ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 18-03-2020
แมลงปอ แมลงปอ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 698
Default

?ศาสตร์พระราชา? เห็นผลช้า แต่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ทีมข่าวยังได้พูดคุยกับ ?นู-นพรัตน์ เด่นสอยดาว? ชายชาวปกาเกอะญอวัย 37 ปี ชาวบ้านแจ่มหลวง ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เกษตรกรตัวอย่างที่เชื่อมั่นในการนำศาสตร์พระราชามาใช้กับพื้นที่ของตนเอง เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ เป็นพื้นที่ตัวอย่างและมีชาวบ้านใกล้เคียงเริ่มสนใจทำตาม



?ก่อนจะกลับมาจุดนี้ เป็นมนุษย์เงินเดือน สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ก็มีความความคิดว่าอยากกลับมาอยู่บ้าน อยากจะทำวิถีพอเพียง ถึงแม้ไม่มีเงินเก็บ อย่างน้อยหนี้สินก็ไม่ต้องเยอะ พอมีพอกินไปวันๆ สามารถหมุนจ่ายได้ก็พอแล้ว

พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นเกษตรกรเชิงเดี่ยว ปลูกกะหล่ำปลี ฟักทองญี่ปุ่นมา 4-5 ปี รู้สึกว่าต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่มีเวลาออกไปข้างนอก ต้องใช้แรงตลอด ถ้าเราไม่ออกแรงก็ไม่ได้เงิน จึงมีความคิดว่าอยากจะทำเกษตรแบบผสมผสานแบบปลอดภัยไม่ใช้สารเคมีแล้วก็พอเพียง

เมื่อเรียนจบใหม่ๆ นพรัตน์ได้เข้าไปทำงานด้านสัตวบาล ทำคลอดวัว ผสมเทียม ฉีดยารักษาสัตว์กับบริษัทเอกชนที่ลำปางอยู่ 3 ปี เมื่อมาถึงจุดอิ่มตัวกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน จึงตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ประกอบกับมีคนชักชวนให้เปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ผ่านการอบรมตามหลักสูตรอย่างเข้มข้น ณ ดอยผาส้มเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน

?พี่เดชา (เดชา ศิริภัทร หนึ่งในผู้ริเริ่มแนวทางเกษตรอินทรีย์ ในอ.กัลยาณิวัฒนา) เขาแนะนำว่าไปอบรมศาสตร์พระราชาไหม ตอนแรกไม่ยอมเปิดใจ มีแต่บอกว่าไม่มีเวลา ที่จริงเวลาของเรามันเท่ากัน แต่ว่าเราใช้ไม่เหมือนกัน ก็เลยปฏิเสธไป 2 ครั้ง เพราะไม่อยากไปคนเดียว แกชวนครั้งที่ 3 ว่าให้ไปปรับเปลี่ยนชีวิตด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจไป



ตามศาสตร์พระราชา มีการแบ่งเป็นสัดส่วน 30:30:30:10 ที่ไหนพอจะเบิกนาได้ก็เบิก ที่ไหนพอจะขุดสระเก็บน้ำเพื่อที่จะไปเลี้ยงตรงนี้ได้ก็ทำ ที่ไหนพอจะทำพืชการเกษตรได้ พืชผักก็กันไว้อีกโซนหนึ่ง เราจะไม่ใช้พื้นที่เบียดเบียนธรรมชาติ เราต้องสร้างความร่มเย็นไว้ด้วย คือสร้างป่า จุดนี้มันเป็นที่สูง เวลาน้ำมา อย่างคลองไส้ไก่ จะให้น้ำไหล ต้นไม้ก็จะได้เจริญงอกงามเติบโตตามธรรมชาติ เราจะได้อากาศบริสุทธิ์ อย่างพริก มะเขือ เราต้องใช้ในครัว มันมีที่นี่หมด เราไม่ต้องซื้อ มันไม่มีอะไรจ่ายแล้ว พอมีพอกินแค่นี้พอ อยากกินปลาก็ไปเอาในบ่อ?

หลังจากผ่านการอบรม เขาพบว่าที่ผ่านมาการทำเกษตรของตัวเองนั้นไม่ใช่หนทางแห่งความยั่งยืน จึงเลิกใช้สารเคมีมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว ควบคู่กับการกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องตัดหญ้า และกำจัดแมลงด้วยการใช้น้ำหมัก

?ปกติอย่างมะม่วงฉีดไล่แมลงเขาใช้สารเคมี แต่เราใช้น้ำส้มควันไม้ เราใช้น้ำหมักที่เราไปอบรมมาใช้กำจัดแมลง 2-3 วันพ่นทีมันจะเหนื่อยหน่อย ก็ปลูกดอกไม้กำจัดแมลง เพื่อที่จะล่อแมลงด้วย คือใช้ธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเคมีพ่นทีเดียวคุมได้เป็นเดือน มันง่ายก็จริง แต่เราไม่อยากทำร้ายตัวเองและผลผลิตที่ออกมา เราไม่อยากให้คนที่บริโภคกินสารเคมี พ่อค้าเขาก็บอกว่าคนข้างล่างเขาไม่สนใจหรอก ใส่เคมีมันก็กินหมด ซึ่งมันแทงใจเรา อุตส่าห์ผลิตของดีๆ ถ้าไม่ซื้อผมก็ไม่ง้อ?

นอกจากนี้ เกษตรกรชาวปกาเกอะญอรายนี้ ยังย้ำอีกว่าไม่อยากใช้สารเคมี และอยากปลูกพืชผสมผสานเพื่อเป็นการวางรากฐานให้กับบั้นปลายชีวิต และต้องการทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นต้นแบบของ อำเภอกัลยาณิวัฒนา

?อยากใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมา ใช้ชีวิตในเมือง ตั้งแต่กลับมาอยู่บ้าน ไม่อยากเข้าไปในเมืองแล้ว มันวุ่นวาย เวลาเข้าไปในเมืองเชียงใหม่แต่ละครั้ง รถก็ติด เหมือนมีแต่การแข่งขัน มันเหมือนชั่วโมงเร่งด่วน ไปเจอไฟแดง ไฟเขียว ต้องรีบทำ จะไปซื้อของก็ต้องแข่งกับเวลา เราอยู่แบบพอเพียงดีกว่า แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะเอาเปรียบธรรมชาติจนเกินไป จะหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพาธรรมชาติ ธรรมชาติก็พึ่งพาเรา ต่างคนต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

เราก็ใช้อินทรีย์ เราได้กินของดี เผื่อคนปลายทางจะได้กินบ้าง ไม่รู้จะถึงหรือไม่ถึง เพราะว่าของมันมีน้อย แต่ว่าอย่างน้อยเราไม่ได้ใช้สารเคมี หรือสารพิษลงในน้ำ เส้นทางน้ำที่เราใช้จะไหลลงแม่แจ่มสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าเราใช้สารเคมีคนข้างล่างก็จะโดนเต็มๆ บางครั้งคนข้างล่างคิดว่า คนภาคเหนือ เวลาเจอน้ำท่วม เพราะว่าคนบนดอยทำลายป่า แต่ว่าคนกัลยาฯ อยากจะให้คนข้างล่างรับรู้ว่า คนกัลยาฯ พื้นที่กัลยาฯ เป็นคนรักษาผืนป่าผืนนี้ไว้

ผมมักจะใช้คำดูถูกเป็นแรงบันดาลใจ เห็นคนอื่นทำสำเร็จดูเหมือนมันจะง่ายครับ แต่พอลงมือจริงๆ ไม่ง่าย ยิ่งล้มเหลวมีคนเคยซ้ำเติม บางคนอาจจะจ้องซ้ำเติม บางคนก็ให้กำลังใจ ต้องเดินหน้าแล้วไม่อยากถอย ลองสู้ให้ถึงที่สุด?



?โคก หนอง นา โมเดล? นับว่าเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่เป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี แม้ฟังดูอาจจะทำได้ยาก แต่หากลองเปิดใจ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ มาเป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืนแทน

เชื่อเหลือเกินว่า ปัญหาไฟป่า น้ำแล้ง หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM2.5 จะค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไปจากพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ ที่ทำแนวทางนี้ไปปฏิบัติอย่างแน่นอน

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
[/COLOR]
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม