ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 19-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ตื่นตา! ปลาตีนนับพันตัวรวมกลุ่มหากินตามแนวป่าชายเลน ระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์

กระบี่ - พบปลาตีนสีสันสวยงามนับพันตัว กลับมาอาศัยรวมกลุ่มกันหากินตามแนวป่าชายเลนบ้านอ่าวน้ำ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ คาดช่วงระบาดโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล ทำให้ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง



วันนี้ (18 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบฝูงปลาตีน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ปลาลาฉะ" จำนวนมากอาศัยตลอดแนวป่าชายเลน ระยะทางกว่า 100 เมตร ที่บ้านอ่าวน้ำ ม.2 ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โดยฝูงปลาตีนดังกล่าว มีลักษณะแตกต่างกับปลาตีนที่อาศัยบริเวณป่าชายเลนริมเขื่อนปากน้ำหน้าเมืองกระบี่ โดยปลาตีนที่อ่าวน้ำจะมีลายจุดสีสันสดใส ความยาวประมาณ 5-10 ซม. ตามตัวไม่เปื้อนคราบโคลน หรือคราบน้ำมัน เหมือนปลาตีนทั่วไป รวมกลุ่มกันหากินริมป่าชายเลนและไม่พบว่ามีการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขตกัน ใช้ครีบคู่หน้าคลานไปมา บางตัวกระโดดไปมา ปีนขึ้นไปเกาะตามรากโกงกางดูเพลิดเพลินตา บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสวิด-19

นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ขณะที่ตนได้เดินสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ บริเวณแนวป่าโกงกางบ้านอ่าวน้ำ ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก พบว่ามีฝูงปลาตีนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ที่แปลกคือ บริเวณดังกล่าวไม่มีโคลน มีน้ำใส ทำให้มองเห็นสีสันของตัวปลาชัดเจน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้พบเห็นได้ยาก จึงได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก สามารถเข้าใกล้ได้ โดยปลาตีนไม่มีท่าทีตื่นกลัวแต่อย่างใด

นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วปลาตีน หรือปลาลาฉะ ที่พบส่วนใหญ่ เช่น ที่ป่าชายเลนริมเขื่อนหน้าเมืองกระบี่ จะอาศัยตามดินโคลนสีดำ ตัวเปื้อนโคลนมอมแมม และมักจะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอาณาเขต เข้าถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่ได้ มันจะหนีทันที แต่ปลาตีนอ่าวน้ำ อยู่ในจุดที่มีน้ำใส ไม่มีโคลน มองเห็นสีสันสวยงาม มีฟันคู่หน้า 2 ซี่ ตาโตกว่า และที่สำคัญสามารถเข้าไปถ่ายภาพระยะใกล้ได้ โดยที่มันไม่ตื่นกลัว คาดว่าช่วง วิกฤตโควิด-19 ไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล ส่งผลให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ปลาตีนออกมาหากินจำนวนมาก และสามารถพัฒนาให้บริเวณเป็นแหล่งอนุรักษ์ปลาตีนสวยงาม และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในอนาคต


https://mgronline.com/south/detail/9630000051816


*********************************************************************************************************************************************************


ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานีเดินหน้ารื้อคอกหอยแครงผิดกฎหมาย ย้ำต้องหมดภายใน 25 พ.ค.นี้

สุราษฎร์ธานี - ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานีเดินหน้ารื้อคอกหอยผิดกฎหมาย หลังจากเปิดยุทธการกดดันให้ผู้ประกอบการรื้อถอน แต่กลุ่มทุนยังเพิกเฉยเย้ยอำนาจรัฐ จี้ต้องรื้อถอนแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้



เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (18 พ.ค.) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี นำกำลังเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ประมงจังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ศรชล.) กอ.รมน. ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 45 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด.417 อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมผู้นำชุมชนและชาวบ้านกว่า 200 นาย พร้อมเรือตรวจการณ์และเรือหางยาวกว่า 100 ลำ

เข้ารื้อถอนหลักไม้ไผ่และสิ่งปลูกสร้างที่กลุ่มทุนได้มีการลักลอบบุกรุกครอบครองพื้นที่อนุรักษ์ตลอดแนวชายฝั่งท้องทะเลเขต 1,000 เมตร ในพื้นที่ตำบลคลองฉนาก ตำบลบางชนะ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ที่มีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร หรือประมาณ 2,000 ไร่ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

สำหรับการลงพื้นที่วันนี้ ปรากฏว่า ทางผู้ประกอบการได้โต้แย้งและอุทธรณ์ขอให้ดำเนินการวัดกำหนดจุดแนวเขต 1,000 เมตรให้ชัดเจนเพื่อกำหนดเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน ทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านและกลุ่มผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงหอยแครง โดยทุกฝ่ายได้มีมติร่วมกันที่จะวัดแนวเขตให้ชัดเจน

โดยทางนายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประมง เจ้าท่า กอ.รมน. เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน เข้าวัดแนวเขตจากชายฝั่งออกมาในทะเล 1,000 เมตรพร้อมปักเสาให้ชัดเจน หากคอกหอยผู้ใดรุกล้ำอยู่ในแนวเขต 1,000 เมตร จะต้องรื้อออกทันที เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านได้มีที่ทำกินถาวรต่อไป



สำหรับพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งในระยะ 1,000 เมตร ของอ่าวบ้านดอน เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์มีลูกหอยแครงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละปีมักจะมีกลุ่มนายทุน กลุ่มผู้ทรงอิทธิพล กลุ่มคนมีสี และกลุ่มผู้นำชุมชนต่างๆ บุกรุกเข้ามาครอบครองเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังครอบครองลูกหอยที่เกิดใหม่ โดยดำเนินการปักไม้ไผ่จัดทำเป็นแนวเขตแล้ว และห้ามผู้ใดขับเรือผ่านหรือเข้าไปทำการประมงในแนวเขต ก็จะถูกกลุ่มบุคคลออกมาขับไล่และขู่ทำร้ายหากไม่ออกจากพื้นที่

จนมีการร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำ ซึ่งในครั้งนี้นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีนโยบายที่ชัดเจนสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตรให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดพร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่จัดเวรยามเฝ้าระวังป้องกันมิให้มีบุกรุกอีกต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9630000051819


*********************************************************************************************************************************************************


มลพิษอากาศในจีนพุ่งสูงเป็นครั้งแรกนับจากเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว


กลุ่มเมืองที่มลพิษอากาศเลวร้ายที่สุดในเดือนเม.ย.คือ เมืองฉังชุน ฮาร์บิน และเสิ่นหยัง ขณะที่ค่า PM2.5 ของกลุ่มเมืองที่มักมีหมอกมลพิษหนาแน่นอย่างปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย กลับลดลง ในภาพพระราชวังต้องห้ามแห่งกรุงปักกิ่งในวันที่หมอกปกคลุมหนา (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลหน่วยงานรัฐของจีน ว่าค่าดัชนีมลพิษอากาศในจีนขยับสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ชี้เหตุเพราะการกลับมาเคลื่อนไหวกิจกรรมเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สงบลง

กระทรวงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแห่งจีนแถลงเผย(18 พ.ค.) ระบุความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือ PM2.5 ในเมืองต่างๆทั่วประเทศจีน 337 เมือง สูงขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนเม.ย. มาอยู่ที่ 33 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตรโดยเฉลี่ย ถือเป็นระดับสูงขึ้นครั้งแรกในปีนี้นับจากที่ค่า PM2.5 ในจีนทะยานสูง 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา

ข้อมูลทางการจีนยังเผยว่า ความเข้มข้นของก๊าซโอโซนในระดับผิวดิน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ยังสูงขึ้นในเดือนเดียวกัน

สำหรับเมืองที่มลพิษอากาศเลวร้ายที่สุดในเดือนเม.ย.คือ เมืองฉังชุน ฮาร์บิน และเสิ่นหยัง ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจีน

ขณะที่ ค่า PM2.5 ของกลุ่มเมืองที่มักเกิดหมอกมลพิษหนาแน่นอย่างปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย กลับลดลง 1 ใน 4 มาอยู่ที่ 39 ไมโครกรัมในเดือนเม.ย. แม้ว่ากลุ่มโรงงานจะเปิดทำการแล้วก็ตาม PM2.5 ในเขตนี้ได้ลดลง 35.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้

หลิว ปิงเจียง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลด้านมลพิษอากาศประจำกระทรวงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการกลับมาของกิจกรรมอุตสาหกรรมอาจทำให้มลพิษสูงขึ้นในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้อากาศแย่ลงในเดือนเม.ย.

หลิวชี้ว่าการเผาฟางข้าวในมณฑลทางภาคอิสานจีน ได้แก่ จี๋หลิน เฮยหลงเจียง และเหลียวหนิง มีมากขึ้น 8 เท่า เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซ้ำเติมด้วยพายุทรายจนทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงในบางพื้นที่

ช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ ค่า PM2.5 ในเขต 337 เมืองของจีน ลดลง 12.5 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ การปิดโรงงาน และจำกัดการคมนาคม ทำให้การแพร่กระจายความร้อนลดฮวบลงโดยเฉพาะช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.

"มลพิษอากาศลดฮวบลงมากระหว่างล็อกดาวน์ประเทศในเดือนก.พ. และและลงต่ำถึงขีดสุดในช่วงต้นเดือนมี.ค." ศูนย์การวิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (Centre for Research on Energy and Clean Air ชื่อย่อ CREA) ในเฮลซิงกิ แถลงเมื่อวันจันทร์(18 พ.ค.)

"การกลับมาของมลพิษอากาศบ่งชี้ถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียวและพลังงานสะอาดขณะที่โลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19" CREA แถลง


https://mgronline.com/china/detail/9630000051865

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม