ดูแบบคำตอบเดียว
  #24  
เก่า 31-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


หิมะตกในประเทศเวียดนามกับอากาศหนาวในประเทศไทย ............................... สุพจน์ เอี้ยงกุญชร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้



ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย (กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม) ตามปกติจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส แต่ช่วงระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2554 (ย่างเข้ากลางฤดูร้อนแล้ว) อุณหภูมิอากาศทั้งของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้ลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส

โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เกือบทุกจังหวัด และหนาวเย็นตลอดทั้งวัน (ยิ่งกว่าฤดูหนาว) เพราะมีเมฆเต็มท้องฟ้าในหลายพื้นที่

ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันได้เกิดหิมะตกทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้คนที่ได้รับฟังข่าวสารเป็นอันมาก

อันที่จริงการที่มีหิมะตกในประเทศเวียดนามและพม่านั้นไม่อาจถือเป็นเรื่องแปลกอย่างใด เพราะพื้นที่ตอนเหนือของประเทศทั้งสองสามารถเกิดหิมะตกได้ทุกปีในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัด

แต่ที่แปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่งก็คือ หิมะที่ตกในประเทศพม่านั้น ตกหนักกว่าที่เคยตกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และหิมะที่ตกในประเทศเวียดนามในช่วงนี้นั้น เป็นเรื่องประหลาดที่มาตกในช่วงฤดูร้อน (เช่นเดียวกับเมื่อครั้งหิมะตกที่ประเทศออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรเกิดหิมะตกเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับประเทศไทยคงจะไม่เกิดหิมะตกเหมือนประเทศเวียดนามและพม่า แม้ว่าอากาศจะหนาวจัดสักเพียงใด และในประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีหิมะตกในประเทศไทยมาก่อนเลย แม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัดถึง 0 องศาเซลเซียส หรือถึงขั้นติดลบก็ตาม

ที่เคยปรากฏก็เป็นเพียงแค่ลูกเห็บตกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนไหนของประเทศไทยที่มีเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้

สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้นั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก ต้องมีเมฆผลึกน้ำแข็ง (Ice-crystal cloud) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของผลึกหิมะ ประการที่สอง เมฆนั้นต้องอยู่ต่ำใกล้ชิดกับพื้นดินในระยะห่างไม่เกิน 300 เมตร (โดยประมาณ) และประการที่สาม อุณหภูมิอากาศเหนือพื้นดินต้องต่ำเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส หรือติดลบ ซึ่งพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศทั้งสองอยู่ที่ละติจูด (Latitude) ค่อนข้างสูง (ประมาณ 20-30ํN) จึงมีอากาศหนาวเย็นเป็นปกติและมีอุณหภูมิเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงมีพื้นดินอยู่ใกล้เมฆชั้นสูงที่เป็นเมฆผนึกน้ำแข็งมากขึ้น

พื้นที่ส่วนนี้จึงมีโอกาสที่จะมีหิมะตกได้ตามเงื่อนไขดังกล่าวเสมอ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น โอกาสที่จะได้เห็นหิมะตกแทบจะไม่มีเลย เพราะประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ที่ละติจูดต่ำกว่า 20ํN อุณหภูมิอากาศตามปกติแทบไม่เคยเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส แม้ในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งเมฆที่เห็นลอยอยู่บนท้องฟ้าก็ล้วนเป็นเมฆละอองน้ำ (Water-droplet cloud) ซึ่งไม่ใช่เมฆที่ให้กำเนิดหิมะ

พื้นที่ที่พอจะมีความเป็นไปได้ที่หิมะจะตกบ้าง (ซึ่งก็มีโอกาสน้อยมากๆ จนอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีโอกาสเลย) ก็คงเป็นพื้นที่บนยอดเขาสูงใน จ.เชียงใหม่ อันได้แก่ ดอยอินทนนท์และดอยอ่างขาง เท่านั้น เพราะอุณหภูมิของอากาศที่นั่นเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว และพื้นที่เหล่านั้นอยู่ใกล้เมฆชั้นสูงที่เป็นเมฆผลึกน้ำแข็งมากกว่าพื้นที่ราบด้วย

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เคยปรากฏว่าจะมีหิมะตกในพื้นที่ดังกล่าวเลย แม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิอากาศเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ก็ตาม อย่างเก่งก็เกิดแค่น้ำค้างแข็ง (Frost) ให้ได้ตื่นเต้นกันบ้างเท่านั้น

ทุกวันนี้สภาพอากาศมีความผันแปรมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ นักวิชาการและนักอุตุนิยมวิทยาต่างก็พยายามค้นหาคำตอบกันอยู่ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดที่จะพิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น การคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานๆ จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างสูงในเรื่องความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับผู้คนทั่วไปที่ติดตามสภาพอากาศที่จะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง

ความเห็นใดๆ ที่ขาดหลักการหรือขาดข้อมูลที่ชัดเจนย่อมเชื่อถือไม่ได้

แต่ดูเหมือนคนไทยมักจะตื่นเต้นและให้ความสนใจกันแต่เรื่องที่หวือหวาสุดโต่ง เช่น น้ำจะท่วมถึงนครสวรรค์ สึนามิจะเข้าอ่าวไทย และหิมะจะตกที่กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยไม่ได้สนใจถึงข้อมูลและหลักการที่เป็นจริง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ทีแรกก็ตื่นไปกับความเห็นของนักวิชาการบางรายที่คาดว่าสึนามิจะมาถึงชายฝั่งอ่าวไทยตอนตีสี่ตีห้า ต่อมาก็เกรงจะได้รับกัมมันตภาพรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งๆที่ยังไม่มีคำเตือนใดๆจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงแต่ประการใด

ถึงตรงนี้จึงหวังว่า บทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านผู้ที่รอคอยให้หิมะตกในประเทศไทยหันมาไตร่ตรองและตรวจสอบความเห็นของนักวิชาการบางราย รวมทั้งข้อมูลข่าวสารจาก E-mail และข้อความสั้นจาก SMS ว่า มีอะไรที่ควรเชื่อและอะไรที่ไม่ควรเชื่อ มีอะไรที่เป็นไปได้บ้างและอะไรที่เป็นไปไม่ได้เลย



จาก ...................... มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม