ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #12  
เก่า 19-11-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสมุทรศาสตร์ กับทางแก้คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง สัมภาษณ์ โดย สันต์ชิต ชิตวงศ์



หมายเหตุ - ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูมรสุม โดยเฉพาะช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายฝ่ายพยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยการทำแนวกันคลื่นชั่วคราวด้วยการวางหินขนาด ใหญ่ วางกระสอบทราย ยางล้อรถยนต์ หรือแม้แต่การทำแนวกันคลื่นด้วยหินขนาดใหญ่ลงในทะเล แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ และยิ่งเป็นการขยายพื้นที่การกัดเซาะออกไปอีก ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ วิศวกรทางทะเล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศ จะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว

สถานการณ์คลื่นกัดเซาะชายฝั่งในขณะนี้เป็นอย่างไร

- คลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมีปัญหาคลื่นกัดเซาะบริเวณใด ก็จะยิ่งมีการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะพยายามหยุดยั้งการกัดเซาะ แต่นั่นกลับทำให้มีการกัดเซาะขยายออกไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งที่สมบูรณ์นั้นมีเหลืออยู่น้อยมาก อย่างชายฝั่งใน จ.สงขลา ขณะนี้เหลือสภาพสมบูรณ์ไม่เกิน 10 กิโลเมตรเท่านั้น หลายปีที่ผ่านมาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำชายฝั่งมากยิ่งขึ้น โดยที่ภาครัฐไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชายฝั่งจึงทำให้มีปัญหา เกิดขึ้นต่อเนื่อง

จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

- ต้องเกิดการเรียนรู้ก่อน ที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกทาง ทุกฝ่ายต่างมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นซัดถล่ม คลื่นลมแรง ซัดเข้าทำลายชายฝั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมนั้นยังคงพัดเข้าชายฝั่งในระดับปกติ แต่ที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นเพราะโครงสร้างของชายฝั่งถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการก่อ สร้างรุกล้ำลำน้ำกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากจะแก้ปัญหาก็ยิ่งก่อสร้างลงไปทั้งในทะเลและชายฝั่ง ยิ่งทำให้การกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้จึงต้องหยุดก่อสร้างเสียก่อน แล้วย้อนกลับมามองปัญหาคืออะไร สภาพชายฝั่งเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีอย่างไร ต้องยอมรับว่าสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดคือปัญหาเสียก่อน จึงจะตั้งต้นหาวิธีแก้ได้

ชายหาดของภาคใต้ฝั่งตะวันออกขณะนี้เสียหายระดับไหน

- เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผมได้เก็บรวบรวมภาพถ่ายสถานที่จริงในจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สุราษฎร์ธานี จนถึง นราธิวาส พบความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ละปีคลื่นกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น จากเดิมที่กัดเซาะเฉพาะชายฝั่ง ก็มาถึงแนวชายหาด ต้นไม้ริมหาด บ้านเรือนริมทะเล ถึงถนนเลียบชายฝั่ง รุนแรงขึ้นทุกปี ทางวิศวกรรมศาสตร์ จึงมองว่าชายหาดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว หากเป็นคนก็เปรียบเสมือนผู้ป่วย ที่นอนรอวันสิ้นใจในห้องไอซียู ชายหาดเป็นทรัพยากรธรรมชาติทรงคุณค่า ไม่สามารถประเมินความเสียหายเป็นเม็ดเงินได้ ดังนั้น นอกจากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่คอยดูแลชายหาดแล้ว รัฐบาลเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับชายหาด ไม่น้อยไปกว่าปะการัง และป่าชายเลน

หลังจากนี้ชายหาดจะมีสภาพอย่างไร

- อนาคตก็คงจะไม่มีชายหาดสวยงามให้ลูกหลาน คงเหลือเพียงสภาพแนวกันคลื่น กระสอบทราย หินขนาดใหญ่ ตามแต่มนุษย์จะสรรหามากระทำกับชายหาด ควรให้ความสำคัญกับชายหาดมากกว่าที่เป็นอยู่ ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รู้จักรักชายหาด รู้ถึงคุณค่าและประโยชน์มากกว่าเป็นที่สวยงาม เดินเล่น และอยู่ริมทะเลเท่านั้น ควรจะบันทึกลงในวิชาการเรียนการสอน เรื่อง ระบบนิเวศชายหาด เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมประมง สร้างเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น

จะให้ชายหาดฟื้นคืนได้อย่างไร

- สิ่งที่พยายามนำเสนอ คือการทำกิจกรรมที่ไม่มีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการสร้างจิตสำนึกคุณค่าของชายหาดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน ให้ความรู้ประชาชนตามแนวชายฝั่ง กำหนดให้ชายฝั่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เร่งประเมินโครงการเขื่อนริมทะเลเพื่อหามาตรการฟื้นฟูที่เหมาะสม ประเมินความเสียหายที่ผ่านมาและเยียวยาแก่ผู้เสียหายโดยเร่งด่วน เลือกใช้มาตรการฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา เช่น การถ่ายเททราย การเติมทรายให้ชายฝั่ง รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว หรือที่ไม่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ออก ส่งเสริมกระบวนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยั่งยืน กำหนดเขตพื้นที่ชายฝั่ง การเวนคืน และห้ามการขุดทรายออกจากชายฝั่งไม่ว่ากรณีใดๆ



จาก : มติชน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม