากประสบการณ์ทำงานด้านประมงมาอย่างต่อเนื่อง และอ่านบทความออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาการทำประมง คุณมดพบความเชื่อ 7 เรื่องเกี่ยวกับทะเลที่จะมาเล่าให้เราฟังว่า ในมุมมองของเธอ มีเรื่องไหนที่จริง และเรื่องไหนที่ ?เคย? จริงแต่ตอนนี้อาจไม่ใช่อย่างที่เราเชื่อกันอยู่ตอนนี้แล้ว


ความเชื่อที่ 1: ชาวประมงขนาดเล็กทำประมงอย่างยั่งยืนเสมอ

ร้านขายอาหารทะเลบางแห่งใช้จุดขายว่า สินค้ามาจากชาวประมงขนาดเล็ก โดยขาดรายละเอียดที่มาของสินค้า และเกิดภาพจำว่าชาวประมงขนาดเล็กจับปลาด้วยวิธีที่ยั่งยืนเสมอ คุณมดมองว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการทำประมงขนาดเล็กบริเวณชายฝั่งยังมีโอกาสที่จะจับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย หรือใช้วิธีที่ไม่ยั่งยืน เช่น การระเบิดปลา ได้เช่นกัน ประมงขนาดเล็กจึงไม่ใช่ปัจจัยที่การันตีเรื่องความยั่งยืน แต่ประเด็นที่ควรให้ความสนใจและใส่ใจควบคู่ไปมากกว่า คือ การสร้างกลไกการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่จะช่วยให้รู้ว่าว่าปลาถูกจับมาด้วยเครื่องมือประมงถูกกฎหมาย และมีหลักฐานและรายละเอียดที่มาของสินค้าที่ชัดเจน เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคถึงอาหารของตน


ความเชื่อที่ 2: การทำประมงแบบทำลายล้าง มาจากประมงระดับอุตสาหกรรมเสมอ

ความเชื่อว่าชาวประมงขนาดเล็กทำประมงยั่งยืนเสมอ นำมาสู่ภาพจำฝั่งตรงข้าม ว่าการทำประมงทำลายล้างมาจากระดับอุตสาหกรรมเสมอ จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมประมงมีความหลากหลายทั้งเครื่องมือประมงที่ใช้ และสัตว์น้ำเป้าหมาย การใช้อวนลากจับสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือปั่นไฟล่อ คือตัวอย่างของประมงทำลายล้าง แต่บางกรณี เรือประมงอุตสาหกรรมก็ต้องการเฉพาะสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โตเต็มวัย เพื่อให้ขายได้ราคาดี เช่น ปูที่นำเนื้อกรรเชียงไปขาย ขนาดใหญ่ ก็จะราคาแพง บางชนิดสินค้าจึงเน้นการจับที่ขนาดมากกว่าปริมาณ


ความเชื่อที่ 3: ปลาป่นเป็นสินค้าที่เลวร้ายเสมอ เพราะผลิตจากลูกปลาวัยอ่อนทั้งหมด

ปลาป่นถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น อาหารเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นสินค้าที่ทำลายระบบนิเวศ เพราะใช้ลูกปลาวัยอ่อนที่จับได้จากเรืออวนลาก ซึ่งตัดวงจรการเติบโตของสัตว์น้ำ ความเชื่อนี้เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ปลาป่นยังมาจากเศษปลาจากการผลิตซูริมิ จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ หรือมาจากปลาที่โตเต็มวัยอย่างปลาแป้น ด้วยแรงกดดันจากตลาดรับซื้ออาหารสัตว์และอาหารทะเลในต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์ปลาป่นที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ ตรวจสอบย้อนกลับได้ หรือกระทั่งได้มาตรฐาน เช่น ปลาป่นที่ทำจากเศษปลาทูน่าที่เหลือใช้จากการทำปลากระป๋อง


ความเชื่อที่ 4: การทำประมงเกินขนาด (Overfishing) เกิดจากการทำประมงปริมาณมากเสมอ

คำว่า ประมงเกินขนาด (Overfishing) มักจะถูกใช้อธิบายสถานการณ์การทำประมงแบบที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม จากการจับปลาครั้งละมากๆ คุณมดอธิบายว่า โดยหลักวิชาการแล้ว การทำประมงเกินขนาดนั้น หมายถึง การจับสัตว์น้ำเกินความสามารถในการผลิตของธรรมชาติ ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับความสมดุลของจำนวนประชากรสัตว์น้ำด้วยว่า เมื่อถูกจับไปแล้วธรรมชาติจะสามารถผลิตสัตว์น้ำขึ้นมาทดแทนได้ทันหรือไม่ นอกจากนี้ปริมาณปลาที่จับก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียว เพราะหากเรือประมงไม่กี่ลำออกไปจับลูกปลาวัยอ่อน ก็จะไปตัดวงจรการเติบโตของปลาตามธรรมชาติ ทำให้ไม่มีลูกปลาที่โตมาเป็นปลาตัวใหญ่ ก็ถือเป็นการทำประมงเกินขนาดได้เช่นกัน

จะเห็นว่าขนาดเรือ จำนวนเรือ และปริมาณปลาที่จับ ยังไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้โดยลำพัง ลักษณะบ่งชี้ว่าทะเลบริเวณใดบริเวณหนึ่งกำลังถูกคุกคามจากการทำประมงเกินขนาด ต้องอาศัยการเก็บข้อมูล ประชากรสัตว์น้ำและการทำประมงอย่างต่อเนื่อง เพราะหากปริมาณปลาที่เกิดใหม่สมดุลกับปริมาณปลาที่ถูกจับ ก็ไม่ถือว่าเกิดการทำประมงเกินขนาด


ความเชื่อที่ 5: ประมงเกินขนาด (Overfishing) = ประมงทำลายล้าง (Destructive fishing)

บางครั้งมีการใช้ 2 คำนี้แทนกัน แต่จริง ๆ แล้วไม่เหมือนกัน การทำประมงทำลายล้าง (Destructive fishing) จะเห็นได้จากวิธีทำประมงของเรือแต่ละลำ เช่น การทำประมงที่ทำลายหน้าดิน ปะการัง หรือหญ้าทะเล การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน การระเบิดปลา การจับฉลามเพื่อทำหูฉลาม ในความหมายที่กว้างมากขึ้น อาจจะรวมถึง การจับปลาในพื้นที่วางไข่และแหล่งอนุบาล และการจับสัตว์น้ำอื่นที่ไม่ใช้เป้าหมายได้ในปริมาณมาก แต่ประมงเกินขนาด (Overfishing) คือภาพรวมของปริมาณสัตว์น้ำ ที่จะรู้ได้เมื่อศึกษาคำนวณปริมาณประชากรสัตว์น้ำในทะเล และผลรวมของการทำประมงของเรือหลาย ๆ ลำ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี อาจมีการใช้คำว่า การทำประมงทำลายล้าง ในความหมายที่รวมถึงการทำประมงเกินขนาดที่ไม่สามารถฟื้นคืนปริมาณสัตว์น้ำได้


? Athit Perawongmetha / Greenpeace


ความเชื่อที่ 6: เศษซากแหอวนที่ไม่ใช้แล้ว (Ghost Gear) = ขยะพลาสติกในทะเลเสมอ

เศษซากแหอวนที่ไม่ใช้แล้ว (Ghost Gear) คือเครื่องมือประมงที่สูญหายไปเป็นขยะทะเล และใช้ในความหมายที่ว่า เมื่อหลุดหายไปในทะเลแล้ว ยังคงสามารถจับปลาต่อไปได้อีก บางครั้งมีการใช้คำว่า "ขยะพลาสติกในทะเล" เมื่อพูดถึง Ghost Gear ซึ่งไม่ถูกต้องเสมอไป

ตัวอย่างของเศษอวนที่เป็นขยะพลาสติก แต่ไม่ใช่ Ghost Gear คือ เศษอวนขนาดสัก 5 เซนติเมตร เพราะเล็กจนไม่สามารถจับปลาได้เมื่อหลุดหายไปในทะเล ขณะเดียวกัน ตัวอย่างของ Ghost Gear ที่ไม่ใช่ขยะพลาสติก คือ เศษเครื่องมือประมงที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น เบ็ด ที่หลุดไปในทะเลแล้วมีสัตว์กลืนเข้าไปหรือถูกเกี่ยวจนบาดเจ็บ


ความเชื่อที่ 7: เศษซากแหอวนที่ไม่ใช้แล้ว (Ghost Gear) มาจากเครื่องมือผิดกฎหมายเสมอ

หลายคนเข้าใจว่า Ghost Gear มาจากเครื่องมือประมงผิดกฎหมายเสมอ ความเข้าใจนี้เป็นความจริงแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะ Ghost Gear สามารถเกิดจากการทำประมงทั่วไปในชีวิตประจำวันของชาวประมงเพราะเมื่ออุปกรณ์หมดอายุขัยการใช้งาน ก็มีโอกาสที่จะฉีกขาด จนหลุดหายไปในทะเล และทำอันตรายสัตว์น้ำอื่น ๆ ต้องเข้าใจว่าแม้ว่าจะใช้เครื่องมือประมงถูกกฎหมาย หรือทำประมงในพื้นที่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่หากเครื่องมือประมงนั้นเสื่อมสภาพ หรือสภาพอากาศเลวร้าย ก็สามารถกลายเป็นขยะในท้องทะเลได้


? Justin Hofman / Greenpeace

คุณมดสะท้อนว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ชาวประมงที่ดี ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน จึงต้องมีวิธีบริหารจัดการ เช่น มีนโยบายช่วยชาวประมงรีไซเคิลเครื่องมือประมงก่อนหมดอายุขัย เพราะเครื่องมือเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ชาวประมงอยากใช้งานให้นานที่สุด ยากที่จะเปลี่ยนบ่อย ๆ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องคนเลว แต่อยู่ในการดำเนินชีวิตเรา และต้องบริหารจัดการ

ความเชื่อเหล่านี้สะท้อนอะไรบ้าง ? คุณมดมองว่าการเหมารวมให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีตัวร้ายชัดเจน ไม่เกิดผลดีต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภาพจำแบบคู่ตรงข้าม ว่าชาวประมงขนาดเล็กทำประมงยั่งยืนเสมอ และประมงทำลายล้างมาจากระดับอุตสาหกรรมเสมอ อาจทำให้คนมองข้ามการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหารทะเล

อีกตัวอย่างคือ อาหารทะเลจากฟาร์มเพาะเลี้ยง เช่น ฟาร์มกุ้ง ก็ถูกเหมารวมว่าไม่ดีได้เช่นกัน จากกรณีการทิ้งน้ำเสียสู่ทะเล การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำฟาร์ม และใช้ปลาป่นจากลูกปลาวัยอ่อนเป็นอาหารกุ้ง แต่ทุกวันนี้มีฟาร์มกุ้งในไทยหลายฟาร์มที่ได้มาตรฐานเรื่องความยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น มีการบำบัดน้ำเสียในฟาร์ม ตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหารกุ้งได้ มีการใช้แรงงานในฟาร์มอย่างเป็นธรรม ซึ่งคุณมดมองว่าผู้บริโภคควรหันมาสนับสนุนมาตรฐานเหล่านี้

"สมมติว่ามีฟาร์มเพียง 5-10% ที่ทำฟาร์มอย่างยั่งยืน จะทำอย่างไรให้ขยายเป็น 20%-30% การเหมารวมว่าฟาร์มทั้งหมดไม่ดี มันไม่เปิดโอกาสให้เขาพัฒนา แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นเลือกอาหารทะเลจากฟาร์มที่ดี ตรวจสอบย้อนกลับได้ ความต้องการอาหารทะเลที่ยั่งยืนจะผลักดันให้ฟาร์มเหล่านี้หันมาโปรโมทสินค้าที่ยั่งยืน มีใบรับรองต่างๆ มาแสดงเป็นจุดขาย จาก 5-10% มันก็จะขยายเป็น 20%-30% ได้"

บางคนคิดว่า ไม่ต้องกินอาหารทะเลก็จบปัญหา แต่คุณมดเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังมีมิติอื่น ๆ ที่ต้องมอง เช่น ทำให้เกิดการจ้างงานคนในชุมชนจำนวนมากเพื่อทำงานในอุตสาหกรรม เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลได้ และการทำประมงทั้งขนาดเล็ก หรือระดับอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะมนุษย์ยังต้องพึ่งพาทะเลและมหาสมุทรในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แต่เราต้องมุ่งไปสู่หนทางการทำประมงอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง ควบคู่กับการจัดการระบบนิเวศทางทะเลที่สมดุลและเป็นธรรม เช่น การกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล ก็จะสามารถช่วยให้สัตว์น้ำฟื้นตัวได้ในระยะเวลาที่เร็วขึ้น

"เรากินอาหารทะเลได้ แต่ควรรู้ว่าอาหารทะเลมาจากไหน เพื่อสนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนและไม่ทำลายระบบนิเวศ" คุณมดย้ำทิ้งท้ายถึงความสำคัญของผู้บริโภคต่อการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเล


https://www.greenpeace.org/thailand/...about-fishery/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม