ชื่อกระทู้: โลกร้อน (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #67  
เก่า 21-02-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


"อาเซียน"เดือดขึ้น 4 องศา ไทย-เพื่อนบ้านสาหัส!




ด้วยอากาศร้อนๆหนาวๆ แบบภาวะโลกไร้สมดุลที่บังเอิญเกิดขึ้นพอดิบพอดีในปี 2012 เล่นเอาคนทั่วโลกหวั่นวิตก

กลัวว่าคำทำนายของชนเผ่ามายันโบราณจะกลายเป็นจริงขึ้นมา

ต่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นนำออกมาระบุว่าโลกไม่ได้แตกง่ายๆ อย่างที่คิด

แต่มันก็น่าสงสัยอยู่ไม่ใช่น้อยว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากโลกกลมๆใบนี้ ต้องถึงกาลอวสานจริงๆ?

จากข้อกังขากระหึ่มโลกดังกล่าว ทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร และ "ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์" ได้ไอเดียตอบโจทย์ของคำถามคาใจให้ชัดๆกันไปเลย

วิธีการก็คือ จัดทำแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" (แผนที่ 4 องศาเซลเซียส) แบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ เพื่อแสดงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นบนโลก หากอุณหภูมิเดือดไต่ระดับขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส เกินค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

โดยเน้นเจาะลึกถึงความเปลี่ยนแปลงบนทวีป "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ของเรา

ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตอาหารระดับครัวโลก

นายจอห์น เพียร์สัน หัวหน้าเครือข่ายงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายระหว่างงานเปิดตัว "4 ดีกรี แม็ป" ณ สถานเอกอัครราช ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า

"จากแผนที่นี้ จะเห็นได้ว่ามีวงแหวนหลากสีหลายขนาดล้อมอยู่รอบๆ พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแบ่งแยกปัญหาที่อาจตามมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพม่า กัมพูชา ลาวและเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นสูงสุด ที่ 5 องศาเซลเซียส

"ขณะที่ภาคกลางตอนล่างของไทยเรื่อยไปจนถึงภาคตะวันตกบริเวณอ่าวไทย จะเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส ประเทศมาเลเซียโดยรวมจะอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส อินโดนี เซียและบรูไน จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-6 องศาเซลเซียส ส่วนฟิลิปปินส์จะเฉลี่ย ราว 3 องศาเซลเซียส" เพียร์สันกล่าว

เรียกได้ว่าถ้าเกิดอุณหภูมิสูงขึ้นขนาดนั้นจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูก การประมง แหล่งน้ำและการใช้ชีวิตของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

เพียร์สันระบุว่า เมื่อคลิกดูตาม "ไอคอน" ในแผนที่ สิ่งแรกซึ่งเราจะต้องเจอเลย คือ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน

รวมถึงพายุฤดูร้อน พายุไซโคลนและไต้ฝุ่น ที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

โดยฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกพายุพัดกระหน่ำแบบทั่วถึงทั้งเกาะตลอดปี

แถมด้วยปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" และ "ลานิญ่า" ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของพายุหลงฤดู ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงไปตามสภาพอากาศที่ปรวนแปร ส่งผลให้บางประเทศมีฝนตกชุกและพายุเข้า

ขณะที่อีกประเทศแทบจะไม่มีฝนและร้อนแห้งแล้ง กลายเป็นภาวะน้ำท่วมน้ำขาดแบบไม่รู้จบ

ผลลัพธ์ที่ตามมาติดๆ เมื่ออุณหภูมิโซนอาเซียนพุ่งสูงขึ้น ก็คือข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ

โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิของ "น้ำ" ซึ่งร้อนขึ้น

ประกอบกับความเป็นไปได้ของอุณหภูมิโดยรวมที่จะสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนและปลายฝน ทำให้ผลผลิตแห้งตายและไม่เพียงพอต่อการบริโภค กระทบต่อความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ที่ไม่เพียงบั่นทอนเศรษฐกิจภายใน แต่อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของคนทั่วโลกได้

นั่นยังไม่รวมถึงปัญหาขาดแคลน "ที่ทำกิน" เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มบางส่วนมีโอกาสถูกน้ำท่วมจนมิด

ตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ถ้าดูจาก "แผนที่ 4 องศา" จะพบว่า ในปี 2654 จะกลายสภาพเป็นเมืองบาดาล เพราะถูกน้ำทะเลซึ่งสูงขึ้นราว 65 เซนติเมตร ไหลเข้าท่วมทั่วทั้งกรุงที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร

เช่นเดียวกับชะตากรรมของกรุงมะนิลา จาการ์ตา โฮจิมินห์ซิตี้และชายฝั่งติดทะเลของสิงคโปร์

ขณะที่ผลกระทบด้าน "การประมง" ก็มีปัญหาไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะน้ำทะเล น้ำจืดและน้ำกร่อย ต่างก็มีจุดเดือดและความเป็นกรดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนทำให้สัตว์น้ำและพืช ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลง ส่อเค้าล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นวงกว้าง

กลายเป็นวิกฤตล้มละลายของการประมง ซึ่งยากจะแก้ให้กลับมาเหมือนเดิม!

นอกจากนี้ สุขภาพของมนุษย์ก็จะย่ำแย่ลง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมีผลต่อคุณภาพของอากาศ

โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ จาการ์ตาและมะนิลา ที่มีมลพิษมากอยู่แล้ว จะยิ่งเข้าขั้นอันตรายจนมนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อีก

สภาพอากาศร้อนผิดธรรมชาติ ยังสามารถเป็นต้นเหตุก่อโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งลมแดด ความเครียด ระบบไหลเวียนเลือดบกพร่องและโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ

เนื่องจากความร้อนเอื้อประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ของแมลง ทำให้โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกมีโอกาสแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค

"ดังนั้นหากจะพูดว่าภาวะโลกร้อนขึ้น คือ จุดจบของโลก ส่วนตัวขอบอกเลยว่าเห็นด้วย เพราะผลกระทบของมันสร้างความเดือดร้อนต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกได้ว่าถึงโลกจะไม่แตก แต่ความเป็นจริงมันก็เลวร้ายพอๆ กับความรู้สึกของการตกอยู่ในสภาวะจำยอมและไร้ทางออก

"แต่ผมไม่ได้บอกว่าโลกจะต้องร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียสและทุกประเทศจะลงเอยที่ความแร้นแค้นเหมือนกัน หรือโลกต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" คือการรวบรวมข้อมูลทางสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลง จากการจำลองความน่าจะเป็นทั้ง 34 รูปแบบ แล้วจึงนำทฤษฎีเหล่านี้ไปทดสอบหาผลลัพธ์ถึง 24 ครั้ง จนเราสามารถระบุปัญหาที่คาดว่าจะตามมากับความร้อนเฉลี่ย ที่ 4 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้เห็นผลจากการกระทำของพวกเราทุกๆคน และตระหนักว่ามันถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสียที

"หลายคนถามผมว่าทำไมโลกถึงร้อนขึ้นแต่กลับไม่เย็นลง ทั้งที่เราเคยผ่านช่วงเวลาใน "ยุคน้ำแข็ง" มาแล้ว อย่างที่ผมกล่าวคือข้อมูลของโลกในยุคหลัง แสดงให้เห็นวิถีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่อากาศจะร้อนขึ้นมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่ายุคน้ำแข็งจะไม่มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง ตราบใดที่โลกของเราหมุนรอบตัวเอง รอบดวงอาทิตย์และวัฏจักรของจักรวาลยังวนเวียนอยู่ในลักษณะนี้ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งดิน น้ำ ฟ้าและอากาศ ก็ย่อมไม่สามารถทำนายทายถูกได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เป๊ะๆ

"ผมว่าเราน่าจะกังวลกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้มากกว่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเชื่อทฤษฎีสร้างความแตกตื่นที่เน้นทำให้คนกลัวโดยไม่มีเหตุผล จนกลายเป็นกระแสโลกแตกไร้สาระอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นต้นตอสร้างความแตกแยกของกลุ่มคนที่เห็นด้วยและอีกพวกที่เมินเฉย

"ทั้งที่เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าโลกนี้มันร้อนขึ้นได้อย่างไร เราแค่ต้องเปิดใจและแก้ไข ไม่ใช่รู้แต่ไม่ทำ"

เพียร์สัน เตือนอย่างดุดันว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งตัวเราเองไล่ขึ้นไปถึงระดับรัฐบาลและประชาคมโลก ต้องลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง!

หัวหน้าเครือข่ายงานด้านการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษ ประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวด้วยว่า

ทุกวันนี้เรามีความร่วมมือว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ประเทศที่ยังห่วงอุตสาหกรรมกลัวว่าเศรษฐกิจจะมีผลกระทบก็ยังมีให้เห็นอยู่มาก

จริงๆ แล้วการแก้ไขเรื่องนี้นั้นง่ายที่สุด เพราะเครื่องมือที่เราทุกๆ คน มีอยู่แล้ว คือ "คอมมอนเซนส์" (สามัญสำนึก) ในการพิจารณาเอาเองว่าอะไรคือการเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ อะไรคือการกระทำที่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะโลกร้อน สิ่งไหนดี ไม่ดี เราตอบได้หมด

เหลือแค่ว่าเมื่อไหร่จะลงมือทำอย่างจริงจังเสียที

อยากให้ทุกคนได้ใช้แผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" เพื่อหาคำตอบให้ตัวคุณเองว่าพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับผลกระทบของอุณหภูมิซึ่งจะร้อนขึ้น อีก 4 องศา

ลองไปอ่านดูว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไร

จุดไหนที่มี "ไอคอน" บอกความเสี่ยง ก็ลองคลิกเพื่อศึกษาข้อมูลลิงก์จากเว็บไซต์ของ "ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีคลิปวิดีโอประกอบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มีข้อมูลของโครงการป้องกันและรู้ทันปัญหาโลกร้อน มีผลวิจัยและรายละเอียด แบบเจาะลึก

"ถ้าศึกษาแล้วคิดว่ารับไม่ได้ ก็เปลี่ยนการใช้ชีวิต เริ่มจากสิ่งเล็กๆที่ทำได้ ก่อนจะเดินหน้าช่วยกันเปลี่ยนแปลงระดับโลก แน่นอนว่ามันเป็นโครงการระยะยาว ต้องใช้เวลานานกว่าจะโน้มน้าวคนทั้งโลกได้ อาจจะเป็นสิบๆ ปี หรือเป็นศตวรรษ เราอาจทำสำเร็จ หรือทำไม่ได้เลย แต่การได้ลองเสี่ยงดูสักตั้ง ก็ยังดีกว่าตื่นมาเจอกับวิกฤต แล้วนั่งโทษตัวเองว่าทำไมถึงไม่ทำ" เพียร์สัน อธิบายทิ้งท้าย

สำหรับแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" รับข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตอังกฤษ http:// ukinthailand.fco.gov.uk/en/news/?view= PressR&id=723765782




จาก ........................ ข่าวสด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม