ดูแบบคำตอบเดียว
  #24  
เก่า 23-05-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,355
Default


Mission Gunship (2) ....................... โดย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



หย่อนลงไป ลงไปอีก โอเค ! ผมร้องบอกลูกศิษย์ผู้ยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือเพื่อปล่อยสายวัดลงมา แม้มีตัวเลขคร่าวๆ ว่าเรือหลวงสัตกูดและเรือหลวงปราบยาวเกือบ 49 เมตร กว้างเกือบ 8 เมตร แต่ผมอยากรู้ความสูงของเรือในแต่ละชั้นเพื่อคำนวณหาความลึกของน้ำในจุดวางเรือ โอกาสดังกล่าวเป็นไปไม่ได้หากเรือลอยอยู่ในน้ำ แต่เป็นไปได้แน่นอนเมื่อเรืออยู่บนแท่นในอู่แห้งขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมได้ตัวเลขดาดฟ้าชั้นบนและหอบังคับการที่ความสูง 6-10 เมตรจากพื้นท้องเรือ หากเรานำเรือลำนี้วางลงที่ความลึกไม่เกิน 25 เมตร (จาก Chart Datum หรือระดับน้ำลงต่ำสุด) หอบังคับการและบางส่วนของดาดฟ้าจะอยู่ในขอบเขตที่นักดำน้ำแบบ Open Water สามารถลงมาได้ (18 เมตร) สำหรับนักดำน้ำแบบ Advance ที่ดำได้ลึก 30 เมตร ย่อมมีสิทธิไปเที่ยวทั่วลำเรือ และถ้าผ่านหลักสูตร Wreck Dive หรือการดำน้ำในเรือจม นักดำน้ำอาจตระเวนเข้าไปในลำเรือที่พวกเราช่วยกันขบคิดเค้นสมองในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการดำน้ำ

ห้องนี้เอาไงครับอาจารย์ ลูกศิษย์ผู้เคยเป็นผู้จัดการเรือทัวร์ดำน้ำมาแล้วสิบห้าปีตั้งคำถามเช่นนี้ ผมแยกเขี้ยวอยากจะตอบไปว่าคิดเองสิวุ้ย เราพาคนลงไปดำน้ำมาตั้งเป็นหมื่นครั้งแล้วยังต้องถาม แต่เรื่องไอเดียบรรเจิดลูกศิษย์คงมิอาจหักล้างอาจารย์ ผมปิ๊งว่าหากเราปิดทางเข้าแต่เปิดช่องด้านนอกไว้พอให้นักดำน้ำมองผ่านช่องหน้าต่างกลมดิก พอส่องไฟฉายว่อบแว่บเข้ามาคงให้อารมณ์พิลึก ยิ่งมีปลาว่ายไปมาเป็นเงาวูบวาบยิ่งเร้าใจใฝ่ฝัน

ตรงนี้ปิดครับ ผมขอให้ทีมงานจากอู่ช่วยกันติดเหล็กเส้นกันคนลงไปส่วนล่างสุดของเรือ เพราะตามหลักของการดำน้ำในเรือควรมีทางออกสองทาง ไม่ใช่เข้าแล้วไปอัดกันเป็นปลากระป๋องอยู่ที่ความกดดันเกือบสี่บรรยากาศ ผมเคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นแล้วและไม่หวังอยากเจออีก นี่ไม่ใช่การสร้างฉากภาพยนตร์สยองขวัญ แต่เป็นเรือจริงที่นักดำน้ำควรมีความปลอดภัยในการเข้าชมตามระดับความสามารถของตน

เจ้าหน้าที่จากปตท.สผ. แจ้งว่า เราได้ปืนมาแล้วค่ะ เป็นป้อมปืนดั้งเดิมที่ถูกถอดออกไป แต่นี่คือ Mission Gunship มีแต่เรือไม่มีปืนแล้วจะเป็นเรือปืนได้ไงหนอ เราจึงประสานงานกับกองทัพเรือจนได้รับความกรุณามอบป้อมปืนกลับมาให้เรือทั้งสองลำ แต่ละลำจะมีทั้งป้อมหัวและป้อมท้าย มีป้ายทองเหลืองเล็กๆ แปะไว้ว่าปืนกระบอกนี้สร้างมาตั้งแต่ค.ศ.1949 มีเก้าอี้ขนาบสองข้างสำหรับพลปืนคอยนั่งเล็งนั่งหมุนปืนเสร็จสรรพ ผมเชื่อว่าป้อมปืนจะเป็นจุดเด่นประจำเรือ ใครดำน้ำลงมาคงว่ายเข้าไปแอ็คท่าให้ถ่ายภาพอยู่ข้างป้อม สำหรับของอื่นๆ ผมขอให้ทางอู่ถอดเก็บไว้ ทั้งกรอบหน้าต่างทองเหลือง ตราครุฑ หรือใดๆก็ตามที่ดูแล้วเหมือนของที่ระลึก เราจะนำไปใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่จะจัดทำขึ้นที่เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี และหาดทรายรี ชุมพร แต่ถ้าคุณอยากเห็นเร็วหน่อย ปตท.สผ.ร่วมมือกับคณะผู้จัดงาน Thailand Diving EXpo เปิดบู๊ทส์ในงาน TDEX ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ ในงานยังมีบู๊ทส์ต่างๆเกี่ยวกับการดำน้ำ กีฬากอล์ฟ และการท่องเที่ยวผจญภัยที่ไม่น่าพลาดครับ

การปรับปรุงเรือดำเนินต่อไปแบบไม่ค่อยน่ากังวล แต่ที่เหนื่อยแน่คือการนำเรือลงในจุดที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ผมกับทีมงานเกือบยี่สิบคนจึงมุ่งหน้าไปเกาะเต่าและหมู่เกาะง่าม เพื่อกำหนดพิกัดให้แน่นอน รวมถึงการสำรวจวิจัยที่แทบขนอุปกรณ์ไปหมดภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ แต่อันดับแรกก่อนการสำรวจ ผมต้องหาจุดลงเรือให้สำเร็จ

ทิ้งทุ่นนนน... ! ผมตะโกนใส่ไมค์เกิดเสียงดังลั่นสนั่นทั่วลำเรือ ระหว่างลูกศิษย์โยนปี๊บใส่ซีเมนต์ผูกมัดกันเป็นพวงลงสู่พื้นทะเลเพื่อเป็นหมายแรก หลังจากวนเรือใหญ่และเรือเล็กมาหลายรอบ เราได้ข้อมูลความลึกของน้ำว่าอยู่ในระดับ 25 เมตรจาก Chart Datum เป็นจุดที่อยู่ห่างจากแนวปะการังเกาะเต่ามากกว่าหนึ่งกิโลเมตร ยังห่างจาก “หินขาว” อันเป็นแหล่งดำน้ำและที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ในบริเวณนั้น ออกมาทางใต้ไม่ต่ำกว่า 300 เมตร อันเป็นเส้นตายของระยะห่างจากเรือและระบบนิเวศที่สำคัญ ผมยังลองตรวจสอบกระแสน้ำจนมั่นใจว่าน่าจะไหลจากแนวปะการังมายังเรือ กระแสน้ำเช่นนี้จะช่วยพาตัวอ่อนสัตว์เกาะติดมาที่เรือ อีกทั้งยังไม่ก่อปัญหาหากนักดำน้ำลงไปแถวเรือแล้วทำให้ตะกอนฟุ้งกระจาย เพราะน้ำจะช่วยพาตะกอนออกไปสู่ทะเลเปิด

เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆที่ต้องคิดถึงมากเหลือเกิน เรือของเราจึงวิ่งวนเวียนอยู่หน้าเกาะเต่าสองสามชั่วโมงก่อนผมจะได้หมายที่ชอบ แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่ม ผมส่งทีมป๋า 1 อันประกอบด้วยลูกศิษย์ผู้เป็นครูสอนดำน้ำกว่าสิบปีลงสู่พื้นท้องทะเล ทั้งคู่หายไปราวห้านาที ไม่มีสัญญาณที่ตกลงกันล่วงหน้าว่า หากทีมสำรวจลงไปเจอพื้นทะเลมีระบบนิเวศสำคัญ เจอปะการังอ่อน ปะการังดำ หรือกัลปังหา ให้ปล่อยทุ่นลอยขึ้นมา ทีมอื่นจะได้ไม่ต้องลงไปให้เปลืองคน (ระดับความลึกที่พื้นเกือบ 30 เมตร นักดำน้ำอยู่ได้ไม่ถึง 20 นาที เสร็จแล้วต้องพักนาน ผมจึงต้องทยอยส่งทีมลงน้ำเพื่อประหยัดคน)

ทีมป๋า 2 พุ่งตามลงไป ทั้งหมดจะช่วยกันสำรวจแบบ Target & Radial สร้างแผนที่ใต้น้ำในรูปแบบคล้ายเป้ายิงปืน พวกทีมป๋าจะว่ายน้ำลากเส้นสำรวจออกไปทั้งสี่ทิศ ระยะทางร่วมร้อยเมตร เพื่อตรวจสอบความลึก ลักษณะพื้นและดินตะกอน ตลอดจนสัตว์ที่พบอย่างคร่าวๆ ขณะที่ทีมไม่ป๋าอันประกอบด้วยนักวิจัยที่เป็นลูกศิษย์ของผมรุ่นปัจจุบันจะโดดตามไปเพื่อสำรวจป็นวงกลม รัศมีตั้งแต่ 60 เมตรเรื่อยมาจนถึงทุ่น เว้นระยะห่างทีละ 10 เมตร ข้อมูลที่ได้จะช่วยยืนยันว่าพื้นบริเวณนี้เรียบหรือลาดชันต่ำ ไม่มีสัตว์หายากหรือระบบนิเวศสำคัญ ว่าง่ายๆ คือเรือจะลงไปอยู่บนพื้นทะเลที่เกือบจะว่างเปล่า (มีปลากระเบนกับปลาลิ้นหมาที่สามารถว่ายน้ำหนีเรือที่กำลังจมลงมาได้ สัตว์บนพื้นทั้งหมดคือดอกไม้ทะเลท่อสามสี่กอ)

บนเรือมีงานทำอีกเยอะ พวกเราช่วยกันลากแพลงก์ตอนเพื่อดูตัวอ่อนสัตว์น้ำ เก็บดินตะกอนเก็บน้ำตามระดับความลึกต่างๆ วิเคราะห์หาคุณภาพน้ำ ฯลฯ ระหว่างที่ทีมดำน้ำทยอยขึ้นมาจนครบ ทุกคนมีความเห็นตรงกัน ที่นี่น่าจะเป็นจุดเหมาะสม แต่ที่สงสัยคือเมื่อนำเรือลงไปแล้วจะมีสัตว์ใดมาอาศัยบ้าง มิใช่มีแต่เพรียงเต็มลำ พวกเราจึงไปสำรวจหินขาวอันเป็นแนวปะการังอ้างอิง พบทั้งปะการังดำ กัลปังหา ฟองน้ำครกขนาดใหญ่ และฝูงปลามากมาย หมายความว่าแถวนี้เป็นที่ลงเกาะของตัวอ่อนสัตว์น้ำหลากหลาย เมื่อเรานำเรือลงไปสู่พื้นทะเล ทิ้งไว้ไม่นานย่อมมีทั้งสัตว์เกาะติดทั้งปลามาอยู่เพียบ ตรงตามเจตนาที่เราอยากสร้างแหล่งที่อยู่ให้สัตว์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งดำน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจในอนาคตอันใกล้

เรากลับมาที่จุดวางเรืออีกที มีงานต้องทำต่อ ทั้งการวางทุ่นสมอทรายที่จะอยู่ถาวรมากกว่าทุ่นปี๊บ ตรวจสอบร่องรอยการทำประมงว่าเราจะไปรบกวนชาวบ้านหรือไม่ (คำตอบคือไม่) ทิ้งเครื่องตรวจสอบสภาพแวดล้อมในระยะยาวและการติดตามสัตว์เกาะติดและปลา ทิ้งเครื่องวัดอัตราตกตะกอนในบริเวณต่างๆ เพื่อดูว่าเรือจะไปขัดขวางกระแสน้ำทำให้เกิดการตกตะกอนและพื้นท้องทะเลเปลี่ยนสภาพหรือเปล่า ? ต้องขอบคุณ ปตท.สผ. ที่กรุณาสนับสนุนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่างเต็มที่ พวกเราจึงมีโอกาสทำทุกงานตามเกณฑ์ที่วางไว้

เวลาผ่านไปแทบไม่รู้ตัว เงยหน้าอีกทีตะวันกำลังจะตกลับทะเลเกาะเต่า ผมต้องรีบไปประชุมแล้วครับ การนำเรือสัตกูดไปที่เกาะเต่าเป็นโครงการของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม เราจึงไปประชุมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนเกาะเต่า ผมอธิบายวิธีการและแนวคิดในการเลือกจุดวางเรือ ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้มา เพื่อให้ที่ประชุมตัดสินใจ หลายท่านกรุณาให้ความคิดดีๆมากมายครับ ก่อนลงความเห็นว่าจุดนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด ถือเป็นข้อสรุปจากทั้งตัวแทนชาวบ้าน อบต. ท่านกำนัน ตลอดจนผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชมรมรักษ์เกาะเต่า ทุกคนตื่นเต้นเมื่อทราบว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน อันเป็นวันคล้ายวันที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะเต่า เราถือเอาวันนั้นเป็นวันมหาฤกษ์ในการนำเรือสัตกูดมาอยู่คู่เกาะเต่าตลอดไป

ก่อนอำลาเกาะเต่า ผมพาทีมงานไปสำรวจจุดดำน้ำต่างๆรอบเกาะเพื่อดูสภาพแหล่งดำน้ำและปริมาณนักดำน้ำในบริเวณนี้ ผลคือเกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวดำน้ำหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของไทยและของโลกก็ว่าได้ แนวปะการังบางแห่งมีคนลงน้ำนับร้อยในแต่ละชั่วโมง เกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะฉะนั้น ผมมั่นใจว่าหากนำเรือสัตกูดมาที่นี่ จะมีนักดำน้ำหลายคนย้ายมาดำน้ำที่เรือ ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังธรรมชาติ อีกทั้งยังกลายเป็นเอกลักษณ์แห่งใหม่ที่ใครต่อใครน่าจะบอกต่อ

Mission Gunship ใกล้ถึงเวลาดำเนินการ สัปดาห์หน้าผมจะพาพวกเราไปร่วมระทึกกับการนำเรือหลวงปราบลงสู่ใต้ทะเลชุมพรครับ




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม