ชื่อกระทู้: 'หญ้าทะเล'
ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 13-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default 'หญ้าทะเล'


ปลูกต้นไม้ใต้น้ำก็สำคัญ 'หญ้าทะเล' เพื่อนิเวศ-เพื่อ 'พะยูน'



ขณะที่บนบกมีการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก เพื่อฟื้นฟูสภาพนิเวศ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ชายทะเลหรือในทะเลก็สามารถจะ-ควรจะปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ปลูกหญ้า เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสภาพนิเวศที่ดีเช่นกัน ซึ่งก็คือการปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆที่เป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลน และรวมถึงการปลูก “หญ้าทะเล”

ในทะเลก็มีหญ้า...และควรจะต้องมีอย่างมากพอ

“หญ้าทะเล” ในทะเลไทยร่อยหรอ...จึงต้องปลูก

ทั้งนี้ “ปลูกหญ้าทะเล คืนธรรมชาติ สู่ท้องทะเลไทย” นี่เป็นกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกิจกรรมหนึ่งที่ทางการไฟฟ้านครหลวงได้สนับสนุน-ดำเนินการ โดยล่าสุดจัดทำเป็นปีที่ 2

“ปลูกเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์หญ้าทะเล ให้ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำนานาชนิดบริเวณเกาะค้างคาว ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง โดยดำเนินการร่วมกับข้าราชการ นักเรียน ประชาชนในพื้นที่” รองผู้ว่า การการไฟฟ้านครหลวง รณชิต รัตนารามิก ระบุไว้

พร้อมทั้งบอกไว้ด้วยว่า...การปลูกหญ้าทะเลครั้งแรกประสบผลสำเร็จด้วยดี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหญ้าทะเลบริเวณเกาะค้างคาว มีอัตราการรอดตายและเติบโตเพิ่มสูงขึ้น โดยการสำรวจเดือน ต.ค. 2552 เหลือรอดถึง 35% รวมทั้งมีสัตว์น้ำกลับมาใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และวางไข่ อย่างหนาแน่น

ที่สำคัญคือ “หญ้าทะเล” ยังเป็นอาหารของ “พะยูน”

หญ้าในทะเลจึงมีคุณค่ามิใช่แค่หญ้าที่ไร้ความสำคัญ !!

สำหรับ “พะยูน” หรือ “หมูน้ำ” “หมูดุด” “ดุหยง” เป็นสัตว์สงวนชนิดหนึ่งตาม พ.ร.บ.สัตว์สงวน พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์สงวนชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น รูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ มีครีบลักษะคล้ายใบพาย ครีบอกมีเล็บขนาดเล็กๆ ซึ่งวิวัฒนาการมาจากขาหน้าใช้สำหรับพยุงตัวและขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีใบหู ตามีขนาดเล็ก ริมฝีปากมีเส้นขนอยู่โดยรอบ

ว่ากันว่า...“พะยูน” คือต้นตอเรื่องราวของ “นางเงือก” โดยนักเดินเรือในยุคอดีตเห็นแม่พะยูนให้นมลูกโดยกอดอยู่กับอกและตั้งฉากกับท้องทะเล ซึ่งในระยะไกลๆจะดูคล้ายผู้หญิงอยู่ในน้ำ

“จากการสำรวจพบว่าจำนวนพะยูนในฝั่งทะเลอันดามันมีประมาณ 200 ตัว ซึ่งที่ จ.ตรัง เป็นแหล่งใหญ่ของพะยูน มีพะยูนอาศัยอยู่ประมาณ 150 ตัว หรือ 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด” ...รณชิตระบุ และจุดนี้นี่เองที่ทำให้ทางการไฟฟ้านครหลวงเลือกที่จะทำกิจกิจกรรม ปลูกหญ้าทะเล คืนธรรมชาติ สู่ท้องทะเลไทย ที่ตรัง

ข้อมูลของโครงการรักษ์พะยูน กรมป่าไม้ ระบุไว้ว่า... พะยูนส่วนใหญ่จะชอบอาศัยรวมกันอยู่เป็นฝูงตามชายฝั่งทะเล โดย เฉพาะบริเวณปากแม่น้ำที่มีแหล่ง “หญ้าทะเล” ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน เมื่อน้ำขึ้นพะยูนจะรวมกลุ่มกันเข้ามากินหญ้าทะเลที่ขึ้นเป็นแนวอยู่บริเวณน้ำตื้น จนกระทั่งน้ำเริ่มลงพะยูนก็จะกลับไปหลบอาศัยอยู่บริเวณร่องน้ำที่อยู่ใกล้เคียง และรอที่จะกลับเข้ามาใหม่เมื่อน้ำขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาคือ...สถานะของ “พะยูน” ในประเทศไทยในปัจจุบัน ถือว่า “อยู่ในภาวะวิกฤติ” เนื่องจาก “ถูกคุกคามอย่างหนักจากมนุษย์” ทั้งในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร !!

กล่าวสำหรับอาหารของพะยูน คือ “หญ้าทะเล” นั้น ข้อมูล จากหนังสือสถานภาพแหล่งทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเลพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง ระบุไว้ว่า... ในทะเลไทยมีกว่า 10 ชนิด เช่น... หญ้าชะเงา, หญ้าชะเงาเต่า, หญ้าใบพาย, หญ้าใบมะกรูด, หญ้าใบมะกรูดขน, หญ้าใบมะกรูดแคระ, หญ้าชะเงาฝอย, หญ้าชะเงาใบแคบ, หญ้าชะเงาสั้นปลายแหลม, หญ้าตะกอนน้ำเค็ม, หญ้า ใบสน และ หญ้าชะเงาสั้นปลายมน ที่พบแพร่กระจายเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนหญ้าทะเลที่พะยูนชอบกินคือ หญ้าใบมะขาม

ทั้งนี้ ทางโครงการรักษ์พะยูนได้ทำการศึกษาพะยูนในเขต จ.ตรัง และพบว่าทะเลแถบนี้เป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีหญ้าทะเลถึง 9 ชนิด ขึ้นรวมกันเป็นพื้นที่หลาย สิบตารางกิโลเมตร จุดนี้ก็ย่อมจะตอบโจทย์ว่าทำไมพะยูนจึงมีอยู่มากที่สุดในทะเลเขต จ.ตรัง ดังที่รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงระบุ

อย่างไรก็ตาม เพราะกิจกรรมรูปแบบต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะจากการทำประมง ท่องเที่ยวทางทะเล ฯลฯ ทำให้ “หญ้าทะเล” ซึ่งเป็นทั้งอาหารสำคัญของสัตว์สงวนสำคัญอย่าง “พะยูน” เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาศัย เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งหลบภัย แหล่งอาหาร ที่มีความสมบูรณ์ไม่แพ้ระบบนิเวศแนวปะการัง ระบบนิเวศป่าชายเลน ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยลดการพังทลายของดิน ต้องลดน้อยลงไป ซึ่งเมื่อหญ้าทะเล “ลดปริมาณลงมาก” ก็เป็นเรื่อง ที่น่าห่วง

ยังดีที่ปัจจุบันในไทยตื่นตัวเรื่อง “หญ้าทะเล” แล้ว

มีกระแสอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลและมีการ “ปลูก”

ระบบนิเวศหญ้าทะเลในทะเลไทย...ก็น่าจะดีขึ้น !!!.



จาก : เดลินิวส์ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม